อานิสงส์ ‘รบ.กัมพูชา’ ไทยได้คืนโกลเด้นบอย

อานิสงส์‘รบ.กัมพูชา’
ไทยได้คืนโกลเด้นบอย

ถือเป็นข่าวที่คนไทยให้ความสนใจอย่างยิ่ง สำหรับการยินดีคืนโบราณวัตถุไทย 2 ชิ้น โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา

หลังปรากฏเป็นข่าวที่สื่อไทยแปลจากเว็บไซต์ข่าวชั้นนำของต่างประเทศ ว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจ่อคืนวัตถุล้ำค่าแก่กัมพูชาและไทย

ก่อนจะตามมาด้วยถ้อยแถลงจาก เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รับการติดต่อจาก จอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าจะมอบคืนโบราณวัตถุไทย 2 ชิ้น ได้แก่ ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ หล่อจากสำริดเช่นกัน โดยทั้งคู่มีอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 16 คือราวพันปีมาแล้ว

Advertisement

แน่นอนว่าชิ้นที่ได้รับแสงสปอตไลต์ไปเต็มๆ คือ โกลเด้นบอย ด้วยความงดงามโดดเด่นและมูลค่าที่ตีราคาโดยนักค้าโบราณวัตถุถึง 100 ล้านบาท

ขณะที่ย้อนไปใน พ.ศ.2518 ชาวบ้านขุดปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ นำออกขายฝรั่งได้สตางค์เข้ากระเป๋า 1 ล้านบาทเศษ จัดมหรสพคบงัน 3 วัน 3 คืน

อย่างไรก็ตาม การได้คืนโบราณวัตถุครั้งนี้ไม่ได้มาจากปฏิบัติการทวงคืนโดยรัฐบาลไทยซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2560

Advertisement

ทว่า เป็นผลพวงจากการรุกทวงคืนโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมรอย่างจริงจังโดยรัฐบาลกัมพูชา

พูดง่ายๆ ว่ารอบนี้ไทยได้อานิสงส์ ต่างจากกรณีของทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น ที่ไทยส่งข้อมูลผ่านกระทรวงการต่างประเทศถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประสานกับสำนักงานสืบสวนความมั่นคงมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา (HSI)

กระทั่งมีการขึ้นศาล แล้วยึดจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum) ซานฟรานซิสโก ก่อนส่งคืนกลับไทย

ทว่า สิ่งที่เป็นจุดร่วมของทั้ง 2 กรณีคือการถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย พูดให้เข้าใจง่ายก็เสมือนของโจร ดังที่ปรากฏในการแถลงของ สำนักงานอัยการนิวยอร์กใต้ ถึงการสืบสวนสอบสวนปมโบราณวัตถุผิดกฎหมาย นำไปสู่การยินยอมพร้อมใจของพิพิธภัณฑ์ในการคืนสมบัติชาติกว่า 10 ชิ้นแก่กัมพูชา ซึ่งสุดท้ายเชื่อมโยงมาถึงไทย เมื่อพบว่าจำนวนหนึ่งเป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา

อีกประเด็นสำคัญจากเหตุการณ์นี้ถูกเชื่อมโยงไปยังรายการโบราณวัตถุที่ส่งไปทวงคืนจาก The MET เมื่อราว 3-4 ปีก่อน นั่นคือ กลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัย 4 ชิ้น

ซึ่งล่าสุด ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ ออกมาย้ำว่า สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือกรมศิลปากรและรัฐบาลไทยต้องไม่ยอมให้เกิดการล็อบบี้ เจรจาผ่อนผันในรูปแบบต่างๆ ต่อโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่อยู่ระหว่างการทวงคืน

