นักโบราณฯ ไม่ท้อ! ขุด ‘เขาศรีวิชัย’ 20ปี ชี้เป็นเมืองท่าค้าข้ามคาบสมุทร โชว์ชิ้นเอกเร็วๆนี้(ภาพชุด)

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร นครศรีธรรมราช ได้เปิดเผยถึงการพบหลักฐานใหม่ที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นเมืองท่าสำคัญสมัยศรีวิชัย

นายอาณัติ กล่าวว่า เขาศรีวิชัยเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่มีการขุดค้นมานานนับสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานล่าสุด มีการพบหลักฐานใหม่ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน โดยโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ จักร ทำจากโลหะสำริด และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง รวมถึงวัตถุที่มีแหล่งผลิตจากประเทศอินเดีย สะท้อนว่าพื้นที่แถบนี้เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากในสมัยศรีวิชัยซึ่งรุ่งเรืองจากการค้าทางทะเล โดยมีข้อสันนิษฐานกันว่าเป็นรัฐโบราณซึ่งในเอกสารจีนเรียกว่า ‘พันพัน’ โดยปัจจุบันคืออำเภอพุนพินนั่นเอง การพบโบราณวัตถุจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการสนับสนุนแนวคิดเรื่องการเป็นเมืองท่าสำคัญที่รุ่งเรือง

Advertisement

“แหล่งโบราณคดีนี้มีพื้นที่เฉพาะบนเขากว้างประมาณ 800 เมตร โดยครอบคลุมไหล่เป็นบริเวณกว้าง พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่8-10 หรือ พ.ศ. 700 กว่าๆ- 900 กว่าๆ สืบเนื่องมาถึงสมัยศรีวิชัยซึ่งสิ้นสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 18 พร้อมๆกับการสิ้นสุดของอารยธรรมขอมโบราณ ล่าสุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่ยืนยันข้อสันนิษฐานของท่านพุทธทาส ภิกขุเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย ตอนนั้นท่านยังไม่เห็นหลักฐานพวกนี้ แต่สามารถจินตนาการเชื่อมโยงได้ถูกต้อง” นายอาณัติ กล่าว

Advertisement

นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการประจำสำนักศิลปากร นครศรีธรรมราช ผู้ควบคุมการขุดค้น กล่าวว่า เขาศรีวิชัยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ.2479 พื้นที่เดิมเป็นป่ารก แต่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านเป็นอย่างดีโดยมีการขุดลูกปัดกันขนานใหญ่ กรมศิลปากรจึงเข้าตรวจสอบ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการขุดค้นซึ่งดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ.2541 นำโดย นางนงคราญ สุขสม เพื่อรักษาหลักฐานทางโบราณคดี นับมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดยมีการพบหลักฐานต่างๆโดยเฉพาะยุคศรีวิชัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-15 อาทิ โบราณสถานสร้างจากอิฐ, เทวรูปพระนารายณ์หลายองค์, ธรรมจักร, ศิวลึงค์ขนาดใหญ่สูง 160 ซม. และเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก สำหรับสภาพพื้นที่เป็นภูเขารูปร่างยาวตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว 650 เมตร กว้างราว 40-50 เมตร สูง 50 เมตร ประกอบด้วยเนินดินต่างๆกว่า 10 แห่ง ล่าสุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง อาทิ เศษเครื่องถ้วยจีนราชวงศ์ถัง ประมาณ 300 ชิ้น เคลือบสีเขียว บางชิ้นวาดลวดลายอกไม้ ทั้งแบบขูดขีดและกดประทับให้เกิดลาย, เศษภาชนะดินเผาจากเปอร์เซีย เคลือบสีเขียวอมฟ้า ราว 50 ชิ้น และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนมาก ชิ้นเด่นคือ เครื่องใช้ในพิธีกรรม เช่น กุณฑี หม้อพรมน้ำ คนโท เชื่อว่าเป็นของนักบวช นอกจากนี้ ยังพบอิฐแกะสลักลวดลายต่างๆ เช่น รูปดอกไม้, รูปใบหน้าคน มีปาก ตา จมูก และรูปหงส์ ซึ่งหากพบเพียงชิ้นเดียวจะดูไม่ออกว่าเป็นภาพใด ต้องนำมาต่อกัน 3 ชิ้น ทำให้นึกถึงปราสาทหมี่เซิน ในศิลปะจามปาประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความนิยมแกะสลักบนอิฐ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ต้องศึกษาต่อไป สำหรับโบราณวัตถุสำคัญที่ทำให้ตนตื่นเต้นและตกใจคือจักรสำริด ขนาดประมาณฝ่ามือ

