ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 9 ‘ค้นพบจิตรกรรม’ (ต่อ)

จิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

Advertisement
พระปรางค์วัดราชบูรณะ
พระปรางค์วัดราชบูรณะ

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

โครงการระบายสี (Colour scheme) ของภาพจิตรกรรมเป็นสีแดงเสน (Vermllion) พื้นหลังของภาพเป้นสีแดงเสนอ่อน สลับด้วยสีเดียวกันซึ่งเป็นสีแดงแก่เพื่อหนุนให้ภาพเด่นชัดด้วยน้ำหนักอ่อนแก่ของสี สีขาว สีดำ และทอง ช่วยทำให้สีของภาพชดขึ้น แม้ประสิทธิภาพของสีจะมีมาก แต่โครงการระบายสีก็ยังดูเป็นน้ำหนักของสีเอกรงค์ (Monochrome) อันเป็นสัญลักษณ์อย่างเดียวกับภาพเขียน (อีกแห่งหนึ่ง) ในวัดเดียวนี้ และที่วัดมหาธาตุอันตั้งอยู่ใกล้ๆ ซึ่งนายเฟื้อ หริพิทักษณ์ ทำการคัดลอกอย่างประณีตรักษาแบบของเดิมที่สุด เมื่อหกปีมาแล้ว หลังจากนั้น ภาพจิตรกรรมในพระเจดีย์องค์เล็กในวัดราชบูรณะก็สูญไป เพราะองค์เจดีย์พังทลายลงเสียแล้ว

Advertisement

กรุที่ค้นพบใหม่นี้ บรรจุเครื่องทองไว้มากมายหลายอย่างด้วยกัน บรรดาของเหล่านี้ต้องเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ทรงอุทิศถวายไว้เป็นอนุสรณ์ในการสร้าววัดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

นิทรรศการพิเศษ "เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน" ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 ธันวาคม 2559
นิทรรศการพิเศษ “เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 ธันวาคม 2559

ลองสร้างมโนภาพดูว่า ภาพเขียนบนฝาผนังกรุ ซึ่งมีโครงการระบายสีเป็นสีแดงเสนสดนั้น ช่วยขับเครื่องทองอันมีประกายกล้าอยู่แล้ว ให้ดูสดใสขึ้นอย่างมหัศจรรย์เพียงใด

ลองสร้างมโนภาพดูว่า ภาพเขียนบนฝาผนังกรุ ซึ่งมีโครงการระบายสีเป็นสีแดงเสนสดนั้น ช่วยขับเครื่องทองอันมีประกายกล้าอยู่แล้ว ให้ดูสดใสขึ้นอย่างมหัศจรรย์เพียงใด แม้จะไม่มีใครมีโอกาสได้เข้าไปเห็นสิ่งอันน่าคลั่งไคล้ไหลหลงนี้ด้วยตาตนเอง เพราะกรุซึ่งสร้างด้วยแลงนี้อยู่ลึกลงไป (จากระดับบน) ถึง 3.40 เมตรก็ตาม
ข้อนี้ชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าศิลปินไทยครั้งโบราณนั้น ถึงจะเขียนภาพไว้ในสถานที่ซึ่งไม่มีผู้ใดมีโอกาสได้เห็นหรือชมเชยผลงานของท่านเลย ก็คงทำงานของท่านเพื่ออุทิศถวายและเชิดชูพระกิตติคุณของพระบรมศาสดาเท่านั้น

ฝาผนังกรุแบ่งออกได้เป็น 2 ตอน คือ ตอนล่าง แบ่ง 4 ชั้น หรือ 4 แถว ตอนบนแบ่งส่วนเกือบจะเท่าๆกัน เป็น 4 ชั้นหรือ 4 แถว แถวบนสุดเป็นรูปพระพุทธนั่งเรียงกันไปมีศาสนิกชนนั่งไหว้คั่นอยู่ข้างๆ จะเห็นว่ารูปวงพระรัศมีของพระพุทธรูปนั้นมนรีเป็นแบบอินเดีย (ส่วน) วงพระรัศมีที่คลี่คลายมาจนเป็นแบบสมบูรณ์ของไทยนั้นมีทรงเป็นรูปกลีบบัว
รูปพระพุทธในกรุนี้ซึ่งนั่งเรียงแถวซ้ำแบบกัน เวียนรอบไปตลอดด้านของผนังกรุตอนบนนั้น ก็เป็นแบบเดียวกันกับภาพจิตรกรรมในองค์พระเจดีย์วัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุที่กล่าวแล้วข้างต้น แถวกลางสองแถวของตอนบน แบ่งออกเป็นช่องๆ หลายช่องด้วยภาพเขียนเป็นลวดลายดอกไม้และโครงสร้างซึ่งลวดลายองค์ประกอบในช่องนั้นๆ เขียนเป็นภาพแสดงเรื่องพุทธประวัติ จัดเป็นส่วนเอกเทศ กล่าวคือ มิได้เขียนขึ้นโดยสมส่วนของปริมาตรและความเสมอภาคกันของขนาดรูป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

วัดราชบูรณะ

 

กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

จิตรกรรมวัดราชบูรณะ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image