เบอร์‘ท่ายาก’ปาร์ตี้ลิสต์ มีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่

หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการต่อกรณีหมายเลข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ หรือเบอร์พรรคที่แต่ละพรรคการเมืองจับสลากได้ เป็นหมายเลขที่จดจำไม่ได้ง่ายส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คิดว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบในทางจิตวิทยาทางการเมือง การที่ใครได้ตัวเลขที่นำไปสื่อความหมายดีๆ ก็จะนำไปสู่การขยายผลได้ เหตุผลต่อมาคือแน่นอนว่าอาจจะเพิ่มความสับสนให้กับประชาชน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดได้ในเรื่องของตัวเลขของพรรคการเมืองที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อกับ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จับได้เลขสองหลักและมีโอกาสที่ประชาชนไม่น้อยจะเกิดการเข้าใจผิด ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของแต่ละพรรคการเมือง ทีมสื่อสาร ทีมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะหมายเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องชัดเจน

Advertisement

ส่วนในระดับเขตแต่ละเขตถ้าเป็นจังหวัดเดียวกันอย่างกรณี จ.สมุทรสาคร ที่ให้ผู้สมัครแต่ละพรรคใช้หมายเลขเดียวกันทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน แต่ผมดูแนวโน้มว่าการหาเสียงโดยใช้สื่อนับจากนี้จะเข้มข้นมากขึ้นและจะเป็นการชี้วัดด้วยว่าประชาชนให้ความสนใจทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีความชัดเจนและมีการสร้างลูกเล่นว่าหมายเลขที่ได้รับนั้นจะนำไปตีความสู่ชัยชนะให้รู้สึกว่าตนเองจะได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร

ในการจัดการเลือกตั้งในประเทศสากลที่มีประสบการณ์การเลือกตั้งดีๆ นั้น บางประเทศมีการตีพิมพ์ภาพใบหน้าผู้สมัคร สัญลักษณ์พรรค และหมายเลข ในประเทศอินโดนีเซียใช้แค่นิ้วโป้งประทับลงบนหมายเลขที่ต้องการเลือก เพราะเน้นความสะดวกของประชาชนในการสื่อสารความเข้าใจเป็นที่ตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของไทยควรศึกษาการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าถึงการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบาก สิ่งสำคัญที่ควรจับตามองคือการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งจะมีภาวะเกิดการสับสนมาก ประชาชนที่ไปใช้สิทธิจะต้องเปิดดูบอร์ดหน้าคูหาว่าใครหมายเลขอะไร ผมยังไม่เห็นทิศทางว่า กกต.จะสร้างวิธีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างไร แน่นอนว่าต้องหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงอยู่แล้ว ตอนนี้ยังมีเวลาที่ กกต.จะรับฟังความคิดเห็นของปัญหาที่เข้ามาและหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจมากขึ้น

Advertisement

การที่ประชาชนสะท้อนเรื่องปัญหาโดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตที่เป็นลักษณะบัตรโหลมีแค่หมายเลขแต่ไม่มีโลโก้และชื่อพรรค

กกต.ควรรับฟังเสียงสะท้อนให้มากกว่านี้ ประชาชนต้องการให้การจัดการเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีการยกระดับคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ยังมีอยู่ กกต.ควรจะแก้ไขเพื่อจะอำนวยความสะดวก อย่าลืมว่าประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุนั้นการอ่านหรือการกาผิดช่องมีความเป็นไปได้สูง

เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้ที่ กกต.ประมวลผลอย่าอ้างว่าไม่มีงบประมาณในการจัดการ ถ้าบอกว่าไม่มีงบประมาณ ผมคิดว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยยินดีบริจาคให้ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ศิริวรรธน์ พัชรนิวัฒนากุล
นักวิชาการอิสระ

