ดุลยภาค เทียบจัดตั้งรบ.เขมร-ไทย มองสัมพันธ์ 2 ตระกูล ‘ชินวัตร-ฮุน เซน’

ดุลยภาค เทียบจัดตั้งรบ.เขมร-ไทย มองสัมพันธ์ 2 ตระกูล ‘ชินวัตร-ฮุน เซน’

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

“กัมพูชากำลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ “ฮุน มาเนต” บุตรชายคนโตของสมเด็จ “ฮุน เซ็น” คนไทยบางส่วนเห็นข่าวนี้แล้ว บ้างก็มองว่าเป็นแต่เพียงการส่งมอบอำนาจจากพ่อไปสู่ลูกเท่านั้น บ้างก็เห็นว่าฮุน เซ็น ควรลงจากอำนาจตั้งนานแล้วเพราะอายุมากและครองอำนาจยาวไป

พูดอีกแง่ คือ ถึงเวลาที่ผู้นำแบบเผด็จการเลือกตั้งต้องม้วนเสื่อกลับบ้านได้แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ การผลัดใบผู้นำเขมรรอบนี้ ฮุน เซ็น น่าจะยังมีอำนาจในการควบคุมลูกชายเขาและกำกับเส้นทางเปลี่ยนผ่านการเมืองต่อไป ฮุน มาเนต ก็พร้อมสานต่อภารกิจบิดา ไม่น่าจะแตกแถวนัก

Advertisement

ดังนั้น ลักษณะการเมืองไฮบริดแบบเผด็จการเลือกตั้งที่ตกอยู่ใต้โครงข่ายอุปถัมภ์ของตระกูลฮุน ก็น่าจะวิวัฒน์สืบต่อไป กระนั้นก็ดี ด้วยต้นทุนของนายฮุน มาเนต ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี จบปริญญาตรี โท เอก ด้านการทหารและเศรษฐศาสตร์จากตะวันตก รวมถึงกุมตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก็น่าจะทำให้เขากลายเป็นผู้นำเขมรที่โดดเด่นขึ้นมาทั้งในแวดวงยุทธศาสตร์ความมั่นคงและบนเวทีระหว่างประเทศ

จังหวะที่ฮุน มาเนต เริ่มเรืองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ล้วนสัมพันธ์กับจังหวะที่เมืองไทยกำลังโหวตเลือกนายกคนใหม่พอดี แต่ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ก็มีหลายเรื่องที่รออยู่ เช่น การแย่งชิงมรดกวัฒนธรรมบนฐานชาตินิยม ข้อพิพาทเขตแดน อาทิ การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ และการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีนในเขตอ่าวไทยและแปซิฟิก

โดยถ้าพูดเจาะจงเฉพาะการพัฒนาความสัมพันธ์กับกัมพูชาเท่านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ของไทยก็อาจจะต้องประกอบไปด้วยกลุ่มมชนชั้นนำที่มีคอนเน็กชั่นที่เชื่อมต่อไปถึงฮุน เซ็น และ ฮุน มาเนต ได้ เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยระงับความขัดแย้งทวิภาคีได้ตามสไตล์การทูตอุษาคเนย์ที่เน้นความสนิทสนมของผู้นำในการแก้ไขปัญหาด้วยโสดหนึ่ง

Advertisement

ในโครงสร้างอำนาจการเมืองไทย ตระกูลชินวัตรมีสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับตระกูลของสมเด็จ ฮุน เซ็น ฐานอำนาจพรรคภูมิใจไทยก็ครอบคลุมจังหวัดอีสานใต้ติดชายแดนเขมร ขณะที่กลุ่มทหารสายบูรพาพยัคฆ์ และ 3 ป.รวมถึงขุมอำนาจของอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และ 2 ก็เคยมีประสบการณ์รับมือความขัดแย้งทางทหารกับกัมพูชา

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยที่โยงใยกับเรื่องการจัดสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างไทยกับเขมรผ่านกรอบวิเคราะห์ชนชั้นนำ ก็คงจะต้องพิจารณาถึงมิตรภาพระหว่างคุณทักษิณกับฮุน เซ็นด้วย รวมถึงโครงข่ายเศรษฐกิจการค้าชายแดนและความทรงจำในศึกปราสาทพระวิหารครั้งล่าสุด เพราะในห้วงนั้น ฮุน มาเนต เคยนำทัพเข้าปะทะกับทหารไทยแบบดุเดือด

รอลุ้นกันครับว่าขณะที่กัมพูชากำลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หน้าตารัฐบาลชุดใหม่ของไทยจะเป็นอย่างไร แล้วรัฐบาลใหม่ของทั้งสองประเทศนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่มุมใดบ้าง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image