สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ธนากร ดอนเหนือ’ ลุยปลดล็อก-สร้างมิติใหม่ ‘สกร.’

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ธนากร ดอนเหนือ’ ลุยปลดล็อก-สร้างมิติใหม่ ‘สกร.’

หมายเหตุ – นายธนากร ดอนเหนือ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) คนแรก หลัง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ โดยยกสถานะจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็น สกร.เพื่อเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต “มติชน” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงแนวทางการทำงาน และการผลักดันให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๐ หลังรับตำแหน่งอธิบดี สกร.มีงานเร่งด่วนอะไรที่ต้องรีบดำเนินการ?

“หลังรับตำแหน่งแล้ว พบว่ามีเรื่องที่ต้องเร่งผลักดัน ทั้งการจัดทำกฎหมายลูกกว่า 13 ฉบับ และเรื่องสำคัญคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงสร้าง ซึ่งใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ไม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลไว้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบรรจุ และแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการ ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สกร.เห็นชอบโครงสร้าง สกร.ส่วนกลาง แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานตรวจสอบภายใน กลุ่มงานพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มงานกฎหมายและนิติการ ประกอบด้วย 11 กอง คือ 1.สำนักงานเลขานุการกรม 2.กองบริหารการคลัง 3.กองบริหารทรัพยากรบุคคล 4.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อคุณวุฒิตามระดับ 5.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง 6.กองยุทธศาสตร์และแผนงาน 7.ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ 8.กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต9.กองมาตรฐานความรู้และรับรองคุณวุฒิ 10.ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และ 11.ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์

Advertisement

ส่วนการจัดทำกฎหมายโครงสร้าง ดำเนินการไปแล้วกว่า 90% แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือน ที่ต้องเสนอให้คณะกรรมการ ก.พ.ร.ชุดใหญ่ ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา หากคณะกรรมการ ก.พ.ร.ให้ความเห็นชอบ จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนาม เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูรายละเอียด ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ส่วนข้าราชการครู เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สกร.เห็นชอบโครงสร้างอัตรากำลัง ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานพิจารณา ทั้ง 2 ส่วนมีการขับเคลื่อนคู่ขนานกันไป โดยพยายามจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ก.พ.ร.ชุดใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงสร้างข้าราชการครูนั้น สกร.ได้เสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาใน 3 เรื่อง คือ ขออนุมัติกรอบอัตรากำลัง การบรรจุแต่งตั้ง และการย้ายข้าราชการครู สกร.ทั้งหมดนี้จะเร่งดำเนินการ เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องด้วยโดยเร็วที่สุด”

Advertisement

๐ ระหว่างรอกฎหมายโครงสร้าง ได้เตรียมความพร้อมการทำงานในเรื่องใดบ้าง?

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีแนวทางการจัดการศึกษา 2 รูปแบบ คือ การเรียนสู่ความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ในส่วนของ สกร.จะเกี่ยวข้องในส่วนของการเรียนรู้เพื่อความมั่นคงของชีวิต ในมิติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจะปรับหลักสูตร และปรับรูปแบบการเรียนรู้ ให้ยืดหยุ่น ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้หน่วยงานของ สกร.ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และห้องสมุดประชาชน โดยตั้งใจจะดำเนินการให้ทั้ง 3 ส่วนทำงานสอดรับกัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทุกช่วงวัยของคนไทย จัดหลักสูตรที่ทันสมัย เช่น การทำเกษตรยุคใหม่ เปิดโอกาสให้คนวัยทำงาน นำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพของตัวเอง

ผลลัพธ์การเรียนรู้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ มาเทียบโอน และสะสมหน่วยกิตไว้ในเครดิตแบงก์ หรือธนาคารหน่วยกิตได้ ตามประกาศเรื่องแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากเดิมที่ถูกล็อกด้วยการเรียนตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

อย่างไรก็ตาม การเรียนตามระบบสายสามัญยังคงมีอยู่ แต่จะเพิ่มทักษะอาชีพ เป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ เพราะปัจจุบัน จำนวนเด็กลดลง ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน ไม่ใช่จัดตามความต้องการของสถานศึกษา”

๐ คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่า กศน.เปลี่ยนเป็น สกร.แล้ว?

“ส่วนตัวเข้าใจ เพราะเพิ่งปรับเปลี่ยน ซึ่งภาพจำด้านดีของ กศน.คือ ความยืดหยุ่น การให้โอกาสคน เมื่อปรับมาเป็น สกร.แล้ว มิติความยืดหยุ่นยังต้องคงไว้ ทั้งเรื่องการให้บริการ หลักสูตร ขณะที่กิจกรรมต้องมีความหลากหลาย ตามนโยบาย Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา มิติใหม่ของ สกร.ครูต้องปรับบทบาทจากผู้สอน เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เช่น ผู้เรียนอยากเรียนวิธีทำขนมครก ครูต้องไปหาวิทยากรมาให้ความรู้ เป็นต้น”

๐ แนวทางการส่งเสริมการอ่านเป็นอย่างไร?

