‘ทีดีอาร์ไอ’ ห่วงนโยบาย ศก.พรรค ใช้งบสูง อีคอนไทยติง ‘อย่าหว่านแห’ เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง

‘ทีดีอาร์ไอ’ ห่วงนโยบาย ศก.พรรคการเมืองใช้งบสูง อีคอนไทยติง ‘อย่าหว่านแห’ เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายหาเสียง แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนออยู่ในขณะนี้

นายนณริฏระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการดิจิทัลต่างๆ เป็นนวัตกรรมที่พรรคการเมืองเสนอมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกพรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายที่มีภาระทางการคลังสูง ในทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วจะเอาเงินมาจากไหน หรือประสิทธิผลจะได้ตามที่แสดงความคิดเห็นหรือไม่ สำหรับนโยบายแจกวงเงินดิจิทัล 10,000 บาท หากคำนวณวงเงินต่อคน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 50-55 ล้านคน จะใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท อาจจะน้อยกว่า แต่ถามว่าจำนวน 5 แสนล้านบาทเยอะหรือไม่นั้น มองว่าเป็นตัวเลขที่เยอะ เนื่องจากนโยบายโดยทั่วไป อาทิ งบที่ช่วยอุดหนุนภาคเกษตรยังอยู่แค่แสนล้านบาทต่อปี ฉะนั้น วงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่มีขนาดใหญ่

นณริฏ พิศลยบุตร

“ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่ใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ ทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาว่า หากจะต้องทำตามนโยบายทุกพรรคการเมืองที่โฆษณากัน ทำให้ประเทศจะต้องการงบประมาณอีกหลักล้านล้านบาท ทีดีอาร์ไอจึงมีความกังวลทั้งหมด ถามว่านโยบายต่างๆ ดีหรือไม่ดี จะต้องเข้าไปดูว่าคนที่ได้สมควรได้หรือไม่ไม่ควรหว่านแห แต่หากคนที่จะช่วยเหลือเป็นคนที่ควรจะได้รับอยู่แล้ว มองว่ายังมีมุมที่พอจะรับฟังได้ อาทิ กรณีคนจน ค่อนข้างเห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนจน แต่คำถามคือ นโยบายที่ออกมาเข้าถึงคนจนจริงหรือไม่ และมีการรั่วไหลระหว่างทางมากน้อยแค่ไหน จะต้องมีการคิดและคำนวณให้รอบด้าน เพราะมีนโยบายที่ไม่ค่อยชัดเจน อาทิ แจกเงินดิจิทัล

Advertisement

ยังมีคำถามว่าทำไมอยู่ๆ รัฐจึงไปให้เงินในเมื่อไม่สามารถผลิตเงินขึ้นมาฟรีๆ ได้ นอกจากนั้นยังมีนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเงินให้กับผู้สูงอายุ จึงเป็นคำถามที่ว่านโยบายเหล่านี้มีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่” นายนณริฏกล่าว

นายนณริฏกล่าวอีกว่า อยากให้ทุกฝ่ายกลับมาทบทวนการจัดทำนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่ 1.การช่วยเหลือควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม งบประมาณไม่ควรเยอะเกินไป 2.กลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือต้องถูกต้อง ต้องมีหลักการในการช่วยเหลือ และ 3.ต้องมองในระยะยาว ไม่ใช่ลักษณะการช่วยเหลือไปตลอด หากเป็นลักษณะนี้มองว่าไม่มีความยั่งยืน

ธนิต โสรัตน์

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า จากนโยบายแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ถือเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกพรรคนั้น คนที่ออกมาพูดถึงนโยบายนี้คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เป็นนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศมาก่อน เมื่อพูดแล้วต้องรักษาคำพูด จึงต้องจับตาดูว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งมาแบบเด็ดขาดหรือไม่ เพราะหากมีหลายพรรคเข้ามาจะมีเงื่อนไขว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายเรื่องการเงินที่สัญญากับประชาชนไว้อยู่แล้ว จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องงบประมาณ และส่งผลให้อาจจะไม่ได้ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนได้

Advertisement

“มองว่าการให้ในลักษณะนี้เป็นการเหวี่ยงแหมากเกินไป เพราะถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเปราะบาง เนื่องจากบางกลุ่มไม่มีความจำเป็นว่าจะได้เงินจำนวนดังกล่าว และทราบมาว่านโยบายดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท คำถามคือจะเอาเงินมาจากไหน หากนำมาจากเงินภาษี แต่มองว่าเงินภาษีก็ต้องนำไปใช้ในส่วนอื่นด้วย

เพราะฉะนั้นนโยบายดังกล่าวอาจจะเป็นการใช้งบประมาณมากเกินไป ในระยะยาวอาจส่งผลเสียทำให้ประชาชนติดเป็นนิสัย ได้อะไรมาง่ายเกินไป อาจจะเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับประชาชน และพรรคการเมืองออกนโยบายในลักษณะนี้มา อาจจะทำให้ประเทศต้องกู้เงินอีกครั้ง จนส่งผลให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรออกมาอีก หากพันธบัตรของรัฐไม่มีความน่าเชื่อถือ จะทำให้เงินบาทอ่อนค่า และสุดท้ายก็กลายเป็นเงินกงเต๊ก” นายธนิตกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image