ใบไม้ผลิในปีเถาะ พลิกปฏิทิน สืบราก มองแผนชีวิต ตรุษจีน66

ตรุษจีน เทศกาลแห่งการเริ่มต้นที่เปี่ยมด้วยความสุขและสดใสของชาวไทยเชื้อสายจีน

ปีนี้เข้าสู่นักษัตร เถาะž สัญลักษณ์คือกระต่าย พุทธศักราช 2566 คริสต์ศักราช 2023

การเฉลิมฉลองคึกคักหลังจีนเปิดประเทศ เช่นเดียวกับทั่วโลกที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็น และควรจะเป็น

พลิกปฏิทิน หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปในอดีต ไม่เพียงการเฉลิมฉลองของภาคประชาชนและระดับรัฐ ทว่า ประเพณีตรุษจีนยังปรากฏในราชสำนักสยามอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

(เลี้ยงพระ) ตรุษจีนในราชสำนักสยาม
หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

ในราชสำนักมีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นส่วนหนึ่งของ พระราชพิธีสิบสองเดือนž ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายว่า สาเหตุเกิดจากการที่ชาวจีนนำหมู เห็ด เป็ด ไก่ และขนมต่างๆ มาถวายรัชกาลที่ 3 ในเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมาก จึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์มาฉัน ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย 3 วัน วันละ 30 รูป โดยไม่มีการสวดมนต์

Advertisement

นอกจากนั้นยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์จัด ขนมจีนž มาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้ง 3 วัน หลังจากพระฉันแล้วเลี้ยงข้าราชการ และทรงจ่ายเงินซื้อปลาปล่อยวันละ 10 ตำลึง

อย่างไรก็ตาม ขนมจีนไม่ได้เป็นอาหารจีน เสฐียรโกเศศสันนิษฐานจากชื่อว่าน่าจะเป็นของมอญ ขนม แปลว่า แป้งเส้น หรือเส้นหมี่ จีน แปลว่า ต้มสุก ขนมจีนคือแป้งต้มสุก กระบวนการทำและรสชาติมีเค้ามอญมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทนขนมจีน และทรงปรับปรุงการพระราชพิธีบางส่วน เช่น ทรงสร้างศาลาหลังคาเก๋งขึ้นหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย พร้อมกับมีเทวรูปตั้งบูชา มีเครื่องเซ่นสังเวยตลอด 3 วัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้กลับไปเลี้ยงขนมจีนตามแบบเก่า นอกจากนี้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐียังได้จัดโต๊ะจีนมาเลี้ยงถวายเจ้านายอีกด้วย

เปลี่ยนนักษัตร ข้ามปีเก่าสู่ปีใหม่ เทศกาลใหญ่ชาวจีนทุกหมู่เหล่า

ตัดภาพมายังการเฉลิมฉลองตรุษจีนในปัจจุบัน ผศ.ถาวร สิกขโกศล นักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณคดีและวัฒนธรรมจีนอันดับต้นๆ ของไทย อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญและคึกคักที่สุดของชาวจีนทุกหมู่เหล่า โดยในจีนถือเป็นเทศกาลใหญ่กินเวลายาวนานเกือบ 1 เดือน ประกอบด้วยเทศกาลย่อยต่อเนื่องกันหลายเทศกาล มีคำเรียกเป็นภาษาจีนแตกต่างกันตามยุคสมัยหลายคำ แต่ที่สำคัญและบ่งบอกความเป็นมาของเทศกาลนี้มี 3 คำ ได้แก่ หยวนตั้น แปลว่า วันแรกในรอบปี หรือปฐมวาร, ชุนเจี๋ย หรือตรุษวสันต์ และ กั้วเหนียน หรือกวยนี้ ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ผ่านปี ข้ามปีเก่าสู่ปีใหม่

เทศกาลหลักของตรุษจีนคือวันสิ้นปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ ปัจจุบันในจีนยังแยกตรุษจีนออกเป็น 2 เทศกาล วันสิ้นปี เรียก ฉูซี่ ตัดปีในคืนสุดท้าย วันขึ้นปีใหม่เรียก ชุนเจี๋ย เทศกาลวสันต์ หรือหยวนตั้น ปฐมวาร ความจริงตัววันตรุษจีนคือวันสิ้นปี ซึ่งก็คือวันไหว้ใหญ่ของตรุษจีนเมืองไทย เพราะตรุษ แปลว่า ตัด คือตัดปี หรือสิ้นปี เช่น ตรุษไทยคือแรม 15 ค่ำ สิ้นเดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นปีใหม่ เปลี่ยนนักษัตรŽ