การกำหนดหมายเลขพรรคการเมืองในระบบปาร์ตี้ลิสต์ หากได้เลขตัวเดียวถือว่าดี จำง่ายไม่สับสน 1-9 ก็โอเค พอเลขสองตัว เรื่องของการจำอาจจะยากหน่อยสำหรับประชาชน หากเป็นเลขเบิ้ลจะจำง่าย อย่างเช่น พรรครวมไทยสร้างชาติได้เบอร์ 22 จำง่ายหน่อย อย่างไรก็ตาม ก็อยู่ที่ความศรัทธาของพรรคลุงตู่มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าคนศรัทธามากเลขนั้นประชาชนจะจดจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่รักที่ชอบ แต่หากไม่รักไม่ชอบเขาก็ไม่จดจำ

พรรคภูมิใจไทยได้เบอร์ 7 ทำให้จำง่าย ส่วนพรรคบิ๊กป้อม หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ได้เบอร์ 37 ถือว่าจำยากหน่อย สำหรับคนที่ไม่รักไม่ชอบ หรือเฉยๆ แต่ “ไม่รู้ ไม่รู้” ถือว่าเป็นวลีเด็ด หรือวรรคทองของบิ๊กป้อม อาจจะมีผลต่อการจำเบอร์ได้เหมือนกัน

พรรคเพื่อไทยเบอร์ 29 ถือว่าเลขสวย เพราะเป็นลำดับของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หากเอาหลักการจำมาบอกได้เน้นย้ำว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ 29 ก็จะจำได้ง่าย ส่วนพรรคก้าวไกล เบอร์ 31 ผมมองว่าคนรุ่นใหม่อาจจะจดจำได้ง่าย เพราะถือว่าคนรุ่นใหม่ความจำยังดี ที่สำคัญผมยังเชื่อว่า ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ อาจจะตามหลังพรรคเพื่อไทยมาก็ได้ แต่จะเป็นรัฐบาลคงยาก เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่เอาด้วย หรือคนของพรรคก้าวไกลอาจจะไปบอกผู้ลงคะแนนว่าเลขที่ลงท้ายของเดือนด้วย “คม” มีกี่วัน ก็หมายถึงเลข 31 ก็จะจดจำง่ายได้เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ก็ควรแนะนำหลักการจำของประชาชนด้วย ก็จะจำได้แม่นยำเช่นกัน

หากต้องการจดจำเบอร์ของพรรคการเมือง ฝ่ายยุทธศาสตร์ก็ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนจำง่าย หรืออะไรที่ทำให้ประชาชนเกลียดมากๆ ก็เอามาดัดแปลง หาวลี หาคำ เพื่อให้ประชาชนจดจำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเลขของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเบอร์พรรคการเมือง โดยเฉพาะเลขสองตัวจะต้องคิดให้หนัก ส่วนจะเสนอแนะให้กับพรรคการเมืองคงไม่กล้า เพราะมีกุนซืออยู่เยอะในแต่ละพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ก็เป็นห่วงในเรื่องของผู้สูงอายุที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอาจจะจำยากหน่อย ก็ต้องอยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรคการเมือง ต้องไประดมหาวลีเด็ดๆ เพื่อให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำเลขของพรรคการเมืองของตนให้ได้

หากย้อนกลับไปเรื่อง ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยเฉพาะลำดับผู้ที่จะได้เป็น ส.ส.นั้น เอาคุณสมบัติอะไรมาเป็นตัวชี้วัด ประเมินการคัดเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนมากจะเป็นนายทุน เป็นคนมีชื่อเสียง แล้วมีประโยชน์อะไร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนมาจัดลำดับ ทางที่ดีไม่เอาไปลง ส.ส.เขตทั้งหมดไม่ดีกว่าหรือ เพราะจะได้ยึดโยงประชาชนได้มากที่สุด มุมมองของผมก็คือ ส.ส.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ หากกล่าวไปแล้ว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็คือนายทุนของพรรคการเมือง ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์มากกว่า แทบทุกพรรคการเมือง ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 คือ หัวหน้าพรรคการเมือง รองลงมาก็คือตัวนายทุน หรือลูกหลานของนายทุน ที่มีความรู้ความสามารถก็นำมาบรรจุไว้ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ ยอมรับว่ามีผลประโยชน์ในหลายมิติ ไม่เรื่องในเรื่องของปัจจัย กล้วยมีเป็นลูก เป็นหวี หรือเป็นเครือ ก็ต้องแลกกันด้วยผลประโยชน์ทั้งนั้น

