เดินหน้าชน : เลือกเพื่อเปลี่ยน

เดินหน้าชน : เลือกเพื่อเปลี่ยน ถ้าไม่มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวของ “เยาวชน-นิสิต-นักศึกษา”

ถ้าไม่มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวของ “เยาวชน-นิสิต-นักศึกษา” กลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน ก่อนจะขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง
การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็คงจะไม่ใช่เดือนมีนาคม
แต่จะทอดเวลาออกไปให้รัฐบาล คสช.อยู่ในอำนาจยาวนาน
การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต้องแลกมาด้วยการถูกจับกุม ตั้งข้อหา ยัดเข้าคุก-เข้าตะราง
หลังเลือกตั้งได้เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีงูเห่าเกิดขึ้น สะท้อนถึงการหักหลังพรรคที่เคยสังกัดโผไปซบพรรคใหม่
โดยไม่แยแสต่อคะแนนเสียงที่ประชาชนอุตส่าห์ไปลงคะแนนให้
ถ้าไม่มี money ก้อนใหญ่ให้เพื่อแลกกัน ถามว่าจะยอมย้ายพรรคไหม?
ลิงกินกล้วยกันเพ่นพ่าน ก็เช่นกัน!

นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค คสช.ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 หลังเกิดรัฐประหาร ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ที่อำนาจการปกครองอยู่ในมือของพรรคการเมืองรัฐบาลผสม
ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ประชาชน
กลายเป็นโซ่ผูกมัดรัดคอคนพูดจนดิ้นไม่หลุด
เพราะมันนาน (มากถึง 9 ปีแล้ว (2557-2566)!?

กระแสความต้องการ “เปลี่ยน” ให้ประเทศ “ไม่เหมือนเดิม” ถูกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ทั้งนโยบาย แคนดิเดตนายกฯ สอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม
ขณะที่ผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กระโดดย้ายพรรคจากพลังประชารัฐ ที่เคยเสริมส่งให้เป็นนายกฯ มา 4 ปีมาตั้งพรรคใหม่ รวมไทยสร้างชาติ
ทั้งสองพรรคเลยต้องมาแข่งกันเอง สร้างความเจ็บช้ำกล้ำกลืนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เลือกตั้งครั้งใหม่นี้ มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองที่ต้องจดบันทึกไว้
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ตะลอนๆ ไปหาเสียงในจังหวัดต่างๆ ขึ้นเวทีปราศรัย เดินพบชาวบ้านในตลาด ย่านชุมชน ถ่ายรูปร่วมกับแฟนคลับ ขึ้นรถแห่โบกไม้โบกมือทักทาย ยกมือไหว้ชาวบ้าน ยิ้มกับคนโน้นคนนี้ ไม่แสดงท่าทีรังเกียจใคร เพื่อขอคะแนนเสียง
สมัยเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช.เคยทำแบบนี้หรือไม่!

Advertisement

หนึ่ง การเสนอเงินให้ประชาชนลักษณะต่างๆ จากพรรคการเมืองที่เรียกกันว่า “นโยบาย”
หนึ่ง การจัดเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์หัวข้อต่างๆ เกิดขึ้นหลายครั้งทั้งในส่วนกลางและในจังหวัดต่างๆ
จัดโดยสื่อ องค์กร สถาบัน ซึ่งพรรคการเมืองได้ส่งตัวแทนมาร่วม มีบางพรรคแคนดิเดตไม่มาร่วมเวที

หนึ่ง การจัดทำโพลจากหลายสำนักเพื่อสะท้อนความคิดเห็นประชาชนทำให้เห็นภาพความนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ

หนึ่ง การแสดงจุดยืนของพรรคว่าจะร่วมกับพรรคไหน หรือไม่ร่วมกับพรรคใด และเกิดข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองถึงขั้นโจมตีและแจ้งความดำเนินคดีกัน

Advertisement

หนึ่ง เยาวชนคนรุ่นใหม่แสดงท่าทีสนับสนุนพรรคการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบ

หนึ่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ออกรณรงค์คัดค้านพรรคการเมืองที่สนับสนุนกัญชา เรียกร้องประชาชนอย่าเลือกพรรคนี้

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเดิมพันหลายอย่าง ตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงของประชาชน
ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่ากัน คือ 1 เสียงที่จะชี้ชะตา ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ได้นายกฯคนใหม่

14 พฤษภาคม พบกันหน้าคูหาลงคะแนน ร่วมกันเปลี่ยนประเทศอย่างมีความหวังด้วยมือเรา!?!

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image