‘อนุทิน’ เคารพกติกา ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

อนุทิน ชาญวีรกูล

หมายเหตุ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน”ถึงความพร้อมของพรรค ภท.ในการเลือกตั้ง รวมทั้งวิเคราะห์ทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

⦁ความพร้อมของพรรค ภท. ในการเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรค ภท. เตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้งตลอดเวลา ดังนั้นพรรค ภท.ไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเตรียมการเลือกตั้ง ปัญหาอาจจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับตัวว่าที่ผู้สมัครและการประกาศเขตเลือกตั้งที่เพิ่งสรุปออกมาล่าสุดที่จะต้องปรับเปลี่ยนว่าที่ผู้สมัครเพื่อให้ได้รับความนิยมสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่จัดสรรขึ้นมาใหม่ แต่ภาพรวมถือว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามเป้าหมายที่เราได้วางแผนไว้ เรามีว่าที่ผู้สมัครที่เป็นเป้าหมาย ว่าที่ผู้สมัครที่มีความเป็นไปได้ที่จะชนะ และว่าที่ผู้สมัครทั่วไป เราไม่มีปัญญาที่จะชนะทั้ง 400 เขต แต่เราหวังว่า การที่เราส่งผู้สมัครลงไปในแต่ละเขต ยิ่งมากเขตเท่าไหร่จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสที่จะได้คะแนนของปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นมาด้วย ถ้าเราไม่มีตัวผู้สมัครจะทำให้ไม่มีตัวเชื่อมระหว่างพรรคกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครจึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อม พรรค ภท.จะส่งผู้สมัครลงให้ได้มากที่สุด แต่ในส่วนที่เป็นเป้าหมายประมาณ 200 กว่าเขต ถ้าเราเทียบอัตราส่วนของความสำเร็จทั่วไปจะอยู่ประมาณ 50-60% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกระแสของการเมืองในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง เรื่องการเลือกตั้งเราต้องอาศัยการการลงคะแนนของพี่น้องประชาชน ดังนั้นต่อให้เรามีความมั่นใจมากแค่ไหนก็ไม่ควรที่จะออกไปชี้นำหรือพูดว่าที่นี่ได้แน่นอน 100% สำหรับพรรค ภท.คิดว่านี่คือการไม่ใหเกียรติโหวตเตอร์ จึงไม่พูดว่าที่ไหนชัวร์

ตอนนี้ตั้งเป้าว่าจะเป็นพรรคสามหลัก จากผลงานของพรรคในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาก็มีความชัดเจน เราจึงกล้าที่จะประกาศสโลแกนของพรรคว่า พูดแล้วทำ เพราะเป็นพรรคที่ทำงานเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้อง และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน เราเชื่อมั่นว่าในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ประชาชนน่าจะเห็นผลงานที่พรรคได้ทำมาในช่วงที่เราได้เป็นรัฐบาล พรรค ภท. ได้กำหนดเป้าหมายไว้ระดับหนึ่ง เราคิดว่าน่าจะเข้าเป้ามากเพียงพอที่จะมีบทบาทในการนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า ความสามัคคีเป็นปึกแผ่น เราจะเน้นการไม่นิยมเรื่องความขัดแย้ง เรื่องใส่ร้ายป้ายสี เรื่องความรุนแรง เราจะไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีการทำร้าย หรือก่อความไม่สงบ แต่เราจะยอมรับความเห็นต่าง และวิธีที่จะแก้ไขทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน หรือยึดประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นหลักสำคัญไว้ก่อน แล้วค่อยมาหาวิธีการที่จะลดความแตกแยกทั้งหลาย