สำหรับประเพณีในเทศกาลนี้นอกจากส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์ เก็บกวาดทำความสะอาดประจำปี แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือการเซ่นไหว้ ซึ่งในอดีตไม่มีของขายสำเร็จรูปมากมายเหมือนปัจจุบัน จึงต้องเตรียมการเนิ่นๆ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่คึกคักมาก

“กิจกรรมสำคัญในวันสิ้นปีเก่าคือ ไหว้เจ้าและบรรพชน ส่วนใหญ่ไหว้ตอนเช้าตรู่ ของไหว้สำคัญคือ ซาแซ สัตว์ 3 อย่าง หรือโหงวแซ สัตว์ 5 อย่าง ชา เหล้า ข้าวสวย กับข้าว ผลไม้ และก้วย กอ เปี้ย ของกินทำจากธัญพืช เพื่อแสดงความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันใช้ขนมแทนได้ การไหว้บรรพชนใช้ของเหมือนไหว้เจ้า เพราะบรรพชนมีฐานะเป็นพระเทพบิดรของวงศ์ตระกูล ของไหว้บรรพชนวันนี้จะขาดซาแซและเหล้าไม่ได้”Ž ผศ.ถาวรระบุ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ถาวรยืนยันว่า หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย หรือเป็นช่วงเวลาที่ข้าวของขึ้นราคา ก็ลดทอน ปรับเปลี่ยนได้ เพราะประเพณีไม่ตายตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ศรัทธาž และความตั้งใจ ดังนั้น แม้แต่ ไข่ฟองเดียวž ก็ไหว้ได้ โดยถือเป็นสัญลักษณ์แทนไก่ 1 ตัว

”สมัยก่อนการไหว้เขาก็เอาของที่ปลูก ที่เลี้ยงไว้มาไหว้กัน มีอะไรก็ไหว้อย่างนั้น แต่ถ้ามีโอกาสก็คัดของดีที่สุดเท่าที่มี และชื่อเป็นมงคล เสียงพ้องกับคำที่เป็นสิริมงคลเท่านั้นเอง เดิมมีไม่กี่อย่าง เช่น ไก่ คือสัญลักษณ์ของความขยันทำมาหากิน เป็ด มาทีหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่ออุดมสมบูรณ์ขึ้นจึงเกิดความนิยมไหว้ให้ครบ ทั้งสัตว์ 4 เท้า คือหมู สัตว์ปีก คือไก่ หรือเป็ด และสัตว์มีเกล็ด คือปลาŽ”

ส่วน ขนมž ที่ใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีนมีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่มีชื่อเรียกร่วมกันว่า เหนียนเกาž แปลว่า ขนมประจำปีž ขนมไหว้ตรุษจีนในไทยที่เห็นคุ้นตา แน่นอนว่าคือ ขนมเข่งž ซึ่งถือเป็นเหนียนเกาชนิดหนึ่ง

เหนียนเกาทุกถิ่นมีลักษณะร่วมกันคือ ทำด้วยแป้งที่ได้จากข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง ขนมเข่งในไทยมาจากเหนียนเกาของจีนตอนใต้ แต่เปลี่ยนวัสดุห่อเป็นใบตองเพราะหาง่าย (ในจีนใต้นึ่งในถาดใหญ่ ใช้ไหว้ทั้งถาด เวลากินจะตัดแบ่ง) เมื่อใช้ใบตอง จึงต้องทำเล็กลงเป็นกระทง ถ้าเป็นกระทงใบตองแห้งจะอ่อนย้วยไปมา ต้องใช้เข่งเล็กๆ รองด้านนอก จึงเรียกขนมเข่งŽ

นอกจากนี้ ขนมอีกหนึ่งอย่างที่ได้รับความนิยมคือ ขนมเทียนž นำมาไหว้ด้วย โดยมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขนมที่คนไทยสร้างสรรค์ขึ้นมาเองจากการดัดแปลงสูตรของขนมเข่ง โดยใช้แป้งข้าวเหนียวกวน ใส่ไส้ถั่วบด ปรุงรสเค็มมัน ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ความว่า

รสรักยักลำนำ ประดิษฐ์ทำขนมเทียน

คำนึงนิ้วนางเจียน เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลมž

เช้า สาย บ่าย เซ่นไหว้
ขอบคุณž คือหลักใหญ่

สำหรับประเด็นความเหมือนและต่างระหว่างตรุษจีนของชาวจีนในประเทศจีน และตรุษจีนในเมืองไทย ผศ.ถาวรให้ข้อมูลว่า แตกต่างกันไม่มากนัก เทศกาลตรุษจีนในไทยส่วนใหญ่เป็นไปตามคตินิยมของจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม มีความ รวบรัดž กว่าที่ทำกันในเมืองจีนมาก ช่วงเทศกาลมี 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า วันเที่ยว มีลูกหลานจีนบางกลุ่มยังไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์อันเป็นกิจกรรมแรกสุดของเทศกาลตรุษจีนด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่าตรุษจีนเป็นเทศกาลที่แพร่หลายมาก แม้แต่คนไทยผู้ไม่มีเชื้อสายจีนบางส่วนก็ร่วมเฉลิมฉลอง รวมถึงเซ่นไหว้ และขอพรตามศาลเจ้าจีนต่างๆ อย่างไรก็ตาม รากเหง้าอันจริงแท้ของการเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมจีนคือการ ขอบคุณž เป็นหลักใหญ่

