‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ – รบบนจุดแข็ง สู้ศึกเลือกตั้ง

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

หมายเหตุ – สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงนโยบายของ ชพก.ในการสู้ศึกเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

⦁เลือกตั้งรอบนี้ชพก.มีอะไรเป็นจุดขาย?

นับตั้งแต่ตั้งพรรคมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรื่องเศรษฐกิจคือภาพค่อนข้างชัดเจนของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นผู้นำเรื่องนี้ สมัยท่านเป็นนายกฯ เศรษฐกิจของประเทศดีมาก จีดีพีเติบโตเกิน 10% 3 ปีซ้อน คัมภีร์ทางเศรษฐกิจจากยุคท่านชาติชาย ยังเป็นตำรับตำราถูกถ่ายทอดมาชั่วอายุคน มาถึงคนรุ่นผมแล้วก็คนรุ่นปัจจุบัน วันนี้เรามีทีมงานด้านเศรษฐกิจมาเพิ่ม อย่าง กรณ์ จาติกวณิช อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เสริมด้วยทีมที่มีอยู่เดิม ทั้ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูลเทวัญ ลิปตพัลลภ พ.อ.วินัย สมพงษ์ เป็นผู้มีประสบการณ์ รวมถึงตัวผมเองผ่านงานเศรษฐกิจมาเยอะ

ดังนั้น ด้วยบุคลากร ด้วยดีเอ็นเอเรื่องเศรษฐกิจ ประกอบกับบุคลิกการทำการเมืองไม่ขัดแย้ง เล่นการเมืองประนีประนอม ไม่สร้างศัตรู เข้าได้กับทุกฝ่าย อยู่ที่ไหนก็ไม่สร้างปัญหาให้การเมืองต้องเผชิญหน้า คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ ทั้งหมดจึงถือเป็นจุดแข็งสำคัญ เป็นจุดขายของพวกเรา ชพก.ในการเลือกตั้งรอบนี้

Advertisement

⦁รูปธรรมของการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่วางไว้?

ชพก.เปรียบเสมือนนิชมาร์เก็ตเป็นตลาดเฉพาะ ไม่เหมือนพรรคใหญ่เป็นภัตตาคารใหญ่ๆ มีเมนูอาหารครบ ฉะนั้นเมื่อเราเป็นนิชมาร์เก็ต เมนูอาจจะน้อยหน่อย แต่จะเป็นเมนูเฉพาะ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจล้วนๆ ตามที่เราถนัด ออกแบบไว้ 2 ส่วน เป็นนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กับนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวมของภาคอีสาน ฐานที่มั่นของเรา ทั้ง 2 ส่วน ออกแบบโดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน ตัวตน ความเข้มแข็งของประเทศ ตัวแปรจากขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี และสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอก ถ้าต้องรบ เราต้องรบบนจุดแข็ง อย่าไปรบบนจุดอ่อน การรบบนจุดแข็ง เราจะชนะได้มากกว่าการรบบนจุดอ่อน เห็นชัดคือเราเข้มแข็งเรื่องสินค้าเกษตร อาหาร เป็นเมืองอาหารป้อนโลก เข้มแข็งธุรกิจบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว วัฒนธรรม ซอฟต์เพาเวอร์ สิ่งเหล่านี้คือคาแร็กเตอร์เฉพาะ

⦁รบบนจุดแข็งในเรื่องที่ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่?

Advertisement

ใช่ อย่างวันนี้รายได้จากการท่องเที่ยว มีประมาณ 15% ของจีดีพี อุตสาหกรรมการลงทุน 70-80% ของจีดีพี แต่อุตสาหกรรมการลงทุนจากต่างประเทศวันนี้ พฤติกรรมของนักลงทุนเปลี่ยนไป สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อ เราจะหวังการลงทุนเพื่อมากอบกู้ประเทศจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างลำบาก เพราะทุกที่มีปัญหาเหมือนกันหมด สุดท้ายเขาก็ต้องใช้นโยบายชาตินิยม ลงทุนเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจในประเทศเขาก่อน ทำให้เราเสียโอกาส แต่ถ้าพูดเรื่องท่องเที่ยว แค่เปิดประเทศมาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เราเห็นเลยถึงการฟื้นตัว แม้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาแค่ 20 จากกว่า 40 ล้านคน

