ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 15 ‘พระพิมพ์วัดราชบูรณะ’ (ต่อ)

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์ จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

มานิต วัลลิโภดม
มานิต วัลลิโภดม

พระพิมพ์วัดราชบูรณะ

มานิต วัลลิโภดม
ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี

พระพิมพ์ได้ยุติกันมาตั้งแต่เดิมแล้ว ว่าเป็นของนับถือกันเหมือนอย่างอนุสาวรีย์ ด้วยเหตุที่ความนิยมนับถือรูปหล่อเจริญมากขึ้น การสร้างพระพุทธเจ้าหรือรูปเคารพอื่นๆ ในทางศาสนาถือกันว่าเป็นมูลแห่งกุศล แต่การหล่อรูปด้วยโลหะ แกะด้วยไม้ หรือสลักด้วยหิน เป็นของที่ทำกันไม่ได้ทั่วไป คนจนๆ ผู้มีความปรารถนาบุญเพื่อหวังจะให้ตนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในชาติหน้า จึงพากันสร้างรูปด้วยก้อนดินอันถือว่าเป็นหนทางได้บุญกุศล โดยไม่ต้องอาศัยสติปัญญาชั้นสูงหรือทรัพย์สมบัติเมื่อเขาปรารถนาเช่นนี้และมีโอกาสที่จะทำได้ด้วย จึงได้เกิดสร้างรูปด้วยดินกันขึ้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งรายหนึ่งตั้ง 84,000 ข้อนี้เองเป็นมูลเหตุแห่งการสร้างรูปพระพุทธเจ้าด้วยดิน ซึ่งได้พบเป็นจำนวนมากมายที่ตามถ้ำต่างๆ ในแหลมมลายู ฝีมือที่ทำดูเหมือนจะเป็นฝีมือของพวกฤาษีที่ยังมีชีวิตของตนให้ล่วงไปโดยการแสวงบุญกุศล โดยอาศัยความตรึกตรองให้ซึ่งลงไปสักเล็กน้อย ก็ไม่สู้จะเป็นการยากนักที่จะแลเห็นภาพอันใกล้เคียงของวัดพระพุทธศาสนาโบราณในวันเทศกาล และในจำพวกคนขายเครื่องหอมดอกไม้ธูปเทียน จะต้องมีเจ้าของแม่พิมพ์คอยขายแก่พวกสัตบุรุษ ด้วยราคาถูกๆ อีกด้วย ประโยชน์ของการใช้แม่พิมพ์นั้น คือ สำหรับพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าซึ่งพวกสัตบุรุษจะซื้อเอาไปเป็นที่ระลึก หรือถวายไว้ที่วัดต่างเครื่องสักการะก็ได้

ถ้าเช่นนั้นแล้ว แม่พิมพ์จะมีรูปสัณฐานเป็นอย่างไร แม่พิมพ์จะต้องเป็นแผ่นทองแดงแกะอย่างลึกและมีด้ามสำหรับถือ การใช้แม่พิมพ์เจริญแพร่หลายมากขึ้นทุกทีๆ จนเป็นเหตุให้เกิดใช้แม่พิมพ์สร้างแม่พิมพ์ต่อๆ กันมาจนมากมายก่ายกอง

Advertisement

พระพิมพ์โบราณโดยมากมีคำจารึกอักษรตัวเล็กๆ ข้างบนบ้าง ข้างๆ บ้าง ข้างหลังบ้างเป็นภาษาสันสกฤตก็มี ภาษาคมธก็มี เป็นอักษรเทวนาครีที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศอินเดียเหนือก็มี เป็นตัวอักษรของพวกอินเดียฝ่ายใต้ก็มี เป็นตัวอักษรของเหล่าประเทศระหว่างอินเดียและจีนก็มีแล้วแต่สถานที่ที่ได้พบและอายุของพระพิมพ์นั้น คำจารึกเหล่านั้นมักจะมีความหมายเหมือนกันเสมอเป็นคาถาอ่านว่าดังนี้

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ คถาคโต (อาห)
เตสํ จ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ

แปลได้ความดังต่อไปนี้ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

ใจความย่อแห่งพระคาถาซึ่งมีเพียง 4 บาทนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจให้แลเห็นถึงความจริงอันเพียงพอสำหรับจะเลือกเฟ้นการอธิบายของคำสั่งสอนส่วนอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่เพียงเท่านั้น ตามเรื่องหนังสือเก่าๆ หลายเรื่องกล่าวไว้ว่า โดยใจความแห่งพระคาถาอันนี้ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้อัครสาวกทั้ง 2 คือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งภายหลังในสังฆมณฑลนับถือกันว่าเป็นที่ 2 รองจากพระศาสดาจารย์เจ้าลงมา นัยอันหนึ่งซึ่งทำให้พระอัครสาวกทั้ง 2 ของพระศาสดาเข้าใจความได้โดยเร็วนั้น ต้องปรากฏแก่พวกพุทธศาสนิกชนว่าเป็นธรรมวิเศษชนิดหนึ่งและดูเหมือนเขาจะนับถือกันว่าเป็นสัมฤทธิ์มนต์สำหรับจะเปลี่ยนแปลงความนับถือของบุคคลผู้ยังไม่เคยสดับนัยอันนี้ด้วย ฉะนั้น จึงไม่มีธรรมข้อใดหรือบทใดดีไปกว่าในการที่จะใช้จารึกบนพระพิมพ์ซึ่งเป็นวัตถุเบามีขนาดอันงามสง่า เหมาะที่จะช่วยประกาศพุทธวจนะอันดีนี้ให้แพร่หลายออกไป ในสมัยนี้ในเมืองไทย

พระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เมื่อสังเกตให้ดีแล้ว เราจะได้เห็นพระพิมพ์เก่าๆ โดยมากเป็นรูปมหาปาฏิหาริย์ของเมืองสาวัตถี เมื่อพระพุทธเจ้าทรงชำนะซึ่งเดียรถีย์นิครนถ์แล้ว และทรมานบุคคลให้กลับนับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นจำนวนมาก การทำใจให้เปลี่ยนจากความนับถือนี้ เป็นความตื่นเต้นกันเท่ากับการบังคับให้เปลี่ยนศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราอาจคิดได้ว่าบุคคลผู้ได้ทำรูปพระพิมพ์แล้วและบรรจุไว้ในถ้ำและสถูปต่างๆ เป็นจำนวนตั้งหลายพันองค์นั้นจะต้องคิดถึงการประกาศศาสนาในอนาคตอันไกลเป็นแท้ และหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี ดูเหมือนว่าพวกพุทธมามกบุคคลจะได้มีความรู้สึกว่า เมื่อครบอายุพระพุทธศาสนาๆ จะเสื่อมลง การพบเห็นรูปพระศาสดาจารย์เจ้า และคาถาย่ออันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบกลับเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือขึ้นอีก

เมื่อสรุปใจความแล้ว คงได้ความว่า พระพิมพ์ซึ่งชั้นต้นทำแทนของหรือรูปเป็นที่ระลึกของสังเวชนียสถานนั้น ได้กลายเป็นรูปอันสำคัญชนิดหนึ่งขึ้นโดยลำดับและเป็นของถูกๆ ซึ่งทำให้คนจนๆ สามารถได้ส่วนกุศลกับเขาด้วย คือว่ารูปพระพิมพ์หรือคาถาอันได้จารึกที่พระพิมพ์เป็นเครื่องทำให้คนกลับใจนับถือศาสนาเหมือนกับมนต์อันศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นบุญกุศลของคนมีทุนทรัพย์น้อยผู้ได้สร้างพระพิมพ์ถูกๆ นั้นขึ้นด้วยเหมือนกัน และทุกวันนี้ก็ยังได้ใช้เป็นเครื่องรางอันเข้าใจกันว่าเป็นของคงกระพันชาตรีกันอยู่มาก

ในตอนท้ายแห่งหนังสือ ตำนานพระพิมพ์ นั้น ท่านศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวต่อไปว่า

“ขอให้นึกถึงคำทำนายที่ว่า พระพุทธศาสนาจะสิ้นไปเมื่อครบอายุ 5000 ปี หรือคงจะมีอยู่อีก 2531 ปี ตั้งแต่ปีนี้ (หมายถึงปีแต่งตำนานพระพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2469) เป็นต้นไปนั้น ต่อให้เกิดมหาอุทกภัยซึ่งสามารถจะพัดพาเอาวัตถุต่างๆ ในพระศาสนาไปทั้งหมด เป็นต้นว่าโบสถ์ วิหารรูปหล่อ พระคัมภีร์ และของอื่นๆ อีก ขอให้เหลือแต่พระพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น นักโบราณคดีสมัยเลย 5000 ปีไปนั้นเมื่อได้พบเห็นพระพิมพ์แล้วจะสามารถรู้ได้ว่าศาสนาอันสูงสุดกว่าศาสนาทั้งปวงได้เคยมาเจริญอยู่ในอาณาเขตซึ่งเรียกกันว่าบูรพทิศนี้ครั้งหนึ่ง คือพระพิมพ์เหล่านั้นจะแสดงให้นักโบราณคดีทราบถึงพระผู้เป็นเจ้าของศาสนา ซึ่งเป็นที่นับถือของชนทั้งหลาย ทั้งจะให้รู้ถึงวิชาช่างของประเทศต่างๆ ในสมัยต่างๆ และให้รู้ถึงเทวดาสำคัญๆ ซึ่งพวกมหายานค่อยๆ นับถือกันขึ้นในศาสนาที่ไม่นับถือเทวดามาแต่ก่อน ถ้านักโบราณคดีสามารถแปลจารึกย่อๆ ซึ่งโดยมากมักจะอยู่บนพระพิมพ์เหล่านั้นออกได้แล้ว เขาก็จะได้รู้ความหมายของข้อความย่อๆ นั้นทีเดียวว่าเป็นลัทธิที่มีแก่นสามารถ”

พระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

กำหนดแบบศิลปะ

โดยเหตุที่พระพิมพ์เป็นของมีมาแต่โบราณกาลดังกล่าวในมูลเหตุแห่งการสร้างนั้นการกำหนดแบบศิลปะและสมัยของพระพิมพ์ที่สร้างในดินแดนประเทศไทย ก็เป็นอย่างเดียวกับพระพุทธรูป คือ
1.แบบทวารวดี เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17
2.แบบศรีวิชัย เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17
3.แบบอู่ทอง เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 20
4.แบบลพบุรี เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19-20
5.แบบเชียงแสน เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24
6.แบบสุโขทัย เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 20
7.แบบอยุธยา เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24
8.แบบรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 มาจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image