คนจีนไหว้เพื่อขอบคุณ จึงไหว้ตอนสิ้นปี เพราะการทำมาหากินได้ผลอุดมสมบูรณ์มา เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ขอบคุณฟ้าดิน ธรรมชาติ บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้เพื่อขอความคุ้มครองให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข การทำมาหากินในปีต่อไปราบรื่นดี เน้นเรื่องความขยันของตัวเอง ไม่ใช่การขอ หรือบนบานให้ได้สิ่งต่างๆŽ

เดิมการไหว้ตรุษจีนในเมืองไทยมีการไหว้ 3 เวลา

เช้า ไหว้เจ้า แสดงความเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สาย ไหว้บรรพชน แสดงถึงความกตัญญูและรักวงศ์ตระกูล

บ่าย ไหว้ผีไม่มีญาติ แสดงความเมตตาต่อผู้ยากไร้และรักผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังการไหว้ผีไม่มีญาติในช่วงบ่ายลดน้อยถอยลง ในขณะที่เกิดกระแสนิยมไหว้ ไฉ่ชิ้งž เทพแห่งทรัพย์สินตอน 5 ทุ่มอย่างแพร่หลาย

 

คนจีนเตรียมพร้อมเสมอž ถือเคล็ด-ข้อห้าม  คิดการณ์ไกลž ไม่ใช่งมงาย

ถัดจากนั้น ครอบครัว ลูกหลาน และผีบรรพชนกินข้าวร่วมกันในอาหารมื้อสำคัญที่สุดในรอบปีและเทศกาลตรุษจีน เรียกว่า เหนียนเย่ฟั่นž แปลว่า อาหารค่ำประจำปีž แต้จิ๋วนิยมเรียก ถ่วงอี่ปึ่งž หรือ ข้าวพร้อมหน้าสามัคคีž ถือเป็นช่วงเวลาที่อยู่พร้อมหน้า จากบ้านไปไกลแค่ไหนก็ต้องกลับมา

ครั้นถึงวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีนซึ่งในไทยเรียก วัน ชิวอิ้กž แปลว่า วัน 1 ค่ำ (เดือนอ้าย) คนนิยมไปเที่ยวฉลองตรุษจีน จึงเรียกอีกอย่างว่า วันเที่ยว เป็นวันถือเคล็ด ไม่พูดคำหยาบ ไม่เบาะแว้ง ไม่ทำของแตก ไม่กวาดบ้าน ไม่ใช้ของมีคม

ข้อห้ามเหล่านี้สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของคนจีน ไม่ใช่ความงมงายž

คนจีนเตรียมพร้อมเสมอ คิดการณ์ไกล ไม่ทำอะไรเฉพาะหน้า เรื่องข้อห้าม สมัยก่อนความรู้เรื่องการแพทย์ยังไม่มาก ก่อนตรุษจีน คนจึงทำตัวให้พร้อม ให้สุขภาพดี การทำความสะอาดบ้านมีกติกาว่าต้องทำก่อนตรุษจีนตั้งครึ่งเดือน ช่วงตรุษจีนในประเทศจีนยังเป็นหน้าหนาว เขาปิดบ้าน จึงไม่กวาดบ้าน วันชิวสี่ คือวัน 4 ค่ำ หรือ 5 ค่ำ จึงกวาดออก โดยถือว่าสิ่งนั้นคือความยากจน ต้องขจัดออกไป แต่ถ้ามีสิ่งสกปรกที่คาดไม่ถึงเข้ามาก็ทำได้ เพียงแต่ให้เตรียมพร้อม

ส่วนการห้ามด่า ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามทำของแตก คนจีนถือเพราะสิ่งนี้คุณระวังได้ ในช่วงเวลาสำคัญ อะไรที่เป็นโทษควรงดเว้น จะเห็นว่าการถืออะไรของคนจีนอยู่ในช่วงเวลาจำกัด ซึ่งก็คือการฝึกวินัยเบื้องต้นŽ

