จุดแข็ง-จุดขาย ‘บิ๊กตู่-อิ๊ง’ แคนดิเดตนายกฯ

จุดแข็ง-จุดขาย ‘บิ๊กตู่-อิ๊ง’ แคนดิเดตนายกฯ

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ต้องยอมรับว่ากระแสของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่มาจากอุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กับนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เป็นตัวยืน

อุ๊งอิ๊งมีจุดเด่นคือคนรุ่นใหม่ ความเป็นผู้หญิง สิ่งสำคัญคือสัญลักษณ์ในการเชื่อมจิตวิญญาณแห่งพรรคเพื่อไทยคือเป็นตัวแทนของตระกูลชินวัตร

จุดอ่อนคือไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง การบริหารจัดการทางการเมือง และไม่อาจทนต่อกระแสกดดันทางการเมือง

Advertisement

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ส่วนในทางการเมืองนั้นไม่มีบทบาทในทางสาธารณะ

แต่มีบทบาทเบื้องหลังทางการเมืองในฐานะคีย์แมนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยมานาน

จุดอ่อนคือยังขาดเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองในพรรคเพื่อไทยค่อนข้างมาก และต้องขยายฐานไปยังประชาชนให้มากขึ้นอีกด้วย

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและมีสิทธิเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง เพราะว่าหัวหน้าพรรคไม่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะตอบคำถามสังคมไม่ได้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีความชอบธรรมที่จะถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หากถามว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไหมก็ต้องมองว่าสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็เป็นนายกรัฐมนตรี จุดเด่นเป็นผู้ใหญ่ในแวดวงการเมือง มีบารมีในทางการเมือง มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดในประเทศไทย ณ เวลานี้

หากมองในเรื่องอายุ และสุขภาพ ภาพลักษณ์ทางสังคม อาจจะไม่เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนในวงกว้าง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน การวางตัว บุคลิกภาพในทางการเมืองมีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการเป็นผู้นำทางการเมือง ในภาวะการเมืองที่แตกออกเป็นหลายกลุ่มหลายก้อน คนที่มีลักษณะประนีประนอม จะมีความได้เปรียบ มีต้นทุนทางการเมืองที่ดี มีเครือข่ายกับกองทัพ

แต่พรรคภูมิใจไทยยังไม่เป็นพรรคที่อยู่ในกระแสแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล บุคลิกตัวผู้นำได้ แต่พรรคยังต้องใช้เวลาพอสมควร

ช่วงที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยมีความโดดเด่นจึงถูกดิสเครดิตรอบด้าน ในเรื่องกัญชา รถไฟฟ้าสายสีส้ม มองว่านายอนุทินสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากไม่ถูกดิสเครดิต อาจจะทำให้นายอนุทินโดดเด่นขึ้นมาได้ และเหมาะสมที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเป็นนายกรัฐมนตรีได้แน่นอนอีกสมัย เพราะมีประสบการณ์ ถ้ามีเสียงมากพอ ได้เปรียบในเรื่องกลไกของรัฐ มีองคาพยพตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ กลไกของข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งมาสมัย คสช. มีพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมสนับสนุนช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานไม่สามารถชนะความรู้สึกของประชาชนได้

ประการต่อมามีปัญหาในเรื่องการสื่อสารทางการเมือง ที่ไม่ยอมปรับตัวเลย ยิ่งทำให้คะแนนนิยมในส่วนนี้ตกต่ำลงไป

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องยอมรับว่าไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร แต่มีความสามารถในการสร้างอุดมคติร่วมกับคนรุ่นใหม่ ที่อยากให้เห็นการเมืองไปเป็นแบบนั้น แบบนี้ สามารถสร้างความหวัง และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ ปัญหาของพรรคก้าวไกลคือจุดยืนทางการเมือง ที่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปในเรื่องโครงสร้าง อาจจะทำให้การขับเคลื่อนจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในเวลานี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้นทุนของพรรคช่วงนี้ตกต่ำ รวมทั้งมีความแตกแยก จึงทำลายความน่าเชื่อถือว่า ขนาดการบริหารภายในพรรคยังเป็นแบบนี้ มองแล้วจะมีความสามารถแค่ไหนในการจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ

อย่างไรก็ตาม อยากให้มองเสียงของ ส.ว. 250 เสียงพรรคที่มีความได้เปรียบมากในการที่อาศัย ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีคือพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนกำอยู่ในมือ ถ้า 2 พรรคนี้ร่วมมือกันยิ่งทำให้ ส.ว.เป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้นทั้ง 250 เสียง ทำให้ฝ่ายแลนด์สไลด์ที่จะก้าวเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารยากขึ้น