“พื้นที่บนเขาศรีวิชัยค่อนข้างแคบ คนโบราณจึงก่อสร้างโบราณสถานด้วยการถมดิน ปรับระดับพื้นให้ราบเรียบจนสร้างได้ โดยเรียงเป็นแถวตามแนวเขา บนสันเขามีศาสนสถาน 8 แห่งที่เคยขุดพบแล้ว นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานอื่นๆบนที่ราบด้านข้าง ทั้งหมดก่อด้วยอิฐ แต่มีการใช้หินก่อด้วย มองมาก็รู้เลยนว่าไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่มีคนขนขึ้นมาก่อ สำหรับตัวอิฐมีขนาดใหญ่ หนา แบบอิฐร่วมสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย ล่าสุด ขุดเจอจักรสำริด เดิมดูไม่ออกว่าคืออะไร เห็นเป็นแผ่นกลมมีรู คนงานคิดว่าเป็นจานจักรยานด้วยซ้ำ มีสนิมขึ้นเต็มเลย พอส่งกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์แล้วไปรับคืนก็ตกใจมาก เพราะเห็นเป็นลวดลายบรรจง มี 4 ก้าน ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในประเด็นว่าเป็นธรรมจักรในศานาพุทธหรือวิษณุจักรกันแน่ แต่ดูจากขนาดพอดีมือ ตรงกลางเป็นวงกลมบุ๋ม 2 ด้าน ถ้าใช้นิ้วคีบจะพอดีมือ เบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นของใช้ในพิธีกรรม เป็นของมงคล ศักดิ์สิทธิ์ อาจจะเป็นไปได้ทั้งจักรของพระวิษณุ หรือของโพธิสัตว์ในลัทธิมหายานก็ได้” นายภาณุวัฒน์กล่าว

นายภาณุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากหลักฐานต่างๆที่พบอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี รวมถึงการค้นพบครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่าเขาศรีวิชัยเป็นแหล่งศาสนาซึ่งมีการสร้างศาสนสถานบนเขาตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาส สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลิอารยธรรมอินเดียที่เข้ามาในยุคนั้น ส่วนตัวมองว่าศาสนสถานเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับพ่อค้าที่เดินทางมาจากต่างแดนเพื่อค้าขายและเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงการเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง

“เชื่อว่าพื้นที่แถบนี้เป็นเมืองท่าการค้า มองว่าศาสนสถานบนเขาสร้างรองรับพ่อค้าทั้งหลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งความเชื่อทั้งพุทธ พราหมณ์ นับถือทั้งพระศิวะ และพระนารายณ์ อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เหมือนที่นี่เป็นเจ้าบ้าน แล้วสร้างศาสนสถานในศาสนาต่างๆไว้พร้อมอำนวยความสะดวกตามความเชื่อของพ่อค้าซึ่งมาจากที่ต่างๆ สำหรับโบราณวัตถุ เช่น เครื่องถ้วย หากเชื่อมโยงจะเห็นถึงการเดินทางข้ามคาบสมุทร จากอ่าวไทย แหลมโพธิ์ ไชยา ผ่านเขาศรีวิชัยไปตามแม่น้ำตาปี ออกอีกทางที่แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเมืองท่าฝั่งอันดามัน” นายภาณุวัฒน์ กล่าว

นายภาณุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินงานทางโบราณคดีที่เขาศรีวิชัยจะยังคงมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งการขุดค้น ขุดแต่ง รวมถึงบูรณะโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรดำเนินการเองทุกขั้นตอน นอกจากการศึกษาทางด้านโบราณคดีแล้ว ยังถือเป็นสถานที่ฝึกการทำงานของนักโบราณคดี นายช่าง ลูกจ้าง อีกทั้งช่วยให้ชาวบ้านเรียนรู้ถึงการทำงานอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยคาดหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อป้องกันการลักลอบขุดโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image