ส่อง‘กระจายอำนาจ’ พรรคไหนชูธงหาเสียง

ส่อง‘กระจายอำนาจ’ พรรคไหนชูธงหาเสียง

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการวิเคราะห์นโยบายการหาเสียงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของพรรคการเมืองต่างๆ และมองทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในอีก 4 ปีข้างหน้าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

นโยบายกระจายอำนาจที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้หาเสียงนั้น ก็มีตั้งแต่เพิ่มเงินให้ อบต.แบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กำลังทำ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็มองได้ว่าเป็นเสมือนการซื้อใจ หรือซื้อเสียงของผู้นำชุมชนทั่วประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่าถ้าคุณจะเพิ่มเงิน อบต.ในช่วงที่กำลังใกล้จะเลือกตั้ง หมายความว่าคุณต้องการเสียงจากท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้นำชุมชน ถ้าเรามองถึงความเข้มข้นของการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีการเมืองการปกครองท้องถิ่น แบบมีคุณภาพและมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยม

ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกในสังคมไทยที่ยืนหนึ่งมาโดยตลอด ในการที่จะผลักดันให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างชัดเจน และตอนนี้ก็กลายเป็นพรรคแรกที่นำเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศ

ในขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะเริ่มรณรงค์เรื่องนี้อยู่บ้าง แต่เราจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย เน้นไปทางด้านความพยายามแก้ไขเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน มากกว่าที่จะมุ่งในเรื่องของการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิและการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเป็น 2 พรรคการเมืองที่ไปไกลมากในสังคมไทย เสมือนเป็นพรรคที่จะชี้นำการสร้างวิสัยทัศน์ (vision) ในการปกครองท้องถิ่น ในแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอำนาจทางการเมือง

Advertisement

ในขณะที่พรรคดั้งเดิมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เคยมีความก้าวหน้าที่สุดเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วในการทำให้ท้องถิ่นได้มีการปกครองตนเอง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ผมก็คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์อ่อนด้อยเรื่องนี้ไปอย่างมาก ดูเหมือนจะละเลยและมองข้ามในการเสนอประเด็นด้วย

ส่วนการเปิดตัวของพรรคเป็นธรรม ผมเห็นว่าเป็นพรรคที่มุ่งเน้นเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่ด้วยความที่ 1.เป็นพรรคใหม่ 2.เป็นพรรคที่ถ้าพูดถึงในแง่สนามคือ ไม่โดดเด่น และน่าเชื่อได้ว่าอาจจะไม่บรรลุความสำเร็จในด้านการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง หรืออาจจะได้ที่นั่งมาเพียงนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนเสริมในการที่จะรณรงค์ให้สังคมไทยได้เข้าใจและเข้าถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญมากๆ คือประเทศนี้เป็นประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจ และเผด็จการทหารมานับศตวรรษ ดังนั้น กลายเป็นเราต้องคุยกันตลอดเวลา เรื่องว่าทำไมประชาชนต้องเลือกตั้ง ทำไมต้องมีการปกครองท้องถิ่นแบบเลือกตั้งโดยประชาชน กลายเป็นว่าเราต้องมาเสียเวลาในการอธิบายและถกเถียงเรื่องพวกนี้ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตยแล้ว เรื่องพวกนี้ไม่ต้องมาเสียเวลาในการอธิบาย แต่เขาจะนำไปสู่การใช้เวลาในการพัฒนาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่า อันนี้เป็นความน่าเศร้าโศกของประเทศไทยทีเดียว

รูปแบบการกระจายอำนาจที่วาดหวังกับรัฐบาลใหม่ ผมคิดว่าตอนนี้ในระดับ 4 ปี เราคงคาดหวังว่าท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ หรือว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แค่มุ่งเรื่องนี้ก็หมดไปแล้ว อย่างที่สอง ผมว่าควรพิจารณาให้มากยิ่งขึ้นว่าในแต่ละท้องถิ่น เช่น ตำบล เราควรจะมีผู้นำ 2 หัว 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้นำ อบต. กับกลุ่มผู้นำที่เป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเท่ากับว่าประเทศนี้กำลังมี 1 ตำบล 2 หัว และเราต้องจ่ายงบประมาณในการที่จะจ้างบุคลากรเหล่านี้ถึง 2 เด้ง ในขณะที่ประเทศของเรามีงบประมาณจำกัด และเช่นเดียวกันในระดับจังหวัดเราควรมี 1 จังหวัด 2 หัวแบบนี้หรือไม่ คือหัวหนึ่งเป็นผู้ว่าฯแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย กับหัวที่เป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเท่ากับว่าเราสูญเสียงบประมาณไปเพื่อผู้นำ 2 หัว ไม่ใช่หัวใดหัวหนึ่ง