หากมองพรรคเพื่อไทยต้องการเสียง ส.ว.สนับสนุน จะต้องประเมินสถานะในความเป็นจริงคือ จะต้องร่วมมือกับพลพรรคที่มี ส.ว.หรือพรรคร่วมคือพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ในการเป็นรัฐบาลที่ไม่ต้องการพึ่งพา ส.ว. ซึ่งจะเป็นสูตรที่จะสอดคล้องกับสมการความเป็นจริงมากที่สุด

ส่วนโพลนิด้าที่ระบุว่าอุ๊งอิ๊งมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อุ๊งอิ๊งจะต้องเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง เว้นแต่จะปล่อยโอกาส โดยอ้างว่าต้องลาคลอดจึงทำให้มองเห็นว่าตระกูลชินวัตรยังทรงอิทธิพลในการเมืองไทย

นายพิธาอยู่ในอันดับ 2 ก็มีผลมาจากการทำตลาดการเมืองเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองที่กล่าวมาทำตลาดการเมืองได้เก่งมาก และยังเป็นการตอบโจทย์และเติมเต็มที่พรรคการเมืองอีกฟากหนึ่งไม่มี

ส่วนอันดับ 3 คือ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนที่ได้ส่วนใหญ่จะมาจากพวกอนุรักษนิยม รองลงมาวาทกรรมในเรื่อง ชาติ สถาบัน พระมหากษัตริย์

ส่วนกระแสของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น อยู่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้าทางการเมือง ที่จะไปดิสเครดิตช่วงท้ายๆ ก่อนการเลือกตั้ง อาทิ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาชู้สาว ปัญหาคอร์รัปชั่น หากออกมาช่วงท้ายจะมีผลต่อคะแนนความนิยมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงพรรคการเมืองนั้นๆ

สำหรับผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จะต้องอยู่ในความเป็นจริง จะต้องเป็นบุคคลที่เชื่อมโยงได้ทั้ง 2 ฝ่าย มีเครือข่าย มีคอนเน็กชั่น มีอำนาจบารมีทางการเมือง มีความชอบธรรมทางการเมือง และบุคคลนั้นสามารถจัดการความเป็นจริงทางการเมืองได้

ผู้นั้นจึงจะเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีกับสถานการณ์การเมืองที่เป็นไปในขณะนี้

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯของพรรครวมไทยสร้างชาติ จุดแข็ง คือคาแร็กเตอร์เป็นทหารเก่า ซื่อสัตย์ สุจริต รักชาติ และโพลหลายๆ สำนักจะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีคะแนนนิยมอยู่ในท็อป 3เพราะเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มพลังอนุรักษนิยม คนที่จะชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์คือคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

แต่จุดอ่อนปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่มานานตั้งแต่การรัฐประหารปี’57 เรื่องที่ไม่ดีก็จะมีมากเมื่อเทียบกับพรรคอื่นที่กำลังส่งนักการเมืองหน้าใหม่ที่มาแข่งขันกัน เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เกิดมาเกือบทศวรรษเราก็จะนึกถึงหน้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนแรก ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ

พรรคพลังประชารัฐแคนดิเดตคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อก่อนจะมีลักษณะทหารการเมือง แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมาก่อนยุบสภา พล.อ.ประวิตรกำลังสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ในฐานะที่เป็นโซ่ข้อกลาง

เป็นทหารที่เข้าได้กับทั้งฝั่งนักการเมือง นักเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นกลุ่มทหารที่มีความใกล้ชิดกับพลังอนุรักษนิยม กลุ่มชนชั้นนำในประเทศที่อาจจะไม่ชอบประชาธิปไตย

ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรเสนอคาแร็กเตอร์ตัวเองซึ่งเข้าได้กับทุกกลุ่ม แต่คาแร็กเตอร์นี้ต้องยอมรับว่าขายได้ยาก ฉะนั้นจะพบว่ากระแสแคนดิเดตนายกฯในหลายๆ โพล พล.อ.ประวิตรจะอยู่รั้งท้าย

แตกต่างจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย อนุทินไม่ได้มีกระแสขนาดนั้น แต่ด้วยโครงสร้างของพรรค ภท.ที่ใช้ฐาน ส.ส.เขตเป็นหลัก ทำให้เกิดความเข้มแข็งของพรรค ซึ่งอาจถูกมองว่าพรรค ภท.เป็นพรรคอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย (พท.)

