บทนำ : ไม่รวมต่างด้าว

บทนำ : ไม่รวมต่างด้าว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86(1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย เป็นผลให้ กกต.ต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากจำนวนราษฎรรวมลดลงเมื่อตัดราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก

คำวินิจฉัยดังกล่าวผ่าน กกต.ด้วยมติเอกฉันท์ ได้รับการตอบรับทางบวกทางแวดวงการเมือง เพราะเป็นข้อสงสัยมายาวนานว่า ทำไมกฎกติกาในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จึงให้นับเอาตัวเลขคนต่างด้าวในประเทศ รวมเป็นฐานตัวเลขประชาชน แต่คนต่างด้าวที่ถูกนับรวมเป็นประชากรไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้น่าสงสัยว่าการนับรวมคนต่าวด้าวเข้ามาเพื่อประโยชน์อะไร เพราะผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเพิ่มลด ส.ส.ในหลายจังหวัด

ภายหลังคำวินิจฉัยดังกล่าว สำนักงาน กกต.เผยแพร่รายละเอียดการคำนวณราษฎร 162,766 คนต่อ ส.ส. 1 คน โดยคำนวณเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย ส่งผลให้จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, สมุทรสาคร มี ส.ส.ลดลง เชียงรายจะมี ส.ส. 7 คน เชียงใหม่จะมี ส.ส. 10 คน ตาก 3 คน สมุทรสาคร 3 คน และจังหวัดอุดรธานี, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช และปัตตานี จะมี ส.ส.เพิ่มขึ้น โดยอุดรธานีจะมี ส.ส. 10 คน ลพบุรี 5 คน นครศรีธรรมราช 10 คน และปัตตานี 5 คน

ทั้งนี้ กกต.ต้องปรับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่และเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4-13 มี.ค. จากนั้นวันที่ 14-15 มี.ค.เป็นช่วงที่ กกต.พิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง และวันที่ 16 มี.ค. ประธาน กกต.ลงนามในประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง หากมีกำหนดการทำงานออกมาในลักษณะนี้คาดว่าจะเกิดการยุบสภาในระหว่างวันที่ 17-22 มี.ค.นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image