ครม.ไฟเขียว เสนอ ‘ชุดไทย-มวยไทย’ เข้าคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมฯ

ครม. เห็นชอบเสนอ ‘ชุดไทย – มวยไทย’ เข้าคิวเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)เสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย และ มวยไทย

โดยให้นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 นี้ เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบาย่า” ซึ่งยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2 – 7 ธันวาคม 2567 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ “ผ้าขาวม้า” ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาแล้ว

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ชุดไทย เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด

Advertisement

ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของ สตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ

ส่วนของ สุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

Advertisement

ในส่วน “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน “จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ

เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือ การใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรคดี รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่างๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง

ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบเอกสารรายการเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ 2รายการ คือเอกสาร “ชุดไทย ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The Thai National Costume) และ เอกสาร“มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) และเห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลงนามในเอกสารนำเสนอรายการชุดไทยและเอกสารนำเสนอรายการมวยไทย ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนฯ

น.ส.เกณิกา กล่าวว่า เนื่องจากชุดไทยและมวยไทย มีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริมเพื่อต่อยอด และสะท้อนอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาไทยได้ชัดเจน การแต่งกายของไทย แสดงถึงคุณค่าของงานช่างฝีมือ ลวดลายบนผืนผ้า เทคนิคการทอ การออกแบบตัดเย็บ เครื่องประดับที่งดงาม ส่วนมวยไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี สามารถฝึกฝนและปฏิบัติได้จริงในแง่ศิลปะการป้องกันตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ดังนั้น การเสนอชุดไทยและมวยไทย จะช่วยสร้างภาคภูมิใจของคนไทย ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนและ ผู้ประกอบอาชีพนำวัตถุดิบทางวัฒนธรรมของไทยที่มีอยู่ไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของสังคมควบคู่ไปกับอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ประเทศไทยเคยเสนอรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจำนวน 7 รายการ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนราห์และสงกรานต์ในประเทศไทย ส่วน 3 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผ้าขาวม้า และเคบายา อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image