ชพก.จึงมีนโยบายว่า จะต้องสร้างซอฟต์เพาเวอร์ แล้วก็เอาซอฟต์เพาเวอร์ วัฒนธรรมชาติมาสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ทางด้านการท่องเที่ยว เช่น เมืองไทยเป็นเมืองเวลเนส อุดมสมบูรณ์ ด้านระบบสาธารณสุข แล้วก็ธรรมชาติ หรือหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ ชอบท่องเที่ยวแล้วก็ทำงานไปด้วย เรียกว่า ดิจิทัลโนแมดหรือประเทศใหม่ๆ สนใจประเทศไทย อย่างตอนนี้ตลาดใหญ่น่าสนใจคือ อินเดีย เริ่มขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีดีพี 10% เป็นประเทศเดียวในโลก ประชากรกำลังจะเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ห่างจากไทยเพียงแค่ 3 ชั่วโมง มีพื้นฐานของคนสนิทชิดเชื้อกัน

ชพก.เลยประกาศนโยบายเพิ่มตัวเลข นักท่องเที่ยว 40 ล้าน ต้องทำให้เป็น 2 เท่า 80 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากรใกล้ 70 ล้านคน คนไทย 1 คนดูแลนักท่องเที่ยว 1 คน ทุกคนต้องช่วยกันรับแขก เพิ่มนักท่องเที่ยว เพิ่มรายจ่ายนักท่องเที่ยว จากเคยใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5,000 เพิ่มให้เป็น 6,000 บาท เคยอยู่ 10 วัน ก็เปลี่ยนให้เป็น 12 วันได้หรือไม่ แค่นี้จากเดิม 40 ล้านคน คูณ 10 วัน คูณ 5,000 บาท เท่ากับ 2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนเป็น 70 ล้านคน คูณ 12 วัน คูณ 6,000 บาท ก็กลายเป็น 5 ล้านล้านบาททันที แค่ขยับเพียง 20% เท่านั้น นี่คือตัวอย่าง

หรืออย่างสินค้าเกษตรเราอยู่แนวหน้าของโลก แต่หลักๆ ยังส่งออกเป็นวัตถุดิบ ผ่านการต่อยอดแปรรูปทางอุตสาหกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฉะนั้นถ้าเอาเทคโนโลยีทางอาหารมาเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร แล้วสร้างเอสเอ็มอีเป็นห่วงข้อกลาง มาช่วยกันผลิตสินค้าต้นน้ำยันปลายน้ำ การจ้างงานก็จะเพิ่ม ดังนั้นถ้าเอาเรื่องเกษตร อาหาร ท่องเที่ยวและบริการมาดีไซน์นโยบายให้เชื่อมโยงกัน เราจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

⦁แล้ว ชพก.ดีไซน์นโยบายเหล่านี้ให้เชื่อมกันอย่างไร?

เมื่อเราบอกว่าต้องทำให้เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรมด้านอาหาร โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนดีๆ ต้องมีไว้สนับสนุน ชพก.มีนโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย เป็นเส้นทางหลัก สำหรับ 4 ทิศของประเทศ นอกจากเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว ยังไว้ขนส่งสินค้าเกษตร ขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปตามท่าเรือต่างๆ นอกจากนี้ ต้องดีไซน์เศรษฐกิจใหม่ๆ ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะการดีไซน์เรื่องเศรษฐกิจเฉดสี แบ่งเป็นสีๆ เลย เช่น เศรษฐกิจสีขาว การท่องเที่ยวสายมู ทำให้เป็นธุรกิจท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่งได้ มาเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว

หรืออย่างเศรษฐกิจสีเงิน เรื่องผู้สูงอายุมีสูงถึง 12 ล้านคน เปลี่ยนผู้สูงอายุให้มีมูลค่า หางานให้ทำ ใครรับผู้สูงอายุไปทำงานเราสนับสนุนงบให้ หรือว่าบ้านเรือนผู้สูงอายุ ครอบครัวไหน ชวนพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปอยู่ด้วย ซ่อมบ้านให้เลย 50,000 บาท ทำให้ครอบครัวเข้มแข็งเป็นพลังของประเทศ หรือเศรษฐกิจสีเกรย์ อะไรอยู่ใต้ดิน เช่น หวย แรงงานไม่ถูกกฎหมาย หยิบขึ้นมาทำให้ถูกต้อง ให้เป็นเงินเป็นทอง ตัวเลขคราวๆ ส่วนนี้ มีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

⦁นโยบายเศรษฐกิจสำหรับฐานที่มั่นในภาคอีสาน?