ถือเป็นความหมายที่แฝงอยู่ในประเพณีอันรุ่มรวยจากวัฒนธรรมจีน สู่คนไทยเชื้อสายจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยในวันนี้

ชุนเหลียนž ส่งความปรารถนาดี ผ่าน กลอนคู่แห่งฤดูใบไม้ผลิž

อีกหนึ่งภาพคุ้นตาในเทศกาลตรุษจีนคือ กระดาษสีแดงสดที่ปรากฏตัวอักษรภาษาจีน ติดบนประตู ด้านละ 1 แผ่น ข้อความบนกระดาษมีจำนวนอักษรเท่ากัน เป็นใจความอวยพรปีใหม่ ภาษาจีนกลางเรียกข้อความในลักษณะดังกล่าวว่า ตุ้ยเหลียนž คือ กลอนคู่ž ที่ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัส หากแต่ต้องเป็นถ้อยคำ 2 วรรคที่มีเสียงหนักเบาและความหมายสมดุลกัน นั่นคือ มีจำนวนคำ (อักษร) เท่ากัน และความหมายเป็นคู่กันอย่างสละสลวย

สำหรับกลอนคู่ในเทศกาลตรุษจีนมีชื่อเฉพาะในภาษาจีนกลางว่า ชุนเหลียนž หมายถึง กลอนคู่ในวสันตฤดู คือฤดูใบไม้ผลิ (ไม่ใช่ฤดูฝน) ส่วนใหญ่มีใจความอวยพรปีใหม่ หรือกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับปีใหม่ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการส่งความปรารถนาดีในช่วงตรุษจีนที่นิยมมอบให้แก่กัน

ซิน เจีย ยู่ อี่ ซิน นี้ ฮวด ใช้ (สำเนียงแต้จิ๋ว)

หมายถึง เดือนอ้ายใหม่จงได้สมจินตนา ปีใหม่มาพูนทรัพย์นับอนันต์

คือกลอนคู่ที่แพร่หลายที่สุดในเทศกาลตรุษจีน

อีกหนึ่งกลอนคู่ตรุษจีนบทที่ไพเราะกลายเป็นอมตะ โดยได้รับความนิยมตลอดห้วงเวลาเกือบ 500 ปี เป็นฝีมือการประพันธ์ของ หลินต้าชิน หรือลิ้มไต้คิม จอหงวนคนเดียวของจีนแต้จิ๋ว ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2055-2088

ความว่า

เทียน เจิง ซุ่ย เยว่ เหญิน เจิง ซุ่ย (สำเนียงจีนกลาง)

หมายถึง นภาเพิ่มปีเดือนคนเพิ่มวัย วสันต์เต็มฟ้าดินโชคเต็มบ้าน

โดยปกติกลอนคู่ตรุษจีนถูกเขียนลงบนกระดาษแดงด้วยตัวอักษรสีทอง หรือสีดำ

ที่สำคัญต้องเขียนด้วยลายมือที่งดงาม เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของจีนซึ่งผสานอักษรศาสตร์และงานจิตรกรรมไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เรียกว่า ลายสือศิลป์ž ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่เขียนได้ แม้แต่คนจีนที่รู้ภาษาจีน

นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งได้รับฉายา เซียนพู่กันจีนž มือหนึ่งของไทย ผู้ฝากผลงานลายสือศิลป์บนป้ายศาลเจ้าจีนมากมายทั่วประเทศ อธิบายว่า ลายสือศิลป์เป็นศิลปะชั้นสูง ต้องผ่านการร่ำเรียนและฝึกฝน

ตรุษจีนคือการเฉลิมฉลอง การกลับมาพบหน้า การรวมญาติ การได้ส่งความปรารถนาดีให้กัน การมอบชุนเหลียนให้ ถือเป็นการส่งความปรารถนาดีที่ง่ายที่สุด โดยเป็นคำกลอนที่มีความหมายมงคล พูดถึงการเฉลิมฉลองตรุษจีน ขอให้มีสิ่งดีๆ เข้ามา เช่น อวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง พบแต่สิ่งดีๆ หรือมีบุญบารมี มีอายุยืน ความร่ำรวย แข็งแรง สิ่งสำคัญคือต้องใช้กระดาษแดงเท่านั้น ส่วนหมึก เมืองไทยนิยมใช้สีทอง แต่ในเมืองจีนใช้สีดำด้วยซ้ำ จีนไม่ถือว่าหมึกดำเป็นเรื่องอวมงคลŽ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวการเฉลิมฉลองตรุษจีน ประเพณีที่สืบทอดอย่างยาวนานของชาวจีนทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนในวันนี้ที่ยังคงดำเนินตามวัฒนธรรมของบรรพบุรุษโดยคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญอย่างไม่เสื่อมคลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image