เปิดกรุ เจดีย์วัดศรีสุพรรณ ‘กรมศิลป์’ พาย้อนไทม์ไลน์ก่อนถล่ม เร่งบันทึกลงจดหมายเหตุ  

เปิดกรุ เจดีย์วัดศรีสุพรรณ ‘กรมศิลป์’ พาย้อนไทม์ไลน์ก่อนถล่ม เร่งบันทึกลงจดหมายเหตุ  

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่าที่อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ เจดีย์ วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ถล่มลงมานั้น ทางกรมศิลปากรมีแนวทางการอนุรักษ์และแผนปฎิบัติงานฟื้นฟู โดยมีการเรียงลำดับเหตุการณ์ ดังนี้  วันที่ 26 กันยายน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รับการประสานจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ว่าพบรอยแตกร้าวโดยรอบผนังเจดีย์ที่วัดศรีสุพรรณ ต่อมาวันที่ 27 กันยายน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจโดยพบว่า มีรอยแตกร้าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการพังทลายลงมาโยเฉพาะส่วนฐานชั้นล่าง จึงประสานเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นการด่วนเพื่อปิดกั้นพื้นที่โดยรอบและแจ้งกับทางวัดให้ประกาศพื้นที่โดยรอบเจดีย์เป็นพื้นที่อันตรายห้ามเข้า พร้อมทั้งให้หยุดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และตรวจพบว่ารอยร้าวที่องค์เจดีย์เพิ่มขึ้น/ขยายกว้างมากขึ้น ในวันต่อมา จึงวางแผนเสริมความมั่นคงฉุกเฉิน

วันที่ 29 กันยายน เวลา 14.00-16.00 น. ตรวจพบว่ารอยแตกร้าวขยายตัวเพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะพังทลายลงมาได้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถเสริมความมั่นคงต่อไปได้จึงขยายพื้นที่ป้องกันอันตรายให้กว้างกว่าเดิมโดยทำการวิเคราะห์ทิศทางที่คาดว่าจะพังทลายลง ต่อมาเวลาประมาณ  17.15 น. เจดีย์ได้พังทลายลงมาในทิศทางที่คาดการณ์ไว้และไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย

วันที่ 30 กันยายน สำนักศิลปากรที่ 7 ทำการสำรวจเก็บข้อมูลขององค์เจดีย์หลังการพังทลาย ดำเนินการรวบรวมศิลปวัตถุ/โบราณวัตถุที่พบเบื้องต้น (เก็บกู้, จัดเก็บ, จัดทำทะเบียน, ตรวจสอบ, คัดแยก) โดยส่งมอบให้วัดเก็บรักษา และจัดทำค้ำยันเพื่อกำหนดทิศทางการพังทลายขององค์เจดีย์ที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันอันตราย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

-วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พบว่าชิ้นส่วนองค์เจดีย์ยังคงมีการหลุด พัง ร่วงหล่นลงมา เนื่องจากมีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน จึงต้องหยุดการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องไว้เป็นการชั่วคราวก่อน

Advertisement

จากการตรวจสอบสภาพของเจดีย์วัดศรีสุพรรณที่พังทลายลงมา พบว่า

1.ไม่มีโครงสร้างความมั่นคง เจดีย์สีทองที่พังทลายลงมานี้เป็นการก่อสร้างใหม่โดยวัดและศรัทธาเมื่อ ปีมาแล้ว ในครั้งนั้นมีการก่ออิฐ เสริมปูนซีเมนต์หุ้มทับซากเจดีย์สมัยโบราณไว้ภายในโดยไม่มีการเสริมโครงสร้างความมั่นคง

2.น้ำหนักกดทับ การก่ออิฐใหม่หุ้มไว้นั้นเป็นการเพิ่มน้ำหนักไปกดทับซากโบราณสถานที่อยู่ด้าน เมื่อน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการเสริมโครงสร้างความมั่นคงด้วยนั้น

Advertisement

3.รอยร้าว วัชพืช น้ำฝนและความชื้น เมื่อผ่านกาลเวลามาหลายสิบปีจึงเกิดรอยร้าวขนาดเล็กทำให้วัชพืชสามารถเจริญเติบโตจนรากของวัชพืชนั้นชอนไชเข้าไปภายในได้  ต่อมารอยร้าวขยายตัวจนทำให้น้ำฝนไหลซึมเข้าไปภายในและไม่สามารถระบายออกได้เนื่องจากทาสีทอง (สีน้ำมัน) เคลือบองค์เจดีย์ไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ ความชื้นจากใต้ดินไม่สามารถระเหยขึ้นบนผิวดินได้ตามปกติเนื่องจากพื้นที่โดยรอบเจดีย์เป็นคอนกรีตและแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ปัจจัยทั้งหมดนี้คือสาเหตุสำคัญที่เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างไม่สามารถคงอยู่ได้จึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