เราคิดเรื่องนี้ไว้เป็นส่วนที่ 2 วันนี้อีสานเปลี่ยนไปทั้งสถานการณ์การเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ภูมิรัฐศาสตร์ และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สมัยก่อน พล.อ.ชาติชายมีอยู่ 3 ประโยคเท่านั้น โคราชประตูสู่อีสาน อีสานประตูสู่อินโดจีน และแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้พลิกแผ่นดินอีสานเลย

3 ประโยคนี้เป็นหลักคิดโดยใช้ความสงบล้อมรอบประเทศ แล้วใช้อีสานเป็นแหล่งผลิตสินค้า จ้างงาน เป็นแหล่งอุตสาหกรรม ผลิตแล้วก็ส่งออก พื้นที่นี้จึงเกิดถนน 4 เลน สร้างนิคม ตั้ง ม.เทคโนโลยีสุรนารี เปิดประตูอีสานสู่ท่าเรือน้ำลึกด้วยการขยายถนน 304 นี่คือวิธีคิดแล้วก็สำเร็จ สมัยนั้นอีสานร่ำรวยมาก ฉะนั้นบริบทและปัจจัยแวดล้อมวันนี้ คล้ายกับเปิดประตูอีสานสู่อินโดจีน ภาค 2 แต่ใหญ่กว่านั้น มีโอกาสมากกว่านั้น เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป มีจีนมาเป็นตัวแปรสำคัญ

วันนี้จีนทำอะไร ตัดสินใจอะไร มีผลไปหมด โดยเฉพาะโครงการสำคัญ เส้นทางสายไหม เชื่อมจีนยุโรปไปแอฟริกา ผ่านทั้งหมด เกือบ 70 ประเทศ แล้วเส้นทางสายไหมอยู่ห่างจากเราแค่เอื้อม เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงมารอเราถึงเวียงจันทน์แล้ว ถ้าเราพัฒนาไม่ว่าจะรถไฟความเร็วสูง หรือมอเตอร์เวย์ข้ามไปหาเวียงจันทน์ได้ เราข้ามไปหาโลกได้ นอกจากเส้นทางสายไหมของจีน เอเปคก็ล้อมรอบไทยอยู่ ความร่วมมือกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีก 6 ประเทศ

สิ่งเหล่านี้คืออีสานสามารถเชื่อมโยงกับโลกได้ ถ้าเราเปลี่ยนอีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ เหมือนทำกับอีอีซี มีกฎหมายเอื้อการลงทุน มีสิทธิพิเศษทางด้านภาษี วีซ่า การจัดซื้อที่ดิน ทำให้อีสานเชื่อมโยงส่วนอื่นๆ อย่างการท่องเที่ยวทุกจังหวัดของอีสานมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีสตรีทฟู้ด มีซอฟต์เพาเวอร์ มีวัฒนธรรม การละเล่น แหล่งโบราณคดี

อีกทั้งวันนี้อีสานทั้งภาคถ้าขุดลงไปใต้ดิน 200-300 เมตร จะพบว่าเป็นแหล่งสะสมโพแทสอันดับ 4-5 ของโลกโพแทสเป็นสินค้าต้นน้ำของอุตสาหกรรม อย่างปุ๋ย เป็นต้น ฉะนั้นเท่ากับเรามีวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในแผ่นดินอีสานด้วย ยิ่งวันนี้อีสานมีท่อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เริ่มดำเนินการสมัย นพ.วรรณรัตน์ ดูแลกระทรวงพลังงาน มาถึงโคราชแล้ว มองไปนอกแผ่นดินเราแล้วมองกลับมาที่ตัวเอง วันนี้เราเข้มแข็งแล้วก็มีความพร้อม

⦁นี่จึงเป็นที่มาของนโยบายโคราชโนมิกส์?

ใช่ โคราชโนมิกส์ มีอยู่ 5 เรื่อง 1.โคราชอีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 2.โคราชอีสานเป็นเมืองท่องเที่ยวอินเตอร์ 3.โคราชเป็นเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย 4.โคราชอีสานเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนโลก และ 5.โคราชน้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้ง และมีระบบน้ำประปาเพียงพอ ทั้ง 5 เรื่องของโคราชโนมิกส์ เป็นวิสัยทัศน์เกิดจากตัวตน สภาพแวดล้อม และจุดแข็งโดยรอบอีสาน มาสร้างการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว เป็นนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ภาค 2 ของ พล.อ.ชาติชาย

⦁ทำไมไม่ขายประชานิยมเหมือนพรรคอื่น?

