สุจิตต์ร่ายกำเนิด ‘เพลงลูกทุ่ง’ เหตุความขัดแย้งทางชนชั้น หลัง2475 สู่สัญลักษณ์การต่อต้าน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ สำนักพิมพ์ไรท์เตอร์จัดงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ครูไพบูลย์ บุตรขัน และจัดตีพิมพ์หนังสือ “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” โดยวัฒน์ วรรลยางกูร

ช่วงหนึ่งของงาน เป็นการเล่าถึงความเป็นมาของเพลงลูกทุ่งโดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน

นายสุจิตต์กล่าวว่าเพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากล ในวัฒนธรรมป๊อบ มีกำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางชนชั้นอันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพลงไทยสากลสมัยแรก จำแนกกว้างๆอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ เพลงผู้ดี กับเพลงตลาด เพลงผู้ดีสะท้อนวิถีโลกสวยของชาวกรุง เป็นผู้ได้เปรียบทางสังคม พวกนี้นิยมลีลาศสากล และเต้นรำ พร้อมกันนั้นก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ส่วน เพลงตลาด สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ต้องการความเปลี่ยนแปลงสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยสากล พวกนี้นิยมรำโทน ที่ต่อมา จอมพล ป. เอามาทำเป็นรำวง

“ชื่อ ‘เพลงตลาด’ เป็นการเรียกอย่างเหยียดจากกลุ่มชาวเพลงผู้ดี ซึ่งเป็นผู้ได้เปรียบ และยังเรียกอีกว่า ‘เพลงชาวบ้าน’ หมายถึง ไม่ผู้ดี แต่กลุ่มเพลงตลาดบางทีก็เรียกกันเองว่า ‘เพลงชีวิต’ (ไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต ที่มาทีหลัง) ตั้งแต่ยุคแรกเพลงตลาดถูกเหยียดหยามและถูกกีดกันจากเพลงผู้ดี ไม่มีหรือมีไม่มากที่ออกอากาศทางวิทยุซึ่งเป็นช่องทางเดียว ต้นปี 2507 คุณจำนง รังสิกุล หัวหน้าโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมให้ทำรายการชื่อ “เพลงชาวบ้าน” คนด่าว่าเอาอะไรมาออกโทรทัศน์ จนเขาถอดรายการ คุณประกอบ ไชยพิพัฒน์ เสนอขอทำเอง เปลี่ยนชื่อรายการเป็น “เพลงลูกทุ่ง” คนก็ด่าอีก แต่meไปสักพักคนเริ่มหันมาฟัง แล้วส่งผลให้วิทยุกับทีวีอื่นๆต้องมีเพลงลูกทุ่ง ไม่ใช่อยู่ๆคุณประกอบคิดขึ้นมา เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้วัฒนธรรมรากของพื้นถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง รวมตัวอย่างธรรมชาติ แสวงหาพื้นที่ของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับตลาดโดยตรง

Advertisement

“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจครั้งที่สอง ขึ้นเป็นนายกฯเปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มุ่งอเมริกัน เริ่มต้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานต้องนำแรงงานต่างจังหวัดเข้ามาโรงงานอุตสาหกรรม คนจากชนบทโดยเฉพาะภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ คนพวกนี้มีบทบาทเป็นผู้เสพเพลงชาวบ้านเพลงลูกทุ่ง และเป็นผู้สร้างสรรรค์ด้วย และเทคโนโลยีเปลี่ยน ก่อนทรานซิสเตอร์จะเข้ามา วิทยุต้องใช้ถ่ายไฟฉายก้อนเท่ากำปั้น 24 ก้อน ต้องมีเสาอากาศเท่าลำไม้ไผ่ หมู่บ้านนึงมีวิทยุเครื่องนึงก็บุญแล้ว พอทรานซิสเตอร์เข้ามาใช้ไฟฉาย3-4ก้อนเล็กๆ หิ้วไปไหนก็ได้ ชาวนาเอาไปไถนาด้วยก็ได้ แม่บ้านทำกับข้าวก็ยกไปตั้งในครัว เกิดผู้ฟังล้นหลาม นี่คือตลาดของเพลงลูกทุ่ง”

นายสุจิตต์กล่าวต่อว่า ช่วงสงครามเวียดนาม ไทยประกาศตัวเข้าสงครามเป็นฐานทัพให้อเมริกาเอาเครื่องบินไปบอมบ์เวียดนาม นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยเริ่มต่อต้าน มีกิจกรรมเล่นร้องเพลงลูกทุ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านสังคม ต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านทุนนิยมบริโภค ต่อต้านเผด็จการทหาร ต่อต้านผมเกรียนแบบทหารจึงไว้ผมยาวแบบฮิปปี้ นิยมร็อคแอนด์โรล สี่เต่าทอง มากันเป็นพรวนรวมทั้งลูกทุ่ง ทุกมหาวิทยาลัยตั้งวงลูกทุ่งสนุกสนานเฮฮา เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน จนเกิดเหตุใหญ่เมื่อสุรพล สมบัติเจริญถูกยิงตาย พ.ศ.2511 ช็อกคนทั้งประเทศ อาจเพราะความดังของสุรพลด้วย ทั้งหมดหันกลับมามองเพลงลูกทุ่ง จนได้รับการต้อนรับเข้าไปเล่นในไนต์คลับ หลัง14ตุลาคม2516 เพลงลูกทุ่งมีพัฒนาการกว้างไกลไม่เหมือนเดิมท่ามกลางความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมตราบจนปัจจุบัน

Advertisement

“คำร้องของกลุ่มที่เป็นเพลงตลาด-เพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ 2480-90 ลงมา ที่ร้องต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องความเสมอภาค เป็นงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ ด้วยชั้นเชิงคีตกวีที่สะท้อนความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองใต้เผด็จการทหาร คำร้องพรรณนาความงามของชนบทสะท้อนความไม่มั่นใจและไม่มั่นคงต่ออนาคต ตั้งแต่ยุค ‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ จอมพลสฤษดิ์ จนถึงยุคคืนความสุขแต่ได้ความทุกข์ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image