บทนำ : ปัญหาปาร์ตี้ลิสต์

บทนำ : ปัญหาปาร์ตี้ลิสต์

พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ระหว่างการจัดทำรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้ข้อสรุป ก่อน กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบนี้ ต้นสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน ข่าวคราวที่ปรากฏตามมา สมาชิกพรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรค แสดงความไม่พอใจ ต่อการได้รับการจัดลำดับ ไม่ดีนัก โอกาสได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต่ำ โดยพยายามต่อรอง ให้ได้อันดับที่มีเปอร์เซ็นต์ได้ลุ้นเป็น ส.ส.สูง ทั้งนี้ การจัดลำดับของแต่ละพรรคนั้น ไม่มีกฎ เกณฑ์เป็นมาตรฐานหลักยึดชัดเจน ส่วนใหญ่เปิดกว้างให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ใช้ดุลพินิจ สมาชิกแต่ละพรรค ที่ได้ลำดับเสี่ยงต่อการสอบตก จึงออกมาแสดงความไม่พอใจ ถึงขั้นขู่ย้ายพรรคก็มี

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท มีจำนวนรวมห้าร้อยคน เป็น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน โดยในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น พรรคการเมืองจะทำบัญชีรายชื่อ เรียงลำดับได้ไม่เกิน 100 คน ยื่นสมัครเข้ารับเลือกตั้งทั่วไป ส่วนการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับ แล้วหารด้วยหนึ่งร้อยอันเป็นจำนวน ส.ส. หรือที่เรียกว่าสูตรหาร 100 ตัวเลขที่ออกมาให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน จากนั้นให้นำมาหารคะแนนรวมของแต่ละพรรค ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้รับ

สูตรหาร 100 ตามกฎหมายลูกนี้ ฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ คำนวณจากพื้นฐานคะแนนที่แต่ละพรรคเคยได้รับรวมกัน ปรากฏค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 แสนคะแนน ต่อการมี ส.ส. 1 คน เมื่อทราบตัวเลขกลางของการถอดสูตรคำนวณ ส.ส.นี้ ทำให้แต่ละพรรค คาดการณ์ที่นั่ง ส.ส.สูงสุดของตัวเองที่จะพึงมีได้ โดยดูจากฐานคะแนนเดิมที่เคยได้รับ ส่งผลให้สมาชิกแต่ละพรรค ล็อบบี้ให้มีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ลำดับที่พอทำให้อุ่นใจคือ 1 ใน 10 แต่เนื่องจากบัญชี้นี้มีถึง 100 คน ผู้สมหวัง มีเพียงจำนวนน้อย จนเกิดเป็นปัญหาขึ้นกับแทบทุกพรรคอยู่ในขณะนี้

Advertisement

ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อนั้นได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ คล้ายเป็นหน้าตา ว่าที่ผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ที่แต่ละพรรคนำมาโชว์ประชาชน แต่กลับถูกแปรเจตนารมณ์ กลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้กับพรรคการเมือง ในรายสมาชิกที่มีพื้นที่ทับซ้อนเขตเดียวกัน โดยให้คนหนึ่งไปลงเขต อีกคนปาร์ตี้ลิสต์ หรือไม่ก็จัดสรรตอบแทนผู้อาวุโสของพรรค นายทุน ผู้มีอุปการคุณ การจัดลำดับทุกครั้งจึงเกิดเป็นปัญหา เนื่องจากเจตนารมณ์ ความมุ่งหมายของการมี ส.ส.ประเภทนี้ถูกละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งหากพรรคการเมืองไม่ทบทวน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ แก้ที่รากเหง้า เลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็จะเกิดเป็นปัญหาร่ำไป ไม่จบสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image