“แม้ปัจจุบันหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะเข้ามามีส่วนในการเรียนรู้มากขึ้น แต่สำหรับพื้นที่ห่างไกล อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น หนังสือกระดาษ ยังจำเป็น เพราะประชาชนยังติดการอ่านจากหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ส่วนกลุ่มที่ติดการอ่านจากโซเชียล หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดที่มีความพร้อม จะมีบริการ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปใช้บริการสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น หนังสือพิมพ์ วารสาร ยังจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะในห้องสมุดต่างๆ ที่ยังเห็นประชาชนอ่านหนังสืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วารสาร นวนิยาย ไปจนถึงหนังสือที่เกี่ยวกับการให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เพราะมีความแม่นยำ ได้รับการคัดกรองก่อนตีพิมพ์ ต่างกับสื่อออนไลน์ ที่มาเร็ว ไปเร็ว ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก

ที่สำคัญ อยากพัฒนาห้องสมุดในสังกัด สกร.ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกช่วงวัย ไม่ใช่แต่ที่อ่านหนังสือ แต่ต้องมีมิติในเรื่องการส่งเสริมความรู้ในเรื่องอื่นๆ ต้องจัดกิจกรรมให้ชุมชน ผู้สูงอายุ คนวัยทำงานที่อยากทำอาชีพเสริม เช่น การเต้นแอโรบิก การอบรมฝึกอาชีพ ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ใครเป็นปราชญ์ชาวบ้าน มีภูมิปัญญาความรู้ ก็มาสอน มาสืบทอด เป็นกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้ทุกช่วงวัย ส่วนการอ่านหนังสือ ให้เป็นผลพลอยได้จากการที่เชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรม ไม่อยากให้มองเรื่องการอ่านเป็นหลัก หากจะทำเช่นนี้ได้ บรรณารักษ์ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรม ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตามบริบทของพื้นที่ ที่ผ่านมาผมได้ประชุมผู้บริหาร สกร.จังหวัด ขอให้เชิญบรรณารักษ์เข้ามาพูดคุย ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเท่านั้น แต่อยากให้เกิดเป็นวัฒนธรรม การเรียนรู้ตลอดชีวิต การจะไปสู่จุดนั้นได้ ต้องส่งเสริมให้มีการทำต่อเนื่อง”

๐ มีเรื่องใดที่หนักใจบ้าง?

“หนักใจเรื่องบุคลากร เพราะ สกร.มีบุคลากรทั้งระบบกว่า 20,000 คน เป็นข้าราชการกว่า 10,000 คน ส่วนที่เหลือเป็นพนักงานราชการ ขณะนี้ขาดเกือบทุกตำแหน่ง ทั้งครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่สนับสนุนหน่วยจัดกิจกรรมในจังหวัด เบื้องต้นแก้ปัญหาโดยตั้งรักษาการแทน และเร่งเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาอนุมัติกรอบอัตรากำลัง ถ้า ก.ค.ศ.อนุมัติเร็ว ก็จะเร่งจัดสรรอัตราลงไปให้ครบ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายได้เร็วที่สุด

ส่วนครูยังขาดอีกกว่า 1,000 อัตรา อีกทั้ง ยังมีปัญหาครูลาออกไปสอบเป็นครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.เพราะต้องการปฏิบัติหน้าที่สอนเด็กในห้องเรียน ต่างกับการเป็นครู สกร.หรือครู กศน.เดิม จะมีแนวทางการสอนที่แตกต่าง เพราะเด็กจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ทำให้ครูบางคนปรับตัวไม่ได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าครูเหล่านี้เป็นผลผลิตจากการจัดการศึกษาในระบบ แต่ผมไม่โทษครูเหล่านั้น เพราะส่วนตัวตอนเป็นครู กศน.ก็เคยรู้สึกแบบนั้น และเคยคิดจะลาออกเช่นกัน การเป็นครู กศน.หรือครู สกร.ต้องเข้าหาชุมชน เพราะต้องสอนคนทุกช่วงวัย”

๐ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ยังไม่ผ่านรัฐสภา จะมีผลต่อการขับเคลื่อนงาน สกร.หรือไม่?

“ไม่มีผลกระทบ เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะกำหนดเป็นภาพกว้าง ยังแบ่งการจัดการศึกษาเป็นในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เหมือนเดิม แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มองในมิติของการเรียนรู้ ไม่ได้มองมิติด้านการจัดการศึกษา โดยจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่มีคำว่าการศึกษา แต่จะมีคำว่าการเรียนรู้ ซึ่งไม่มีรูปแบบ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่กว้างกว่าเรื่องการศึกษาแบบเดิม”

๐ วางแนวทางการแก้ปัญหาภายในที่มีข้อครหาเรื่องการทุจริตอย่างไร?

“ปัญหาเดิมที่เป็นข้อครหา ได้ตรวจสอบ และแก้ไขตามขั้นตอนไปแล้ว ส่วนแนวทางแก้ไขในอนาคต ในฐานะผู้บริหารจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ยึดหลักความถูกต้อง ยุติธรรม ไม่ใช่หลักความถูกใจ เป็นหลักที่ผมยึดถือมาตลอดการทำงาน ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถเติบโตมาเป็นผู้บริหารได้ เพราะกิเลสของมนุษย์ไม่มีวันพอ ที่สำคัญผมไม่ได้ยึดติด ถ้ามีโอกาสทำ จะทำให้ดีที่สุด ผมคงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ ดังนั้น ถ้ายึดหลักความถูกต้อง ทั้งความถูกต้องในการทำงาน และความถูกต้องในเรื่องของข้อกฎหมายแล้ว จะไม่มีอะไรมาแย้งได้”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image