โพธิคยาวิชชาลัยฯ ประกาศรางวัล ‘โพธิคยานาคาธิบดี’ ขรรค์ชัย คว้าสาขาสื่อ ผนึก มจร. เซ็นเอ็มโอยู หนุนวิจัยพญานาค

เมื่อวันที่ 25 มกราคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 6 บริษัทไทยนครพัฒนา จำกัด สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาและงานวิจัย ระหว่างคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และประกาศรายชื่อผู้รับรางวัล ‘โพธิคยานาคาธิบดี’

ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวสัมโมทนียกถา ของพระธรรมโพธิวงศ์ ผอ.หลักสูตรสถาบันโพธิคยาฯ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ถึงการดำเนินงานของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และแถลงข่าว รางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี”

ดร.สุภชัย  กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุน ต่อยอดงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนาทั้งในระดับชาติ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งขณะนี้ได้สรุปงานวิจัยชุดแรกไปแล้ว ในหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่ม่ต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ภายใต้แผนการวิจัยหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” และมีแผนลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในหัวข้อเดียวกันที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา เร็วๆนี้ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการจัดการบริการวิชาการแก่สังคมด้วยหลักสูตรพระพุทธศาสนาระยะสั้น โดยปีนี้มีแผนเปิดหลักสูตร ‘ภาวะผู้นำที่มั่นคงในวิถีพุทธ’ (พุทโธปนายิกศาสตร์) อีกด้วย

Advertisement

ด้าน พระเมธีวรญาณ คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวถึงความเชื่อเรื่องพญานาคในพระพุทธศาสนา รวมถึงการต่อยอดการศึกษา เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

“คณะพุทธศาสตร์ มจร มีเป้าประสงค์ผลิตบัณฑิต การวิจัย และการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาจิตใจ และสังคมโดยศาสตร์ทางพุทธศาสนาแบบบูรณาการ จึงร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชชงค์ ซึ่งให้ความสำคัญกับงานด้านพระพุทธศาสนา” พระเมธีวรญาณกล่าว

Advertisement

จากนั้น นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ กล่าวว่ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมในการสนับสนุบการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าประสงค์ของมูลนิธิที่ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมทางพระพุทะศาสนา และขออนุโมทนาบุญกับผู้ได้รับรางวัลโพธิคยานาคาธิบดีทั้ง 11 รางวัล ซึ่งล้วนเป็นผู้อยู่ในเส้นทางแห่งกุศลความดีในการทำงานออกมาให้สาธารณชนได้รู้จักอย่างเป็นรูปธรรม

ดร. อภัย จันทนจุลกะ ประธานคณะกรรมการ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี กล่าวว่า บุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลทั้งหมดรวม 11 รางวัลมีความทุ่มเทและเสียสละในการเผยแผ่พระศาสนา ผลงานชัดเจนในการดำเนินกิจการและส่งเสริมพระพุทธศาสนา รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพญานาค แบ่งเป็นสาขาต่างๆ ได้แก่

1. สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ประเภทบุคคล 3 รางวัล ได้แก่ พระธรรมราชานุวัตร, พระเทพวัชราจารย์ ,ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

2. สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ประเภทองค์กร 3 รางวัล ได้แก่ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์

3. สาขาพุทธศิลป์ ประเภทบุคคล ได้แก่ อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ประจำปี 2546, นายวัชราศิลป์ พิสิทฐ์กูล จิตรกรอัจฉริยะรุ่นเยาว์

4. สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา ประเภทบุคคล ได้แก่ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายศิริชัย บุญชิต หรือ หนึ่ง นาคา ผู้ผลิตรายการและพิธีกรรายการคนหัวนาค

5.รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา ประเภทคณะบุคคล ได้แก่ รายการตามรอยนาคา ช่องยูทูปนาคาทีวี ดำเนินรายการโดย นายพศิน เรืองวุฒิ

จากนั้น เมื่อเวลาราว 11.30 น. เข้าสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนทางพุทธศาสนาและงานวิจัย ระหว่างสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กับคณะพุทธศาสตร์ มจร. และมูลนิธิวีระภุชงค์

สำหรับพิธีมอบรางวัลดังกล่าว จะจัดขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลา17.00-19.00 น. ที่สวนสาธารณะองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ตัวรางวัลออกแบบโดย นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2540 มีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปปั้นลอยองค์นาคาธิบดี เน้นความสง่างาม น้ำหนักองค์ละ 4.5 กิโลกรัม

ทั้งนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลสาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2548 เป็นผู้มีความสนใจด้านพุทธศาสนา สะท้อนผ่านผลงานมากมายตั้งแต่วัยหนุ่ม อาทิ ร่วมจัดทำนิตยสารช่อฟ้ารายเดือนของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุ, ผลงานที่สอดแทรกในบทความ เรื่องสั้น บทกวี อาทิ ‘ชานหมากนอกกระโถน’ (2512) กล่าวถึงโลกของพระภิกษุ-สามเณร, ใบลานหลังธรรมาสน์’ (2515) ซึ่งอัญเชิญปัจฉิมโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผยแพร่ตั้งแต่หน้าแรก , ‘ประดับไว้ในโลกา’โดย สำนักพิมฬมติชน รวมบทสดุดีคุณงามความดีผู้จากไป ซึ่งตั้งชื่อเรื่องตามวรรคสุดท้ายของฉันท์ที่ประพันธ์โดย สมเด็จ
พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เนื้อหารวมคำไว้อาลัยต่อผู้ที่นับถือ ปัจจุบัน ผลงาน
ของนายขรรค์ชัย ยังคงปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า ‘ ทุกฉบับวันอาทิตย์ ในรูปแบบ
ของโคลงวิพากษ์สังคม-การเมืองไทย และสถานการณ์โลก โดยบทกวีจำนวนมากมีการสอดแทรก
และเปรียบเปรยด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีบทบาทในผลักดันด้านการอนุรักษ์ บุรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นจำนวนมาก

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image