ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ย้อนรอยความเชื่อโบราณ-ที่มาการเล่นสาดน้ำ

วงเสวนา ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ย้อนรอยความเชื่อโบราณ และที่มาการเล่นสาดน้ำ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนาส่อง “สงกรานต์ไทย” โดยมี ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ร่วมเสวนา

โดย ผศ.คมกฤช กล่าวว่า คำว่า “สงกรานต์” หรือ “สังกรานติ (สํกฺรานฺติ)” มาจากภาษาสันสกฤต หรือภาษาแขกของอินเดีย มีความหมายว่า การเคลื่อนหรือย้ายของพระอาทิตย์ ซึ่งความเชื่อคนโบราณ แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ช่องตามกลุ่มดาวจักรราศี ดังนั้น “วันสงกรานต์” หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งในกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 กลุ่ม เพราะฉะนั้นในรอบ 1 ปี จึงมีวันสงกรานต์ถึง 12 วัน ในช่วงวันที่ 14-15 ของทุกเดือน ตามสุริยคติ เช่น พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก มกรสังกรานติ (มกรสงกรานต์) เข้าราศีเมษก็เรียก เมษสังกรานติ (เมษสงกรานต์) ซึ่งเป็นความเชื่อแบบโบราณ

Advertisement

โดยตามความเชื่อของพราหมณ์ ถือเอาสงกรานต์ใหญ่สองสงกรานต์ว่าสำคัญกว่าสงกรานต์อื่นๆ คือ มกรสงกรานต์ และเมษสงกรานต์ มกรสงกรานต์ หรือมกรสังกรานติ คือสงกรานต์ที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกรในช่วงวันที่ 14-15 มกราคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร เท่ากับได้ย้ายจากวงโคจร (อายน) ด้านใต้ (ทักษิณายัน) ซึ่งกินเวลาครึ่งหนึ่งของปี มาสู่วงโคจรด้านเหนือ (อุตรายัน) วงโคจรด้านเหนือของดวงอาทิตย์คือช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงอบอุ่นของโลกอันเหมาะแก่การเพาะปลูก ผิดกับวงโคจรด้านใต้ที่หนาวเย็น สะท้อนถึงความมืดและความตาย ถือกันว่าทักษิณายันเป็น “กลางคืน” ของเทวดา ส่วนอุตรายันเป็น “กลางวัน” ของเทวดา เพราะหนึ่งปีมนุษย์เท่ากับหนึ่งวันของเทวดา

ทั้งนี้ เมื่อไปดูสงกรานต์ เดือนมกราคมของอินเดียใต้ จะไม่มีการสาดน้ำ แต่จะมีพิธีบูชาเทพที่เทวสถานแล้ว ในอินเดียภาคใต้จะเรียกเทศกาลนี้ว่า “ไทปงคัล” “ปงคัล” คือข้าวหุงอย่างเทศใส่นมเนย ส่วน “ไท” คือชื่อเดือนยี่ของทมิฬ ชาวบ้านจะตื่นมาหุงข้าวปงกัลป์ถวายพระสุริยเทพ ส่วนข้าว “ปงคัล” ของทมิฬ ก็คืออย่างเดียวกับ “ข้าวเปียก” หมายถึงข้าวกวนกับกะทิและนม ซึ่งใช้ถวายพระเป็นเจ้าในพระเทวสถานเฉพาะในพระราชพิธีตรียัมปวายเท่านั้น โดยไม่มีการสาดน้ำ

Advertisement

ส่วนส่งกรานต์เดือนเมษายน ของประเทศไทยนั้น ตรงกับช่วงที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศี เมษสงกรานต์สำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือจอมฟ้า ตรงเหนือศีรษะเราพอดี อันเป็นตำแหน่งที่พระอาทิตย์มีกำลังสูงสุดในทางโหราศาสตร์อินเดียถือว่า ราศีเมษ เป็นราศีที่สถิต “ลัคนา” หรือตำแหน่งอ้างอิงทางโหราศาสตร์ของโลก การที่ดาวใหญ่อย่างดวงอาทิตย์ย้ายเข้าในราศีลัคนาโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่โต และยังใกล้เริ่มต้นเพาะปลูกอีกด้วย แขกพราหมณ์อินเดียใต้ ต่างถือว่าเมษสงกรานต์เป็นปีใหม่ของตน เรียกชื่อเทศกาลออกไปต่างกัน โดยอินเดียในแต่ละภูมิภาคไม่ได้นับปีใหม่ตรงกัน เพราะความแตกต่างของภูมิอากาศ