เราใช้คำขวัญในเรื่องนโยบายว่า งานดี มีเงิน ของไม่แพง งานดีก็คือต้องสร้างงานให้กับทุกคน เงินดีก็คือการสร้างเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งให้กับทุกคน ถ้าคุณเข้มแข็งนโยบายประชานิยมก็ไม่ต้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความยั่งยืน แต่ปัญหาเฉพาะหน้าต้องทำให้เงินในกระเป๋ามีมากขึ้น เราคิดเรื่องปรับโครงสร้างภาษี ใครมีรายได้ไม่ถึง 40,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงพลังงานต้องไม่แพง เราจึงเสนอรื้อโครงสร้างพลังงานทั้งหมด ต้องควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาด รวมไปถึงภาษีจากพลังงานด้วย เช่นเดียวกับค่าไฟ เราจำต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิต เพื่อทำให้ค่าไฟต่อหน่วยลดลงมาให้ได้

ถ้าเปรียบนโยบายของ ชพก. เป็นนโยบายต้องการให้เบ็ดไปตกปลา ไม่ใช่ให้ปลาไปรับประทาน วันนี้เราจำเป็นต้องลดประชานิยมลง เพราะสถานการณ์หนี้สินแต่ละปี จัดงบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขขาดดุลเป็นภาระมากในการใช้หนี้แต่ละปี ดังนั้นเราไม่ได้คิดแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่เป็นวิสัยทัศน์ต้องการความต่อเนื่อง

⦁นโยบายเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีส่วนในการบริหาร?

การจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่เบื้องต้นเราต้องทำให้พรรคได้เสียงมากที่สุด เพราะการเมืองระบอบประชาธิปไตย เสียงมากก็เสียงดัง พูดอะไรก็มีเครดิตน่าเชื่อถือ ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลก็จะมีโอกาสผลักดันนโยบาย แต่วันนี้จะออกหัวออกก้อยก็ไม่รู้ ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็มีหน้าที่บอกรัฐบาลว่า ควรทำอะไร ถ้าเป็นรัฐบาลก็มีหน้าที่ทำแล้วก็ถามฝ่ายค้านว่า ทำดีหรือไม่ช่วยบอกหน่อย

⦁การผลักดันนโยบาย รัฐบาลต้องมีเสียงขั้นต่ำเท่าไหร่?

ตามประสบการณ์ของผมในการจัดรัฐบาล ร่วมกันจัดรัฐบาลก็หลายครั้ง คิดว่า 500 เสียง ยังไงก็ต้อง 300 เสียงขึ้นไป แล้วฝ่ายค้าน 200 ลงมา มีระยะห่างอยู่ประมาณ 100 เสียง จะทำให้องค์ประชุมในสภาเดินได้ แล้วจะนำไปสู่เสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

⦁เป้าหมายรอบนี้ของชพก.?

อย่างน้อยโดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ชพก.จะเสนอด้วย อย่างน้อยนายกฯของเราต้องได้ควอลิฟาย จุดสตาร์ตเริ่มที่ 25 เสียง ไม่ใช่ 24 เสียง เราก็หวังและพยายามทำการบ้านอย่างหนัก ประเมินความเสียหายจากการเลือกตั้งรอบก่อนว่าเกิดจากอะไร แล้วปรับปรุงแก้ไข ปรับโครงสร้าง รวมถึงนโยบายด้วย เพื่อทำเสียงให้ได้เสนอชื่อนายกฯ วันนี้ผมพร้อมทุกสนาม โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา ยังไง ชพก.ก็ต้องคัมแบ๊ก กลับมาทำประโยชน์ให้คนโคราชจากจำนวน ส.ส.ที่มากกว่าเดิม

⦁ตัวแคนดิเดตนายกฯกับนโยบาย ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้ง?

ใช่ ผมคิดว่า ปัจจัยอยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจ กับแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรค จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดให้โหวตเตอร์ตัดสินใจโหวต รองลงมาก็ทีมเศรษฐกิจ มีนโยบายดี มีผู้นำดี มีทีมทำให้คนมั่นใจว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ แต่ก็ต้องดูตัวแปรให้ดี จึงขอฝาก กกต.ต้องทำให้การเลือกตั้งแฟร์เพลย์ อย่าให้มีมันนี่โพลิติก ใช้เงินซื้อกันเด็ดขาด ถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง ปัญหาก็จะไม่มี

⦁ห่วงอะไรที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้?

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอะไรที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ ไม่เหมือนเมื่อปี 2562 ยังอยู่ท่ามกลางความอึมครึม จากกฎหมายพิเศษ หรือ ม.44 อยู่ไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่มา แต่รอบนี้ไม่มีสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้พรรคการเมืองต้องกังวล ดังนั้น วันนี้พรรคการเมืองต้องช่วยกันทำให้การเลือกตั้งแฟร์ที่สุด เป็นที่ยอมรับที่สุด แล้วจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญ

สำหรับการนับ 1 จากผลการเลือกตั้งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล และเรื่องที่ดีอื่นๆ ของประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image