กล่าวโดยสรุปเบอร์พรรคการเมืองเลขเดี่ยว ประชาชนก็จะจำง่าย แต่หากพรรคการเมืองใดไปเจอเลขคู่ งานที่สำคัญคือพรรคการเมืองนั้นจะต้องอธิบายให้ประชาชนจดจำได้ง่ายและมีวลีเด็ด ก็ไม่แน่เหมือนกัน อาจจะได้คะแนนเสียงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ดีกว่าเลขเดี่ยวก็ได้

อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนเลือก ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนใหญ่จะเลือกที่นโยบายของพรรคการเมือง ที่สำคัญต้องปฏิบัติได้จริง การเลือกลงคะแนนให้กับพรรคเบอร์นั้น เบอร์นี้ ไม่ใช่ตัวตนของผู้ลงสมัคร ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ หากมีการตอกย้ำให้ประชาชนรักชอบนโยบายพรรคนั้น ก็จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และยังจดจำเบอร์ของพรรคการเมืองนั้นได้ดีอีกด้วย ซึ่งส่งผลต่อคะแนน ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์

ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
นักวิชาการอิสระ

โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเบอร์ของพรรคถือว่ามีความสำคัญมากในแง่ของการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการจดจำและด้านไสยศาสตร์ ด้านการจดจำนั้น ทุกพรรคก็อยากได้เลขเบอร์เดียว จะทำให้คนจดจำได้ง่าย สามารถชูมือเป็นสัญลักษณ์ตอนหาเสียงได้ ส่วนด้านไสยศาสตร์จะมีความเชื่อว่าเลขนั้นๆ จะส่งผลอย่างไรกับพรรคบ้างถ้าได้เบอร์ตัวเดียว แล้วยังเป็นเลขมงคลอีก ยิ่งดีไปใหญ่

หากดูจากตัวเลขเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองในการจับสลากครั้งนี้ ถือว่าพรรคภูมิใจไทยโชคดีกว่าเพื่อนเพราะได้เบอร์เดียว ขณะที่พรรคใหญ่อื่นๆ ล้วนแต่ได้เบอร์เลขสองหลักทั้งหมด ถ้าจะชูนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง นิ้วไม่พอแน่ คงจะต้องไปหาวิธีอื่นแทน

ส่วนจะมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ในการหาเสียงของพรรคการเมืองคงจะมีวิธีสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้จดจำกันได้ เรื่องการหาเสียงไม่น่ากังวลอะไร แต่ที่น่ากังวลก็คือตอนลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ทำบัตรลงคะแนนแบบโหล มีพื้นที่ว่างๆ ให้คนเลือกจำเอาเอง จึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าจะทำให้มีบัตรเสียเกิดจำนวนมากแน่นอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุเวลาเข้าคูหาแล้วมักจะลืมง่าย การเลือกตั้งที่ไม่ค่อยสะดวกกับผู้ไปใช้สิทธิเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากที่ กกต.ไม่เอาความสะดวกของผู้เลือกตั้งเป็นสำคัญ กลับอ้างแค่ไม่ผิดหลักกฎหมายเท่านั้น และยังมีอีกหลายเรื่องก่อนหน้าที่ต้องส่งให้ศาลตีความ รวมทั้งยังมีเรื่องที่รอศาลตัดสินอีก

หากเลือกตั้งไปแล้ว กกต.ไม่ระมัดระวัง ถ้ามีการร้องเรียนมาภายหลัง อาจจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแบบปี 2557 ก็ได้

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.นเรศวร

หมายเลขปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในภาพรวมสามารถดูได้ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ รายชื่อลำดับของปาร์ตี้ลิสต์ดูได้ว่า ใครมีอำนาจจริงๆ ในการตัดสินใจของพรรคการเมืองนั้น เพราะว่าคือการจัดลำดับโครงสร้างความสำคัญของพรรคการเมืองนั้น เพราะฉะนั้นใครมีชื่อได้อยู่ในเซฟโซนมากที่สุด แสดงว่าเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อพรรค บทบาทในเรื่องของการทำงาน หรือผู้มีบทบาทสำคัญ

