‘เลี้ยงพระตรุษจีน’ พระราชพิธีในราชสำนักสยาม

จากซ้าย-รัชกาลที่ 4 ในฉลองพระองค์ฮ่องเต้แมนจู, พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ย้อนหลังไปในแบบแผนการพระราชพิธีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบเนื่องกันมาตามโบราณราชประเพณี พระราชพิธีเหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ เช่น พระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นต้น

ครั้นกรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดการเป็นราชธานี เกิดราชธานีใหม่  คือกรุงเทพมหานคร แบบแผนการพระราชพิธีต่างๆ ยังคงได้รับการสืบทอดต่อมาคือ ยังเกี่ยวเนื่องด้วยลัทธิพราหมณ์

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ค้นคว้าข้อมูลเผยแพร่ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า ครั้นล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งพระราชวงศ์จักรี ก็เกิดพระราชพิธีสำคัญที่มิได้อิงศาสนาพราหมณ์ล้วนๆ หากอิงคติข้างจีนเป็นหลักแทรกเข้ามา และเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ปรากฏการณ์นี้นับเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง กล่าวคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระโอรสในรัชกาลที่ 2 อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายกับประเทศจีนจนทรงร่ำรวยถึงขั้นเจ้าสัว และทำให้ทรงมีพระสหายชาวจีนที่เป็นพ่อค้าคหบดีมากมาย ทรงคบค้าพ่อค้าเหล่านี้ตลอดมา จนทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3

ดังนั้น ในวาระตรุษจีนหรือปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน พระสหายเหล่านี้ก็จะจัดของสด เช่น สุกร เป็ด ไก่ มาถวายคนละมากๆ เมื่อถวายหลายคนเข้าก็มีของถวายตรุษจีนมากมายเหลือเฟือ และเป็นของสดที่จะเก็บไว้มิได้ กอปรกับรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา และทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์อยู่แล้วเป็นปกติตามที่เราทราบกันดีจึงทรงปรารภให้นำของสดๆ เหล่านี้ มาทำเครื่องจังหัน โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์มารับพระราชทานฉันวันละ 30 รูป มีพระภิกษุทั้งจากคณะกลาง เหนือ ใต้ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาทั้ง 3 วัน

Advertisement

นอกจากนี้ ก็โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาร่วมถวายพระและเลี้ยงดูผู้คนตลอด 3 วันนี้ เมื่อทําบุญแล้วก็โปรดให้ซื้อปลาวันละ 10 ตําลึง ไถ่ชีวิตลงน้ำด้วย

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเมื่อครองราชย์แล้วก็มักจะทรงพอพระทัยชำระสะสางเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจนอยู่เสมอ ทรงปรารภว่า การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่ลักชื่อว่าเป็นจีนŽ จึงโปรดให้ ทำเกาเหลาที่โรงเรือ ยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีนŽ

นอกจากนี้ ก็โปรดให้เชิญเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้งเซ่นสังเวย ณ ศาลหลังคาเก๋งจีนที่โปรดให้สร้างขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นเป็นการเฉพาะ เครื่องสังเวยที่ตั้งทั้ง 3 วัน มี อาทิ แตงอุลิด (แตงโม) ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และตอนท้ายมีการขอพรเป็นการเทวพลี คือ พลีเทวดา เพื่อให้เข้าเค้าอย่างคติจีน คือพลีเทพเจ้าจีนและวิญญาณบรรพชน

Advertisement

แสงอรุณ ชวนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ในการจัดพระราชพิธีตรุษจีนให้มีสีสันแบบจีนมากขึ้น จึงสันนิษฐานต่อไปว่า การจัดเครื่องโต๊ะบูชาแบบจีนเพื่อถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชนั้นก็คงจะอยู่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนให้เป็นจีนมากขึ้นนี้เอง

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมนําเรือขนมจีนมาเข้าร่วม ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เหตุด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ให้การสนับสนุน

พระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนคงดำเนินต่อเนื่องมาในสมัยที่รัชกาลที่ 5 ทรงเจริญพระชนม์ขึ้นและทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารบ้านเมืองแล้ว โดยอาจจัดขึ้นในเดือนยี่หรือเดือนสามตามปฏิทินจีน และขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายจีน คือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน-ต้นตระกูลโชติกเสถียร) ซึ่งจงรักภักดีในพระองค์มาก รับเป็นเจ้าภาพจัดโต๊ะจีนอย่างดีมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย

เป็นอีกหนึ่งพระราชพิธีที่สะท้อนสัมพันธ์จีน-ไทยที่ปรากฏในราชสำนักสยามอย่างสำคัญยิ่ง

รัชกาลที่ 5 ในฉลองพระองค์ฮ่องเต้แมนจู
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image