แคนดิเดตนายกฯของพรรคประชาธิปัตย์ขอละไว้ในฐานที่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในการดูแลโครงสร้างพรรค ปชป.ยังไม่สามารถรักษาเสถียรภาพในพรรคได้ เพราะฉะนั้น พรรค ปชป.ต้องหาจุดเปลี่ยนเกมตรงนี้ มิเช่นนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะซ้ำรอยปี’62 ถ้ายังหาผู้นำที่เข้มแข็งอย่างชัดเจนไม่ได้

ด้านพรรคฝ่ายค้านพรรคที่โดดเด่นและเป็นกระแสมากที่สุดก็หนีไม่พ้น พรรคเพื่อไทย ปัญหาของพรรคนี้คือเราไม่รู้ว่าแคนดิเดตนายกฯเป็นใคร เพราะไม่ได้ประกาศลำดับออกมา โดยคนที่เป็นเบอร์หนึ่งจะบอกถึงลักษณะของพรรคว่าจะเดินไปทางไหน ถ้าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรค พท.ก็จะกลับไปเหมือนเดิมซึ่งจุดอ่อนคือเป็นพรรคของตระกูลชินวัตรที่จะให้พรรคอื่นมาทิ่มแทงแน่ๆ ในทางกลับกัน ถ้าให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนว่าคะแนนเสียงของคนที่ยังไม่ไว้ใจตระกูลชินวัตรแต่อยากเลือก พรรค พท.ก็จะมาสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

อีกพรรคคือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งสภาวะตอนนี้ลักษณะคล้ายๆ กับ พรรค ปชป.การเปลี่ยนผ่านหัวหน้าพรรคมาเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราจะพบว่ามันขาดลักษณะของผู้นำที่แท้จริงของพรรค คาแร็กเตอร์ของผู้นำก็จะไม่โดดเด่น เพราะฉะนั้น ก.ก.อาจจะส่งคนอื่นเข้ามาเพื่อให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หลังจากยุบสภาก็เป็นช่วงเวลาที่นับไปสู่วันเลือกตั้ง แต่เส้นทางนับจากนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางสู่นายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเป็นจุดอ่อนมากกว่าจุดขายเพราะช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างภาพจำซ้ำๆ แก่ประชาชน เช่น ภาพการตอบคำถามการแก้ปัญหากรณีผักแพง ท่านก็ตอบว่าแก้ปัญหาด้วยการให้ทหารปลูก หรือการตอบคำถามสื่อมวลชนแบบอำนาจนิยม เป็นต้น และจุดแข็งที่เคยเป็นผู้นำความสงบมาสู่สังคมก็หมดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จุดแข็งมากของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ที่สนามเลือกตั้ง หากอยู่ที่การมี ส.ว.อยู่ในมือ ซึ่งก็ต้องสอบผ่านให้ได้ ส.ส. 25 คนในสนามเลือกตั้ง ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะปริ่มน้ำ

หันไปที่พรรคเพื่อไทยที่ชูนโยบายแลนด์สไลด์ 310 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นเส้นทางที่ชู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายก จึงเป็นไปได้ยาก แต่หากจะจับสัญญาณพรรคเพื่อไทยก็จะพบว่ามีท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่มีจำนวน ส.ส.หากแต่มี ส.ว. จำนวนหนึ่งที่พร้อมโหวตนายกฯสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ ส.ว.ที่ในสังกัด พล.อ.ประวิตร อาจวางเงื่อนไขในแง่ตัวบุคคล ดังนั้นเพื่อไทยจึงมีนายเศรษฐา มาเป็นตัวเลือกให้กับ ส.ว.

หันไปทางพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายที่รับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปากท้องที่มีภาพลักษณ์ประชานิยมมากนัก เข้าทำนองขายอุดมการณ์พรรค แน่นอนว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงย่อมโดดเด่นตรงจริตคนรุ่นใหม่ หรือเขตเมืองของจังหวัดต่างๆ แต่ความน่าจะเป็นในการไปสู่ดวงดาวน่าจะยากบนสมมุติฐานที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะขาด

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย ที่ตกอยู่ในสายธารแห่งวิบากกรรม ปัญหารุมเร้าหลายทาง ยิ่งทำให้โอกาสเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯรัฐมนตรียากขึ้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพิจารณาจากผลโพลก็น่าตกใจอยู่พอสมควรที่พรรคได้รับการสนับสนุน แต่หัวหน้าพรรคเรตติ้งไม่กระเตื้องชนิดตกขอบกระดาษเอสี่ ซึ่งความเป็นไปในการเป็นนายกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็น่าจะยาก

หากมองไปที่ผลโพลที่ น.ส.แพทองธารชินวัตร นำมาอันดับหนึ่ง ซึ่งตีความได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการให้เป็นนายกฯก็ตาม แต่ความบิดเบี้ยวของกติกาก็ยังมี ส.ว.ที่เป็นเงื่อนไขบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนถัดไปของประเทศ จึงไม่ใช่ภาพสะท้อนผ่านการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หรือคะแนนเสียงอันท่วมท้น หากแต่มีปัจจัยในมือดีลเมกเกอร์ทางการเมืองที่จะดึง พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ปฏิสนธิและทำคลอดเหล่า ส.ว.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image