โดยสงกรานต์ของแขกพราหมณ์ไม่มีสาดน้ำหรือรดน้ำเป็นกรณีพิเศษ แต่จะมีรดน้ำเทวรูปในเทวสถาน ซึ่งก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่พิธีที่แยกออกมา

การที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายทำให้เกิดฤดูกาล ส่วนมาเป็นสงกรานต์ของ ประเทศไทยได้อย่างไรนั้น สงกรานต์ในระดับราชสำนัก ที่รับมาจากพรามหณ์ จะมีความเข้มข้นค่อนข้างมากในเรื่องของพิธีกรรม ส่วนระดับชาวบ้านอาจจะมีความแตกต่างกับอินเดีย แต่ที่อาจจะคล้ายกัน คือของไทยมีการสาดน้ำ แต่ของประเทศอินเดียจะมีการสาดผงสีใส่กันในเทศกาลโฮลี เป็นเรื่องของการเจริญพืชพันธ์ แต่ที่สันนิษฐานว่า ไม่เหมือนกับสงกรานต์ไทย โดยโฮลี ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดฤดูหนาว ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น นอกจากจะเล่นสาดสีกันแล้ว ก็จะมีการร้องรำทำเพลงและเต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตามความเชื่อแล้ว เทศกาลโฮลี เป็นการเผานาง โหลิกา หรือการไล่ความร้อน ซึ่งไม่มีการใช้น้ำ อีกทั้งยังเป็นคนละช่วงเวลา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ และไม่ได้เป็นที่มาของการสาดน้ำในสงกรานต์ประเทศไทย

ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำนั้น ตามประเพณีของไทยมี แต่จะมีเฉพาะพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนเกิดขึ้น ของรัชกาลที่ 5 ส่วนการเล่นสาดน้ำนั้น มาจากของไทยเอง จนปัจจุบัน ถึงกับเรียกว่า Water Festival เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แม้ที่ผ่านมา จะเคยมีการพูดคุยว่า อยากให้อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์แบบดั่งเดิม แต่ส่วนตัว ก็อยากให้เป็นไปตามยุคสมัย ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้สนุกกับสงกรานต์แบบพอเหมาะพอดี

ด้านนายศิริพจน์ กล่าวว่า เรื่องวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับมาอินเดีย จะมาเป็นชุดทั้งประเพณี และหลักการความเชื่อทางศาสนา ซึ่งจะมีเรื่องพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับฤดูกาล ภูมิอากาศ และการเพาะปลูก เห็นได้จากกฎหมายตราสามดวงวง ซึ่งนับ 1 ปี เป็น 1 รอบของการเพาะปลูก โดยช่วงเดือนเมษายน ของประเทศไทย ตรงกับหน้าร้อนที่ ไม่มีการเพาะปลูก ดังนั้น จึงเป็นช่วง ตรงกับช่วงที่มีการไหว้ผีบรรพบุรุษเพื่อคุ้มครองให้เดือนถัดไปที่จะมีการแรกนา เป็นไปด้วยดี มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้สงกรานต์ของไทย นอกจากไหว้เทพและยังมีการไหว้ผีบรรพชนด้วย

ส่วนการสาดน้ำในประเพณีไทยมาจากไหน นั้น จากข้อมูลในสมัยร.4 ที่มีการออกประกาศในเรื่องประเพณีสงกรานต์ ก็ยังไม่มีการสาดน้ำ จนกระทั่งต้องมีการออกประกาศห้ามกระทำในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีการประกาศในเรื่องสาดน้ำ ส่วนการสาดน้ำมีความเป็นมาอย่างไรนั้น มองว่า เป็นความพยายามแหกออกจากกฎเกณฑ์สังคม ซึ่งการสาดน้ำก็เป็นหนึ่งในการแหกกฎที่ไม่สามารถทำได้ในวิถีปกติ รวมถึงยังมีเรื่องเล่าสัปดนซึ่งไม่สามรถทำได้ในวิถีชีวิตปกติเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image