⦁พรรค ภท.อยู่ในสมการใดของการเลือกตั้ง
ในการรวมกลุ่มกันทำภารกิจใดๆ นั้น มีกติกาสากลอยู่แล้ว ใครมีจำนวนสมาชิกเท่าไหร่ต้องวางบทบาทอย่างไร ถ้าพรรค ภท.มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด ก็ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเราไม่มีสมาชิกเป็นลำดับแรก ก็ต้องกำหนดทิศทางของเราว่าจะทำอย่างไรให้เกิดทางออกที่ดีที่สุดทางการเมือง เราจะไม่ทำอะไรที่ฝืนใจ หรือสวนกระแสความต้องการของประชาชน พรรค ภท.ตั้งมา15 ปี ผมเป็นหัวหน้าพรรคมา 10 ปีแล้ว โดยผมบอกสมาชิกพรรคอยู่เสมอว่า เจ้าของพรรคนี้คือประชาชน เรามีหน้าที่ฟังเจ้าของพรรค และเรายึดแนวปฏิบัตินี้มาโดยตลอด ผ่านการดูคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้กับพรรค ภท. จึงทราบว่าประชาชนต้องการให้เราทำอะไร การที่ยึดแนวปฏิบัตินี้ ไม่ชื่นชม ไม่นิยมความแตกแยก และความรุนแรง ไม่ทะเลาะกับใคร ทำให้พรรคเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ไม่มีอะไรวูบๆ วาบๆ เดี๋ยวมาแรง เดี๋ยวไปเร็ว เดี๋ยวฟุบเดี๋ยวขึ้น แต่เราจะอยู่ในแนวโน้มที่เราสามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง พรรค ภท.แสดงให้เห็นว่าไม่มีเรื่องของการทำเพื่อพรรค เพื่อคนของพรรค เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของเราล้วนแล้วเพื่อคนหมู่มาก และประเทศ เราจึงได้รับความร่วมมือย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ ทำให้เรามีผลงานอย่างชัดเจน ส่วน พรรค ภท.ต้องเป็นรัฐบาลหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าเข้ามาเท่าไหร่ ถ้ามา 3 หลักนี่ชัดเจน มันดูไม่ยาก

Advertisement

⦁เหตุใด พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรค ภท. จึงมีจุดร่วมที่ใช้คำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
ผมคิดว่าประเทศไทยผ่านความเห็นต่างความขัดแย้ง และการแตกความสามัคคีมาตลอดเกือบ 20 ปี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย มีแต่ถอยหลัง ดังนั้นจึงต้องมีคนดึงฟืนออกจากกองไฟ พรรค ภท.คือหนึ่งในคนนั้น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ ทั้งการปรามาส การยั่วยุให้แตกความสามัคคี แต่พรรค ภท.เราแน่วแน่ ทำงานอย่างเดียว และแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนเป็นหลัก อย่างน้อยเมื่อมีกลไกหนึ่งในรัฐบาลที่ยึดถือเรืองนี้ พรรคร่วมอื่นๆ ก็เห็นว่ามันเวิร์กดี หากมัวแต่หันไปทะเลาะกับคนนู้นคนนี้ก็ไม่ไปไหน เราจึงหันหัวเรือไปในทางที่ไม่ต้องการความขัดแย้ง ถ้ามีความขัดแย้งเมื่อไหร่ให้ไปพิสูจน์ในสภาที่มีเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ เวทีปราศรัย ตั้งกระทู้ และการร้องเรียนหน่วยงานอิสระต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบการกระทำผิดต่างๆ ได้ เราต้องยึดถือรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงการเคารพการตัดสินของกระบวนการยุติธรรม ต่อให้เราไม่ชอบ แต่เคารพการตัดสิน ก็จะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกของคนในชาติระบบทุกอย่างจะยังทำงานต่อไป มีกี่คนที่ทำเช่นนี้ได้โดยไม่มีปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรค เมื่อดูแล้วก็มีแต่พรรค ภท. รัฐมนตรีคนไหนทำผิดพลาดเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลที่เกี่ยวข้องมีคำพิพากษามา ก็ไม่กระจองอแง แต่จะทำตามคำสั่งทุกอย่าง นี่คือการบริหารจัดการแบบพรรค ภท.ที่ยึดถือประชาชนเป็นหลัก เป็นพรรคที่เข้ามาแล้วทำงานอย่างเดียว ไม่เล่นการเมือง และสร้างผลงานต่อเนื่อง