ดังนั้น แนวทางของการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดจึงเป็นแนวทางออกของประเทศที่เราจะสามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะทำให้การรวมศูนย์อำนาจ ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งบริบทของมันนั้นจะทำให้เยาวชนยุคหลังจากเรา มีงานทำในบ้านเกิด ไม่ใช่จบแล้วก็ต้องดิ้นรนเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งมีแสงไฟสว่างไสวที่สุดของประเทศไทย มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเดินตามแนวทางของศตวรรษที่ผ่านมา

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เ มื่อพิจารณานโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว เห็นว่าหลายพรรคยังไม่กล้าจะทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ดูไปแล้วมีพรรคการเมืองเดียวคิดว่าชัดเจนแล้ว หากมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้คือ การจัดการอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น คือ พรรคก้าวไกล เพราะได้เรียนรู้ถูกผิดมาแล้วหลายพื้นที่และตกผลึกในเรื่องการกระจายอำนาจที่พรรคก้าวไกลต้องการคือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครบทุกจังหวัด

เรื่องนี้จะมีแรงต่อต้านจากข้าราชการส่วนภูมิภาคแน่นอน โดยเฉพาะข้าราชการในกรมการปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดจังหวัด ปลัดอำเภอ จะมีการต่อต้านแน่ เพราะว่าทำให้พวกเขาเหล่านั้นเสียผลประโยชน์ แต่เชื่อว่าประชาชนโดยรวมจะให้การสนับสนุนแนวคิดของพรรคก้าวไกล

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย เมื่อเจอแรงกดดันในเรื่องการกระจายอำนาจ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีนโยบายออกมาจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่จะเลือกตั้งจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน พยายามที่จะไม่ฝืนกระแสสังคม แต่ก็ไม่อยากทะเลาะเบาะแว้งกับข้าราชการ โดยเฉพาะในสายปกครอง เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียง เลยออกนโยบายในรูปแบบการประนีประนอม ทำให้มองเห็นว่าการเรียกร้องของสังคมในเรื่องกระจายอำนาจมีความจำเป็นจริงๆ เพื่อไทยก็ต้องยอม

นโยบายของพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่มิติของการเมืองการปกครอง แต่เป็นมิติการกระจายอำนาจบนทางเศรษฐกิจ คือ การกระจายอำนาจในเรื่องภาษีท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงก็คือ การหลั่งไหลอพยพของประชาชนมาทำงานในเมือง หรือศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่บ้านเกิดเมืองนอนของประชาชนที่อพยพมา อาจจะไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากเงินภาษีไม่พอ การพัฒนาไม่เป็นรูปธรรม เพราะยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง จึงได้เสนอในเรื่องภาษีท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจคือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาจากต่างจังหวัดอพยพเข้าเมือง มีเงินมีทองและมีโอกาสที่จะจ่ายภาษีกลับไปท้องถิ่นซึ่งเป็นบ้านเกิด เพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้ไปพัฒนาท้องถิ่น เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นที่มองเห็นชัดเจนคือ 3 พรรคที่กล่าวมาซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไป

แต่พรรคอื่นๆ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์น่าผิดหวังมาก เพราะก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์มีความโดดเด่นสนับสนุนในแนวทางในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ระยะหลังแนวทางนี้จะลดลงไป ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก ส่วนพรรคอื่นๆ ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องจะกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

ช่วงนี้หากมองในเรื่องยุทธศาสตร์ทางการเมือง บางพรรคการเมืองไม่อยากจะเป็นแกนนำในเรื่องกระจายอำนาจ แต่ต้องการเข้าร่วมเท่านั้น อาทิ พรรคเสรีรวมไทยจะเน้นไปในเรื่องการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชั่น การต่อสู้กับระบอบรัฐประหาร จึงเห็นว่าเรื่องกระจายอำนาจไม่สำคัญ หรือพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เน้นนโยบายไปที่สวัสดิการคนแก่ หวยคนชรา โดยมองไปที่กลุ่มเป้าหมายทางการเมือง นโยบายการเปลี่ยนแปลงระยะยาวคงไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะคิดในเรื่องผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระยะยาวทางการเมือง

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ร ะดับการกระจายอำนาจมีหลายระดับหลายวิธีการ ดังนั้น นโยบายการกระจายอำนาจของหลายพรรคการเมืองที่ประกาศออกมากับความพยายามผลักดันเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมาจึงพอจะทำให้เห็นโอกาส 4 ปีข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจได้หรือไม่

