สถานีคิดเลขที่ 12 : อำนาจใน‘วิกฤต’

สถานีคิดเลขที่ 12 : อำนาจใน‘วิกฤต’

การเลือกตั้ง 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะใช้บัตร 2 ใบ สำหรับ ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ

หลายคนยก 2 บัตรให้ผู้สมัครและพรรคเดียวกันไปเลย บางคนอาจมีเทคนิค ใช้วิธีหารสอง บัตรหนึ่งให้ผู้สมัครที่ชอบ อีกใบให้พรรคที่ชอบหรือแอบชอบ

บางพรรคจึงเสนอให้เลือกเชิงยุทธศาสตร์ ขอคะแนนจาก 2 บัตรให้พรรคเดียว เพื่อเป้าหมายให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปเลย

Advertisement

ข้อเสนอนี้น่าสนใจ เพราะเลือกตั้งครั้งนี้ พอรู้ผลคะแนน จะต้องไปเลือกนายกฯ จะต้องมี ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตด้วย

ส.ว.มี 250 คน ปี 2562 ที่ผ่านมาเคยเท 249 คะแนนให้นายกฯคนที่แล้ว

รอบนี้เกิดน้ำแยกสาย 250 เสียงคงต้องมีแบ่งไปบ้าง แต่ด้านหลักยังเทไปยังนายกฯคนเดิมที่ลงแข่งขันด้วย

Advertisement

ดังนั้น ถ้าขั้วการเมืองเดิม ซึ่งมีอยู่หลายพรรค ได้รับเลือกตั้งเข้ามา รวมกันแล้ว 125 เสียงขึ้นไป บวกกับ 250 เสียงของ ส.ว. ก็มีสิทธิยึดเก้าอี้นายกฯทันที

สมการตัวนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าพรรคสองลุงย้อนกลับมาจับมือกันอีกครั้ง

ถึงพูดกันแพร่หลายว่า พรรคที่ชนะ ได้ ส.ส.มากมาย อาจไม่ได้ตั้งรัฐบาลก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2562

นั่นเป็นเรื่องของการคาดคำนวณ แต่เลือกตั้งเป็นเรื่องของการเมือง เกี่ยวพันถึงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน เลือกตั้งแล้ว ลงคะแนนแล้ว ย่อมหวังที่จะเห็นรัฐบาลจากคะแนนเสียงของตัวเองเกิดขึ้น

เมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นมา มากน้อยหรือฉับพลันทันทีหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่มองข้ามไม่ได้ คือ เลือกตั้งรอบนี้ จะมีผู้มีสิทธิที่ลงคะแนนครั้งแรกจำนวน 4 ล้านคน เท่ากับ 7.67% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 52.3 ล้านคน

และครั้งนี้ เฟิร์สต์ไทม์โหวตเตอร์ หรือเฟิร์สต์โหวตเตอร์ จากเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6.5 ล้านคน จะมาร่วมลงคะแนนด้วย

ที่จริงยังมีกลุ่มที่โหวตเลือกผู้ว่าฯชัชชาติ แลนด์สไลด์กรุงเทพฯเมื่อ 2565 มาแล้ว รวมอยู่ด้วย

รวมแล้ว 10 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 52.3 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มก้อนที่สำคัญ

โดยเฉพาะถ้าพิจารณาว่า ผู้ออกเสียงครั้งแรก มักสร้างปรากฏการณ์ทางการเมือง ผลเลือกตั้งปี 2562 พรรคไหนเข้ามาเป็นอันดับต้นๆ ในหัวตาราง ก็เป็นที่ทราบกันอยู่

ธรรมชาติทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ๆ จะมีความเป็นเสรีนิยม ก้าวหน้า ชอบความเป็นประชาธิปไตย เป็นพลังนำในสังคม

สังเกตได้ว่า ปฏิกิริยาทางสังคมต่อการเมืองหลังรัฐประหาร มาจากคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง และส่งผลสะเทือนต่อคนรุ่นที่อาวุโสกว่า ที่ขยับความคิดมาร่วมกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ข้อเสนอโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อปลดล็อก-ถอดปลั๊ก พลิกโฉมการเมือง จึงมีที่มาที่ไป

เกิดขึ้นในบรรยากาศการเมืองที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

และสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้ที่อยู่ในอีกฝั่งอำนาจ

ผลแพ้-ชนะรอบนี้ไม่ง่าย คงได้ยื้อกันสุดแรงอีกหลายยก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image