เรื่องที่ 2 สามารถบอกตำแหน่งรัฐมนตรีแบบคร่าวๆ ในอนาคตให้เราดู การเมืองตำแหน่งคร่าวๆ ของรัฐมนตรี จะเห็นจากลำดับ 10 ลำดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคก้าวไกล พรรคเหล่านี้จะกำหนดเอาไว้ใน 10 ลำดับแรก จะเห็นภาพบางพรรคฟอร์ม ครม.จาก 10 ลำดับ แต่ในทางกลับกัน จะมีบางพรรคการเมืองที่ฟอร์ม ครม.เหมือนกัน แบบฟอร์มจากลำดับท้ายสุด อันเนื่องมาจากการเป็นรัฐมนตรี ต้องฟอร์มจากการมาเป็น ส.ส.พรรคการเมืองที่มีความมั่นใจจะฟอร์มการเป็นรัฐมนตรีไว้อยู่หลังสุด เพราะรัฐมนตรีไม่ต้องมาเป็น ส.ส.แล้ว จะได้ไม่ต้องมีการมาจัดลำดับใหม่

ประเด็นที่ 3 มือนโยบายจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่อาจจะไม่เก่งเรื่องการเลือกตั้ง ไม่เก่งเรื่องการลงพื้นที่ ไม่มีหาเสียง ไม่มีหัวคะแนน ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ แต่เป็นนักนโยบายนักบริหาร จะเห็นชื่อคนกลุ่มนี้ในปาร์ตี้ลิสต์เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดมากกับพรรคชาติไทยพัฒนา ใส่ชื่อบุคคลที่เป็นนักวิชาการ นักบริหารอดีต ผอ.แบงก์ออมสิน หรือกนก วงษ์ตระหง่าน ไปอยู่ในลำดับต้นๆ

ส่วนกลยุทธ์ในการหาเสียงของแต่ละพรรคเพื่อให้จำได้ง่ายโดยเฉพาะเลขสองหลักมีความสำคัญมาก การหาเสียงรอบนี้เป็นปัญหาตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่าตัวหมายเลขใช้หาเสียงของ ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ต้องเป็นเลขเดียวกัน เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไม่สะเด็ดน้ำ แก้ไขแบบขอไปที เปลี่ยนแค่ระบบเลือกตั้ง แต่ไม่พูดถึงเรื่องหมายเลข ทำให้เกิดความสับสน จะพบว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตมีอีกเลขหนึ่ง ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นอีกเลขหนึ่ง ตัวเลขที่พรรคใหญ่ๆ ได้ไปล้วนจำยากทั้งนั้น มีเพียงพรรคภูมิใจไทย ที่ได้หมายเลข 7 จำง่ายหน่อย

ส่วนการนำหมายเลขใช้หาเสียงต่อนั้นคงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่วันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต้องจำตัวเลขที่จะเข้าไปกากบาท ยิ่งต้องจำเลขสองหลัก ซึ่งไม่ง่าย เวลาเราเข้าคูหา มักจะตื่นเต้น ตกใจ มีโอกาสลืมได้ อีกทั้งเลือก ส.ส.เขต ก็เป็นอีกเบอร์

ปัญหาจะย้อนกลับไปสู่หลักรัฐศาสตร์พื้นฐาน การเลือกตั้งเป็นสิทธิ หน่วยงานรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เมื่อใดที่รัฐวางขั้นตอนการใช้สิทธิยุ่งยาก ซับซ้อนเกินความจำเป็น จะกลายเป็นปัญหาของรัฐในการขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน อีกทั้งบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรคการเมือง

แบบนี้ควรต้องแก้ไขเอาเท่าที่ควรแก้ได้ ถ้า กกต.ยังไม่ได้สั่งพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ถ้ายังพอแก้ไขได้ ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิอย่างง่ายที่สุด ไม่ควรมองข้ามว่า “ประชาชนต้องจำสิ ถ้าอยากจะเลือกใครยังไง” กกต.ควรแสดงเจตนาจริงๆ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image