“สิ่งที่คนไทยต้องจับตามองแบบไม่กะพริบคือ ทางไทยเรา ทั้งอธิบดีกรมศิลปากรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต้องไม่ให้มีการเจรจาผ่อนผันในรูปแบบต่างๆ เพราะขั้นตอนกำลังอยู่ในศาล ซึ่งอัยการและ HSI กำลังรอให้พิพิธภัณฑ์แจ้งขอยอมความ แล้วอัยการก็จะไม่ให้นำกฎหมายของโจรมาใช้ แล้วยอมให้ HSI นำส่งคืนไทยอย่างเป็นทางการต่อไป ถ้าพิพิธภัณฑ์จะขอเจรจา อัยการและ HSI จะสามารถขอหมายศาลยึดมาคืนไทยทันทีแบบเดียวกับทับหลังหนองหงส์และเขาโล้น ที่ HSI ขอหมายศาลยึดแล้วคืนไทยเมื่อ 2 ปีก่อน” ดร.ดำรงกล่าว

ตัดภาพไปยังกรมศิลปากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลป์คนปัจจุบัน ที่รับไม้ต่อการทวงคืนจาก 2 อดีตอธิบดีก่อนหน้า ได้แก่ อนันต์ ชูโชติ และประทีป เพ็งตะโก ย้ำว่า ในส่วนของกรมศิลปากรมีการทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และยังมีบัญชีโบราณวัตถุอีกหลายรายการที่เตรียมทำหนังสือขอส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย

“ยืนยันว่าคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ มีการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อาจจะดูเหมือนล่าช้า เพราะโบราณวัตถุแต่ละชิ้นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องว่ามีการนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง” พนมบุตรยืนยัน

ปิดท้ายที่ประเด็นชวนคิดต่อถึงการหาทางออกร่วมกัน ระหว่างไทย-กัมพูชา แทนที่จะมองว่าเป็นการช่วงชิงสมบัติ นั่นคือกรณีที่ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ ตั้งข้อสังเกตถึงทับหลังชิ้นหนึ่งซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน เตรียมส่งคืนกัมพูชาว่า หากพิจารณารูปแบบศิลปะเชื่อว่าเป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา สอดคล้องกับศิลปะแบบบาปวนที่มีความใกล้เคียงกับทับหลังปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา และปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ โดยเป็นลวดลายที่หาได้ยากในกัมพูชา

ที่น่าสนใจคือนักวิชาการท่านนี้ชวนมองไปถึงการหาหนทางร่วมกันในการแก้ปมปัญหาที่สลับซับซ้อนในเชิงวัฒนธรรมตั้งแต่ก่อนมีเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ

“ครั้งหนึ่งที่ตัวแทนฝ่ายกัมพูชาพยายามขอให้ฝ่ายไทยร่วมมือกันทวงโบราณวัตถุจากต่างประเทศคืน ขอให้ได้กลับมาก่อนแล้วมาพิจารณาร่วมกันตามหลักฐานว่าอันไหนของไทย อันไหนของกัมพูชา เพราะผู้ถือครองมักต่อสู้ว่าไม่ใช่ของกัมพูชา หากทางกัมพูชาทวง และไม่ใช่ของไทย หากไทยทวงคืน

ปัญหานี้จะง่ายขึ้นหากร่วมมือกัน และไม่ต้องสร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาลอเมริกาที่เขาพร้อมช่วยเหลือ หรือแม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออสเตรเลียที่ส่งโบราณวัตถุมาให้ตรวจสอบ 70 กว่ารายการ ซึ่งกัมพูชาแม้จะได้คืนจากออสเตรเลียหลายชิ้น แต่ก็พบปัญหาการอ้างสิทธิบางชิ้นก็ไม่ได้คืนแม้ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมเขมรก็ตามที”

ทนงศักดิ์ ชวนให้ตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรจะได้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้กลับคืนประเทศต้นทางอย่างที่ควรจะเป็น หากไล่เรียงเหตุการณ์ สถานการณ์ และบรรยากาศโดยภาพรวม เส้นทางทวงคืนยังอีกยาวไกล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image