⦁การประกาศพร้อมจับมือกับทุกขั้วการเมือง คิดว่าจะส่งผลต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค ภท. หรือไม่
วันนี้เอาอะไรมาพูดเป็นอุดมการณ์หรือจุดยืน ในการเลือกตั้งรอบนี้ คนของฝั่งฝ่ายค้านจำนวนมากก็มาสมัครฝั่งรัฐบาล แม้กระทั่งกับพรรค ภท.ก็ลาออกไปเข้ากับพรรคฝ่ายค้าน และลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วคำว่าจุดยืนไม่พูดกัน ทำไมตอนนั้นคนฝ่ายค้านมาอยู่ฝ่ายรัฐบาล เกิดปรากฏการณ์ไล่งูเห่า ไล่หนูตีงูเห่า เรียกเขาเป็นงูเห่า ไม่รักประชาธิปไตย แต่พอฝั่งรัฐบาลไปอยู่ที่เขา ก็กลายเป็นคนสะอาดมาทันทีมีประชาธิปไตยเต็มหัวใจขึ้นมา นี่คือวาทกรรมทั้งสิ้น แต่ถ้าเรามองด้วยมุมปกติโดยไม่มีบุคคลใดมาสร้างวาทกรรมหล่อๆ และคนที่พูดวาทกรรมแบบนี้ก็ปรากฏว่าไม่มีใครมาแคร์เขาสักคน ในทางปฏิบัติมีการย้ายข้ามไปข้ามมากัน พรรค ภท.มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเกิดขึ้นทุกครั้งในการเลือกตั้ง บางทีคนรับนโยบายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ได้ ก็มีสิทธิหาบ้านหลังใหม่ พรรค ภท.ก็เช่นกัน หากคนจากพรรคอื่นๆ มองว่านี่เป็นนโยบายที่พรรค ภท.ทำแน่ๆ และเป็นประโยชน์กับประชาชน ก็อยากจะมาทำงานการเมืองด้วย ดังนั้นการย้ายพรรคในแต่ละครั้ง จึงไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นทุจริต เนรคุณ ไม่มีจุดยืนและไม่มีหลักการ แต่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองพี่น้องประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาได้หรือไม่ ผมว่าในหัวใจของคนเป็นผู้แทน เขาคิดถึงประชาชนมากกว่าคิดถึงพรรค

จุดยืนของพรรค ภท.ที่มีหลักคือต้องไม่ให้ประเทศเกิดความแตกแยก ผู้แทนคือตัวแทนของประชาชน ถ้าผู้แทนแตกแยกก็คือประชาชนแตกแยก ดังนั้น ถ้าเราแตกแยกระหว่างผู้แทน เราจึงไม่ต้องหวังเลยว่า ประเทศจะไม่แตกแยก

Advertisement

⦁การที่ ส.ส.ย้ายพรรค ย้ายขั้ว จะกระทบกับการสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองตามที่พรรค ภท.ตั้งใจหรือไม่
พรรค ภท.มีออกไป 2 คน แต่กลับเข้ามา 30-40 คน แสดงว่าการเป็นสถาบันทางการเมืองยังคงอยู่ ก็อยู่ในส่วนของเรามา 15 ปี ที่ยั่งยืนมา 15 ปี ถ้าผู้บริหารไม่ไปทำลายวัฒนธรรมองค์กร และไม่ไปทำให้เจตนารมณ์หลักการผิดเพี้ยนไป พรรคก็จะอยู่เป็นสถาบันการเมือง อาจจะไม่ได้ใหญ่ที่สุด แต่ก็มีความก้าวหน้าและความมั่นคง อีก 10 ปี พรรคนี้ก็ยังอยู่ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของคนใดคนหนึ่ง เป็นพรรคที่สามารถเป็นรัฐบาลก็ได้ ฝ่ายค้านก็ได้ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คนจึงเลือกเข้ามาเยอะ และมีโอกาสทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ จึงถือว่าเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ได้มารองรับเป้าหมายใดๆ ของใคร

