อจ.ประวัติศาสตร์ศิลป์เผยที่มาข้อสันนิษฐานชื่ออำเภอ ‘พุนพิน’ คือรัฐโบราณ ‘พันพัน’ ในเอกสารจีน

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

สืบเนื่องกรณีสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช พบหลักฐานใหม่ที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะ “จักร” ที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง และเศษภาชนะดินเผาจากเปอร์เซีย สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าเป็นรัฐโบราณตามเอกสารจีนที่เรียกว่า “พันพัน” ซึ่งปัจจุบันคือ อ.พุนพิน ถือเป็นเมืองท่าสำคัญทั้งการค้าและศาสนาที่รุ่งเรืองในอดีตเมื่อ 1,300 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องรัฐโบราณ พันพัน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจตรงกับ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีนั้น มาจากการที่เอกสารจีนสมัยโบราณกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่เชื่อว่าอยู่ในภาคใต้ที่เป็นคาบสมุทรของไทยไว้หลายเมือง แต่ปัญหาคือจีนเรียกตามสำเนียงจีน ซึ่งบางครั้งสามารถถ่ายถอดออกมาเป็นชื่อบ้านนามเมืองได้ โดยอิงกับจารึกที่พบในท้องถิ่น เช่น ชิลิโฟชิ คือศรีวิชัย โถโลโปตี คือทวารวดี แต่บ้านเมืองอีกหลายแห่งก็ไม่ทราบว่าตรงกับชื่อบ้านนามเมืองอะไร เพราะไม่มีเอกสารหรือจารึกท้องถิ่นยืนยัน เช่น พันพัน ซึ่งบางท่านเห็นว่าตรงกับคำว่าพุนพิน อันเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในสุราษฎร์ธานี แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่ชัดนัก

“ชื่อพันพัน ปรากฏอยู่ในเอกสารจีนตั้ งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เป็นช่วงก่อนศรีวิชัยเล็กน้อยจนถึงสมัยศรีวิชัย ที่สำคัญ เช่น พงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่า บอกว่าพันพันตั้งอยู่บนอ่าวทางตะวันตกเฉียงใต้ของหลินยี่ (จามปา) มีทะเลคั่นดินแดนนี้ออกจากหลินยี่ จะเดินทางไปที่นี่ต้องใช้เรือไปราว 42 วัน อาณาเขตติดต่อกับหลั่งยะสิ่ว ซึ่งบางท่านเห็นว่าตรงกับคำว่าลังกาสุกะ และตรงกับเมืองยะรังในปัจจุบัน พันพันได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีนด้วย ส่วนพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ให้ข้อมูลว่าอยู่ทางใต้ของทวารวดี”  รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

จักรสัมฤทธิ์ อายุ 1,300 ปี พบที่เขาศรีวิชัย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับเขาศรีวิชัยนั้น บนเขามีศาสนสถานกระจายตัวตามสันเขาจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมภาคใต้ยุคโบราณได้ดีมาก หลักฐานที่พบจากเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน หรือเดิมทีเรียกกันว่าเขาพระนารายณ์ ทั้งเก่าและใหม่ต่างมีประโยชน์ ทำให้เห็นภาพว่าภูเขาลูกนี้อยู่ในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ร่องรอยหลักฐานโดยส่วนใหญ่เป็นศาสนาพราหมณ์ มีพุทธศาสนาอยู่บ้าง สะท้อนการยอมรับนับถือศาสนาทั้งสองไปด้วยกัน

Advertisement

“การตั้งอยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเลมากนักอาจสะท้อนว่าเป็นเขาสำคัญของเมืองท่าค้าขายในละแวกตรงนั้น ซึ่งเมืองท่าเหล่านี้เจริญขึ้นจากการค้าขายระหว่างท้องถิ่นกับโลกตะวันออกคือจีน และโลกตะวันตกคืออินเดีย ตะวันออกกลาง หลักฐานที่พบบนเขาศรีวิชัยยืนยันได้ว่าเมืองเหล่านี้ไม่ได้สัมพันธ์กับภายนอกเพียงด้านเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่มีเรื่องศาสนาและความเชื่อด้วย โดยเฉพาะรูปพระนารายณ์ขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อภูเขานี้มาแต่เดิมว่าเขาพระนารายณ์ มีรูปแบบที่สัมพันธ์กับศิลปะอินเดียภาคใต้อย่างยิ่ง จนบางทีอาจจะคิดได้ว่ามีพราหมณ์จากอินเดียเข้ามาอยู่ในราชสำนักท้องถิ่นย่านนี้ก็เป็นได้”  รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ประติมากรรมพระนารายณ์พบที่เขาศรีวิชัย ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image