สถานีคิดเลขที่ 12 : หมัดเด็ด 2 ขั้วชิง ส.ส.

สถานีคิดเลขที่ 12 : หมัดเด็ด 2 ขั้วชิง ส.ส. เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. พร้อมกันทั่วประเทศ ตามกติกาเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ

เลือกคนที่รัก ส.ส.เขต ผ่านบัตรเลือกตั้งสีม่วง ทั้ง 400 เขต และเลือกพรรคที่ชอบ ผ่านบัตรเลือกตั้งสีเขียว 100 ที่นั่ง เพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนทั้ง 500 คน

ช่วงโค้งสุดท้าย เข้าสู่ทางตรงก่อนเข้าเส้นชัย ทั้ง 67 พรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคใหม่ พรรคเก่า ย่อมต้องงัดทุกกลยุทธ์

ยุทธศาสตร์ทางการเมือง ชนิดที่เป็นหมัดเด็ด ไพ่เด็ด ขึ้นมาเพื่อเรียกคะแนนเสียง หวังเอาชนะคู่แข่งตามเป้าหมาย หากแบ่งกันตามจุดยืนทางการเมือง

Advertisement

ที่แยกกันชัดเป็น “ขั้วอนุรักษนิยม” นำโดย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมกับชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค รทสช. ลงชิงชัยอีกสมัย

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พปชร. เป็นตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียว

แข่งกับขั้ว “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) นำเสนอแคนดิเดตนายกฯ เต็มโควต้า 3 ชื่อ คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย

Advertisement

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ชู นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงชื่อเดียว รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เป็นแนวร่วมในฝั่งประชาธิปไตย

แน่นอนด้วยจุดยืนทางการเมือง ฐานเสียงของผู้สนับสนุน ที่มีความชัดเจนของทั้ง 2 ขั้วการเมือง หากดูจากผลการสำรวจจากโพลสำนักต่างๆ ตลอดจนการวิเคราะห์ของนักวิชาการ

มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนตรงกันว่า ฐานเสียงของแต่ละขั้วการเมืองย่อมจะโหวตเลือกพรรคการเมืองตามจุดยืนทางการเมือง โอกาสที่จะโหวตเลือกพรรคการเมืองแบบข้ามขั้วนั้นน้อยมาก

ภาพที่ปรากฏชัดในขณะนี้ คือ การแย่งชิงฐานเสียงของกลุ่มโหวตเตอร์ ภายในขั้วเดียวกัน หากดูจากโหวต โพลเลือกตั้ง’66 ในครั้งที่ 2 ของเครือมติชนและเดลินิวส์ จะพบว่า

คะแนนนิยมของพรรคการเมืองในขั้วประชาธิปไตย คะแนนนิยมแค่ 2 พรรค คือ พรรค ก.ก. พรรค พท. มีผลรวมกันของคะแนนโหวต ที่จะเลือก ส.ส.เขต คือ 83.75%และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 83.94% ถือว่ามีสัดส่วนที่สูงไม่น้อย หากจะแปรคะแนนนิยมดังกล่าวเป็นที่นั่ง ส.ส. แบบตรงไปตรงมา แค่เพียงสองพรรคจะได้เสียงรวมกันราว 400 เสียง

แต่ในการเลือกตั้งผลการสำรวจผ่านโพลอาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่แต่ละพรรคจะนำไปพิจารณา เพิ่มจุดแข็ง หรือแก้จุดอ่อน ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนวันกาบัตร

เชิญมาร่วมหาคำตอบในเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง’66” ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผ่านการวิเคราะห์ โดย อ.อัครพงษ์ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านรัฐศาสตร์ และการเมือง

มานำเสนอชุดข้อมูล แนวทางการวิเคราะห์ทิศทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้าย ให้คีย์แมนของทั้ง 2 ขั้วการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ได้นำไปตัดสินใจผ่านคูหาเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image