สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลอยกระทงเพื่อชาติของกบในกะลา

ลอยกระทงเพื่อชาติของกบในกะลา

ลอยกระทงที่รู้จักทั่วไปทุกวันนี้ เป็นประเพณีประดิษฐ์ที่ถูกทำให้ป๊อป ราวช่วงหลังสงครามโลก ด้วยพลังหลายอย่าง เช่น

(1.) ชาตินิยมความเป็นไทย (2.) เพลงรำวงลอยกระทง หลังรัฐประหาร 2490 (3.) การท่องเที่ยวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2503

ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ลอยกระทงเป็นที่รู้จักในวงจำกัดของสังคมเมืองภาคกลาง ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในภาคอื่นๆ บางแห่งอาจไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำ

[ก่อน พ.ศ. 2500 ผมเรียนชั้นประถมที่ดงศรีมหาโพธิ์ จ. ปราจีนบุรี ไม่เคยได้ยินลอยกระทง และไม่เคยลอยกระทงวันเพ็ญ เดือน 12 แต่เพิ่งรู้จักหลังเข้าเรียนในกรุงเทพฯ]

Advertisement

กลุ่มคนชั้นนำท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ เท่านั้นที่รู้จักลอยกระทง เช่น รัฐล้านนา มีผู้รู้บอกนานแล้วว่าไม่เคยมีลอยกระทงมาแต่โบราณกาล เพิ่งรับไปจากรุงเทพฯ ไม่นานมานี้ จึงต้องลอยให้ตรงกับกรุงเทพฯ คือ กลางเดือน 12 ของภาคกลาง แต่ขณะนั้นล้านนาเคลื่อนไปแล้วเป็นเดือนที่ 2 หรือเดือนยี่ (เพราะทางล้านนานับเดือนเร็วกว่าภาคกลางราว 2 เดือน) จึงเรียกประเพณี “ยี่เป็ง” หมายถึง เพ็ญเดือน 2

ถ้าจะให้ดีควรมีงานวิจัยจริงจังเรื่องนี้ ที่เขียนมานี้ตามความทรงจำจากประสบการณ์คนเดียว จึงไม่ควรเชื่อถือเป็นจริงจัง

ภาพถ่ายจากปราสาทบายน

ลายสลักรูปคนกำลังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำและดิน สลักไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1750 บริเวณผนังมุมด้านทิศใต้กับมุมตะวันออก ปราสาทบายน เมืองนครธม กัมพูชา

Advertisement

ภาพถ่ายได้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นฝีมือถ่ายภาพของ อ. วรรณวิภา สุเนต์ตา (คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่กรุณาเอามาฝากให้ใช้งานเขียนเรื่องลอยกระทง ว่ากระทงใบตองไม่ได้มีครั้งแรกยุคสุโขทัยตามที่ถูกครอบงำจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ

แต่ผมสอบตกทุกปีในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ (ผู้สอนคือ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล) จึงดูในรูปไม่รู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร เลยไหว้วานร้องขอ ธัชชัย ยอดพิชัย (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม) วาดลายเส้นจากภาพถ่ายให้ดูกระจ่างชัดเจนเห็นตัวตน

เมื่อได้ลายเส้น ผมเลยแบ่งปันสู่สาธารณะโดยเอาลงพิมพ์เป็นรูปประกอบเรื่องลอยกระทง ในหนังสือประเพณี 12 เดือน ของ ปรานี วงษ์เทศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 194) จากนั้นผมใช้เป็นรูปประกอบเขียนรายงานผ่านมติชนรายวัน, รายสัปดาห์ ฯลฯ หลายครั้งหลายหนจนหลายคนบอกว่าเบื่อก็ไม่น้อย

 

รูปสลักบนผนังระเบียงนอกสุดของปราสาทบายน ถ่ายภาพเมื่อ พ.ศ. 2548 โดย วรรณวิภา สุเนต์ตา (คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

 ลายเส้นรูปสลักปราสาทบายน คัดลอกจากภาพถ่ายของ วรรณวิภา สุเนต์ตา โดย ธัชชัย ยอดพิชัย พ.ศ. 2548 (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

  น้ำและดิน

ขอขมาน้ำและดิน เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ มีความหมายกว้างรวมถึงธรรมชาติทั้งมวลที่ให้ความมีชีวิต

ขอย้ำว่า “น้ำและดิน” ซึ่งคนแต่ก่อนถือเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ว่าในน้ำมีดิน และในดินมีน้ำ ที่เนรมิตพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารเลี้ยงมนุษย์

ผมไม่เคยคิดแยกโดดๆ ออกเป็นน้ำอย่างเดียว, ดินอย่างเดียว

ลอยกระทง หมายถึง ขอขมาน้ำและดิน ซึ่งเกี่ยวพันกับต้นข้าว, กอข้าว, รวงข้าว, เม็ดข้าว และปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ

ภาพสลักที่ปราสาทบายน แท้จริงเป็นพิธีอะไรที่เรียกในภาษาเขมรยุคนั้น? ผมไม่รู้เลย และไม่รู้จะปรึกษาหารือใคร? แต่ไม่น่าจะเรียกลอยกระทง ซึ่งเป็นคำเรียกในภาษาไทย

ดังนั้น ใครจะตั้งคำถามแล้วอธิบายว่าอย่างไร? ก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้าหาพยานแวดล้อมสนับสนุนเพื่อการพิจารณาของสาธารณะโดยไม่ถือเป็นยุติอย่างใดอย่างหนึ่ง

ต้นกล้วยและใบตอง

ใบตองกล้วย หมายถึง ใบตองของต้นกล้วย เป็นวัสดุธรรมชาติมีใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์

ภาชนะจากใบตองและต้นกล้วยเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ไม่ใช่ของใครพวกใดพวกหนึ่งแต่พวกเดียว

กระทงทำจากใบตอง จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีใครรับจากใคร เพราะใครๆ ก็มี และทำเป็นทำได้

 

ต้องเขียนซ้ำซากเพื่อเปิดโปงสิ่งปกปิด

 

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ถ้ายังใช้อำนาจครอบงำให้เชื่อหลักฐานที่คนชั้นนำเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเองไม่นานมานี้ แล้วนักวิชาการทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะกับมานุษยวิทยาผู้ถืออำนาจทางวัฒนธรรม พากันกระจายข้อมูลวิปริตเหล่านั้นไปทั่วประเทศ โดยปกปิดข้อมูลที่มีจริง

ผมก็จำเป็นต้องเขียนซ้ำซากเพื่อเปิดโปงสาธารณะว่าข้อมูลข่าวสารนั้นไม่มีมาแต่เดิม หากถูกแต่งใหม่อย่างปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อความไม่เท่าเทียม

ดังนั้นต้องทำซ้ำซาก ต้องเขียนแล้วเขียนอีก เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารและหลักฐานที่มีดั้งเดิมสู่สังคมเพื่อเปรียบเทียบแล้วพิจารณาตัดสินกันเองอย่างมีเสรีภาพและเสมอภาค

แม้นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะบางพวกบางฝูงจะถากถางยังไงก็ได้ตามสะดวก แต่ผมไม่หยุดเขียนซ้ำซาก จนกว่ากบจะออกนอกกะลาค่อยว่ากันใหม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image