ตั้งต้นจากผลการศึกษาในเชิงประจักษ์พบว่าประเทศไทยมีการกระจุกตัวทั้งอำนาจ ทั้งงบประมาณ ทั้งสิทธิในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น กล่าวคือ อำนาจการบริหารงานแม้มีการตั้ง อปท.กระจายออกไปทั่วประเทศแต่การทำโครงการต่างๆ ยังต้องขออนุมัติจากนายอำเภอเสียก่อน ภาพการกระจายอำนาจก็ยังมีกลิ่นอายการแบ่งอำนาจของประเทศกลุ่มสังคมนิยม

ส่วนงบประมาณพบว่าเงินภาษีที่เก็บจากทั่วประเทศแต่ถูกใช้จ่ายเพื่อกรุงเทพมหานครกว่าร้อยละ 80 จึงมีสัดส่วนการเจริญเติบโตกว่าจังหวัดอื่นๆ แบบก้าวกระโดด การกระจายงบประมาณเพื่อให้ท้องถิ่นพัฒนาตัวเองก็ควรกำหนดสัดส่วนเสียใหม่ เพราะหากกระจายแต่อำนาจแต่ไม่มีเงินก็ทำอะไรได้ไม่มาก ต้องแบมือขอเงินตัวเองที่ถูกดึงมาส่วนกลางเพื่อไปพัฒนาตัวเองซึ่งฟังดูย้อนแย้งที่ต้องขอเงินตัวเองในกระเป๋าเพื่อนซึ่งนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างไม่เคยรับรู้ว่าห่างออกไปอีก 600 กิโลเมตรต้องการอะไร หรือวันดีคืนดีก็ได้สิ่งที่ตนไม่อยากได้ เช่น สนามเด็กเล่นที่ตามมาด้วยปัญหาการคอร์รัปชั่น หรือช่วงโควิด-19 ระบาดหนักที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นต้องการจัดหาวัคซีนแก่ประชาชน แต่ส่วนกลางซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดประชาชนก็ไม่ได้ใส่ใจ นั่งกอดอำนาจแน่นจนคนตายเป็นใบไม้ร่วงจึงยอมปล่อยอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีน หรือเครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์

หรือแม้แต่การบริหารราชการก็แล้วแต่เวรแต่กรรมที่ส่วนกลางจะกรุณาเลือกและส่งลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะส่งคนที่คุมฐานการเมืองอันเป็นผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจจากส่วนกลางมากกว่าการส่งคนลงมาทำงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ และพอถึงเวลาก็ย้ายวนไปตามวาระไม่ต้องผูกพันกับพื้นที่ ความรับผิดชอบต่อประชาชนก็ไม่เท่าระบบการที่มีผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนก็อาจไม่ได้รับความไว้วางใจเลือกตั้งเข้ามาอีก

เมื่อทำเช็กลิสต์จากหัวข้อข้างต้นก็จะพบว่านโยบายของหลายพรรคการเมืองมีระดับของนโยบายที่แตกต่างกัน เช่น พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อม ในขณะที่ก้าวไกลเลือกตั้งทุกจังหวัด หรือพรรคเพื่อไทยจะลดอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค ในขณะที่พรรคก้าวไกลจะยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและให้ส่วนภูมิภาคมีอำนาจเต็มแบบประเทศญี่ปุ่น หรือกรณีสัดส่วนงบประมาณ หลายพรรคยังไม่กล่าวถึงประเด็นนี้ แต่ก้าวไกลจะมีการเพิ่มงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าร้อยละ 35

ก่อนจะมองไป 4 ปีข้างหน้าเพื่อวาดฝันจากนโยบายการกระจายอำนาจจากการหาเสียง ก็ต้องถอดบทเรียนจาก 4 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่ามีแต่พรรคอนาคตใหม่ที่สนใจและจริงจังกับการกระจายอำนาจ แต่กฎหมายก็ไม่สามารถกะเทาะผ่านทัศนคติของฝ่ายอำนาจนิยมซึ่งถือเป็นกับดักการกระจายอำนาจออกไปได้

4 ปีหลังการเลือกตั้งกับการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายอำนาจก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจการบริหารประเทศจะตกอยู่ในมือของใคร หากตกอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ก็จะอยู่กับที่ หากอำนาจการบริหารประเทศตกอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเห็นภาพการค่อยเป็นค่อยไปในการกระจายอำนาจ แต่หากพรรคก้าวไกลก้าวเข้าสู่อำนาจเชื่อว่านโยบายที่ถูกประกาศออกมาพร้อมโรดแมปก็น่าจะเกิดขึ้นได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image