แผนการปฏิบิตงานฉุกเฉิน ณ ห้วงเวลานี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีส่วนฐานของเจดีย์ที่ยังคงอยู่ การปฏิบัติงานฉุกเฉินในช่วงนี้ตั้งแต่วันที่ 2-9 ตุลาคมจึงเป็นเฝ้าระวังในพื้นที่โดยนักโบราณคดี ของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และวัดศรีสุพรรณที่มีเสริมมาตรการความปลอดภัยต่อทั้งอันตรายจากโครงสร้างที่เหลืออยู่และการลักลอบค้นหาศิลปวัตถุ/โบราณวัตถุจึงทำการสร้างรั้วตาข่ายเหล็กล้อมรอบพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ในระยะที่ผ่านมาตั้งแต่เจดีย์ถล่มพัง สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ และกลุ่มโบราณคดี ได้เข้าดำเนินงานเก็บกู้หลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในพื้นที่ โดยการจัดทำทะเบียน ข้อมูลรูปพรรณวัตถุทุกรายการ (โดยขณะนี้วัตถุทุกรายการจัดเก็บไว้ที่วัดศรีสุพรรณ) โดยหลังสภาพอากาศเอื้ออำนวย กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะเข้าไปสำรวจเก็บข้อมูลด้านต่างๆของโบราณสถาน (รูปแบบศิลปะ วัสดุ และกำหนดแผนงานขุดค้นทางโบราณคดีเจดีย์วัดศรีสุพรรณ เพื่อให้ทราบรูปแบบดั้งเดิม เทคนิค วิธีการสร้างเจดีย์ รวมถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการของพื้นที่)

สรุปผลการดำเนินการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ดังนี้

-ศิลปวัตถุที่พบมีรูปแบบที่หลากหลาย (พระพุทธรูป อ่างดินเผา หินเขี้ยวหนุมาน) ที่มีอายุในสมัยปัจจุบัน จำนวน 42 ชิ้น ทำการถ่ายภาพและทำทะเบียนแล้ว

-สถูปจำลอง จำนวน 1 องค์ (ส่วนยอดหายไป ยังหาไม่พบ)

-หินกลมมนสีต่างๆ จำนวน 83 ก้อน (อาจเป็นพระธาตุ)

แผนงานบูรณาการของกรมศิลปากร ดำเนินการมอบหมายงานโดยบูรณาการบุคลากรจากวิชาชีพต่างๆ คือ

  1. ด้านประวัติศาสตร์ เป็นการสืบค้นประวัติศาสตร์และรูปแบบเจดีย์ผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ จารึก ภาพถ่ายเก่า ซึ่งจะดำเนินการโดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติเชียงใหม่ (ทั้งนี้ในประเด็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างโชคดีที่มีนักวิชาการอิสระและภาคประชาสังคมที่มีความสนใจงานประวัติศาสตร์ ได้สืบค้นและนำเสนอภาพถ่ายเก่า ประวัติ เกี่ยวกับวัดศรีสุพรรณไว้พอสมควร)
  2. ด้านวิศวกรรม กรมศิลปากรได้มอบหมายให้วิศวกร จากสำนักสถาปัตยกรรมเข้าประเมินความมั่นคงทางวิศวกรรมของโครงสร้างเจดีย์
  3. ด้านโบราณวัตถุ กรมศิลปากรได้ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เข้าจัดทำทะเบียนข้อมูลรูปพรรณวัตถุทุกรายการ และมอบกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เข้าทำการอนุรักษ์โบราณวัตถุ
  4. ด้านโบราณคดี ได้กำหนดแผนงานขุดค้นทางโบราณคดีเจดีย์วัดศรีสุพรรณ เพื่อให้ทราบรูปแบบดั้งเดิม เทคนิค วิธีการสร้างเจดีย์ รวมถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการของพื้นที่ทั้งก่อนการเกิดขึ้นของเจดีย์ และความเปลี่ยนแปลงของเจดีย์ในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านการศึกษาชั้นดินทับถม พัฒนาการรูปแบบและวัสดุการสร้าง และโบราณวัตถุที่พบในชั้นดินหรือบริเวณต่างๆ ของเจดีย์

แผนปฏิบัติงานเร่งด่วน

  1. แผนปฎิบัติงานโบราณคดี ณ เจดีย์วัดศรีสุพรรณ เพื่อศึกษาหลักฐานดั้งเดิมในสมัยแรกสร้าง (ล้านนา) อายุสมัยที่ชัดเจนและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของพื้นที่นี้ ทั้งก่อนการเกิดขึ้นของเจดีย์ และความเปลี่ยนแปลงของเจดีย์ในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านการศึกษาชั้นดินทับถม พัฒนาการรูปแบบและวัสดุการสร้าง และโบราณวัตถุที่พบในชั้นดินหรือบริเวณต่างๆ ของเจดีย์ โดยการ

– คัดแยกอิฐ โดยแยกอิฐของเจดีย์องค์เดิมเพื่อศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏบนอิฐ (ตัวอักษร/ลายประทับ) และคัดแยกอิฐที่มีสภาพสมบูรณ์เพื่อเตรียมการบูรณะฟื้นคืนในอนาคต

– ขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อศึกษารูปแบบดั้งเดิม เทคนิค วิธีการสร้างเจดีย์ รวมถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการของพื้นที่ทั้งก่อนการเกิดขึ้นของเจดีย์ และความเปลี่ยนแปลงของเจดีย์ในช่วงเวลาต่างๆ

  1. แผนปฏิบัติงานศึกษารูปแบบเจดีย์ในสมัยแรกสร้าง (ล้านนา)

ในระยะดำเนินการจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี ทั้งจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่

  1. แผนปฏิบัติงานบันทึกเหตุการณ์สำคัญ

จัดทำจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์การดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูเจดีย์วัดศรีสุพรรณ โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถ เชียงใหม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image