⦁จากกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป และพรรคการเมืองที่อยู่ปัจจุบันคิดว่า หน้าตารัฐบาลจะเป็นแบบไหน
การเลือกตั้งรอบนี้เปลี่ยนเป็นบัตรสองใบ เลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น แนวโน้มจะเป็นรัฐบาลผสมต่อไป แต่ไม่มากพรรคเท่าคราวที่แล้วอย่างแน่นอน จะได้รัฐบาลผสมระหว่างพรรคที่มีจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาก มีความมั่นคง และบริหารจัดการได้ ไม่ต้องกังวลต่อเสียงที่แตกไปเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ขออย่างเดียวขอให้มีเสียงข้างมากในสภาเราคงไม่ยอมตั้งรัฐบาลที่เสียงข้างน้อยในสภา แล้วไม่ใช่บริหารประเทศไปพรางก่อน แต่ต้องบริหารจัดการให้ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเรียบร้อยก่อนเลือกนายกฯ และก่อนฟอร์มรัฐบาล รัฐบาลที่พรรค ภท.จะร่วมด้วย จะต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาไม่ใช่รัฐสภา ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวคนจะบอกว่า งั้นเอา ส.ว.ลากไปก่อนแล้วรัฐบาลค่อยไปแก้ปัญหาต่อไป เมื่อเริ่มรัฐบาลต้องไม่มีปัญหา ถ้าเริ่มด้วยปัญหา ปัญหาก็จะอยู่กับรัฐบาลไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นจะต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนที่จะสถาปนารัฐบาล

⦁บางพรรคตั้งเงื่อนไขไม่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วพรรค ภท.มีหลักอย่างไร
ความเป็นอัตตาต้องน้อย พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน ไม่สามารถพูดแทนประชาชนได้ว่าจะไม่เอาใคร ถ้าประชาชนบอกให้เอาก็ต้องเอา โดยการส่งสัญญาณมาเป็นจำนวนคะแนน ถ้าเข้าถึงจิตใจประชาชนได้มากพอ เราจะแปลเจตนารมณ์ของประชาชนออก พรรค ภท.แปลออกมาโดยตลอด จึงมีความก้าวหน้า และเจริญเติบโตอย่างมั่นคง

⦁มีข้อห่วงกังวลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่
ห่วงประชาชนไม่เลือก เราจึงต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าพรรคนี้จะเข้าไปทำงาน ไม่เข้าไปเล่นการเมือง และไปสร้างความแตกแยก ไม่เข้าไปทำให้ประชาชน และประเทศเดือดร้อน พรรคนี้แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนได้เก่ง จึงสามารถโตอย่างก้าวกระโดดได้ พรรค ภท.ถือว่าทำงานเป็น ไม่ได้ทำงานได้อย่างเดียว จึงมีความมั่นใจว่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค ภท.ชูนโยบายหลักๆ คือ ไม่จนไม่เจ็บ คนไทยต้องเข้าถึงระบบสาธารณสุข และมีหลักประกันสุขภาพที่แข็งแรงและมั่นคง ส่วนนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ พรรค ภท.จะเร่งผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ในภาคใต้ของไทย โดยการเชื่อมสองชายฝั่งทะเล คือทะเลอันดามัน และทะเลอ่าวไทย เชื่อมโยงการสร้างระบบขนส่งสินค้าทางบก ระหว่าง จ.ระนอง กับ จ.ชุมพร ทำให้ร่นระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งสินค้าได้ประมาณ 1 สัปดาห์ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและประเทศอย่างมาก

⦁คาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้
การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ วันนี้เราได้ผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการยึดอำนาจ ในที่สุดท่านต้องมาลงเป็นหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนแคนดิเดตนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตย นี่คือการตอบโจทย์ว่า จากนี้ไปอย่าได้คิดปฏิวัติรัฐประหารเชียว เพราะคนที่ปฏิวัติรัฐประหารมาแล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมาสู่กระบวนการที่ถูกต้อง คือกระบวนการประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของประเทศของเขาไม่ต้องไปตัดสินใจแทน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าเข้ามาแล้วมันไม่ได้ไม่ดี ประชาชนไม่ชอบ เขาอยู่ไม่ถึงหรอก คราวหน้าจะไม่มีโอกาสกลับมาได้อีก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การรับรู้รับทราบข่าวสารของประชาชนเร็วอย่างกับปรอท เราต้องใช้วิธีการทางรัฐสภาในการตรวจสอบ รัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้น เพราะว่ามันตอบโจทย์อะไรไม่ได้เลย สุดท้ายก็กลับมาที่เดิม มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหมในเรื่องของความเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อก่อนการรัฐประหารปี 2557 ส.ส.มีหน้าใหม่เข้ามาไหม พลิกโฉมไหม รัฐสภาอยู่ที่ไหน รัฐมนตรีก็คือคนการเมือง ฉะนั้นเมื่อมีคนการเมือง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนแปลงด้วยประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ คนที่นักการเมืองกลัวมากที่สุดไม่ใช่ทหาร แต่คือประชาชน ทำตัวไม่ดีเมื่อไหร่ประชาชนดีดออกทันที ไปแล้วไปลับไม่กลับมา

⦁นายกฯควรจะมาจากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุดหรือไม่
ต้องตามกติกา ปกติไม่มีใครไปห้ามว่า คนที่ได้เสียงในสภามากที่สุดจะต้องเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล กฎเป็นอย่างนั้น แต่จัดได้หรือเปล่าก็อีกเรื่อง ถ้าจัดไม่ได้ก็ต้องลำดับถัดไป สำคัญคือคุณได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้เป็นนายกฯ ถ้าได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม นั่นคือความชอบธรรม อย่าไปกำหนดคุณสมบัติอะไรให้มากเกินจนไม่สามารถปฏิบัติได้

⦁ช่วงหลังมักจะมีคนพยายามดิสเครดิตพรรค ภท.
คำว่าดิสเครดิต แปลว่า ต้องการทำให้เครดิตลดลง แสดงว่าพรรค ภท.มีเครดิตมากขึ้น จนต้องมีการดิสเครดิต ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคืออยู่นิ่งๆ อย่าไปใส่ใจกับการดิสเครดิต พรรค ภท.ไม่สนใจเรื่องความแตกแยก และการต่อสู้ เขาแพ้อยู่แล้ว เราชนะของเราดีๆ เราต้องบินไปให้สูงขึ้น เหมือนนกอินทรีที่ไม่ทำร้ายและต่อสู้อีกาที่เกาะบนหัวมัน มันทำเพียงแค่บินทะยานสูงไปเรื่อยๆ จนอีกาขาดออกซิเจนและตายเอง พรรค ภท.ก็ทำเช่นนั้นถ้าพรรค ภท.ไม่มีเครดิต หรือความน่าเชื่อถือ ก็คงไม่เป็นที่สนใจ และริษยาของคนอื่นๆ แสดงว่าเราจะต้องมีที่ยืนอยู่ในจุดที่ทำให้เป็นที่กังวลของการเติบโตของคนอื่นๆ จึงต้องมีการรุมกินโต๊ะ แต่หารู้ไม่ว่าเราได้ใส่ยาพิษไว้เรียบร้อย ใครมากินโต๊ะเราด้วยเจตนารมณ์ที่ไม่ดี ก็ต้องปวดท้องปวดไส้ไป ตั้งแต่มีเรื่องดิสเครดิตขึ้นมา พรรค ภท.ทำสำรวจหรือโพลบ่อยขึ้น ผลคือ มีคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นเพราะเห็นถึงการที่เราไม่ลดตัวไปต่อสู้ และทะเลาะกับคนที่มุ่งหวังทำลายพรรค

⦁ส.ว.ควรจะยังมีส่วนในการเลือกนายกฯหรือไม่
อย่ากังวล อย่าไปทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างในอนาคตอีก กว่าจะเถียงกันเสร็จบทเฉพาะกาลที่ ส.ว.เลือกนายกฯได้นั้นก็หมดไปแล้ว เดือนมีนาคม 2567 ก็หมดแล้ว อีก 1 ปีเอง ฉะนั้น เราเคารพกติกา หายใจฟืดเดียวเดี๋ยวก็ไม่มีประเด็นแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ก็จะอยู่ในมือของสภา แล้วหลังจากนั้นประคองให้ดี อย่าทำตัวเองให้มีปัญหา เคารพกติกา อย่าเปิดโอกาสให้มีระบอบหรือวิธีการไหนที่ไม่ใช่วิธีการทางประชาธิปไตยเข้ามาอ้างได้อีกว่า มีความจำเป็นต้องเข้ามาบริหารประเทศแทนระบอบประชาธิปไตย

เราต้องรู้ว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะทำให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image