จาก ‘พระพุทธบาท’ ถึง ‘ไนกี้’ สัมมนาขุดลึกปวศ.รองเท้าไทย แตะคีบ คัทชู ผ้าใบ ยุคไหนเกิด?

‘จากพระพุทธบาท ถึง ไนกี้’ สัมมนาขุดลึกปวศ.รองเท้าไทย แตะคีบ คัทชู ผ้าใบ ยุคไหนเกิด?

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาบัณฑิตศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “รองเท้าในประวัติศาสตร์ไทย : จากสินค้าหรูหราในราชสำนักสู่ตลาดมวลชน” บรรยายโดยนาย โธมัส ริชาร์ด บรูซ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์

นายบรูซ ได้นำเสนอเรื่องราวย้อนไปถึง “พระพุทธบาท” ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในประเทศไทย วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ตามด้วย “ฉลองพระบาท” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงรองเท้า 2 ประเภทในพระไตรปิฏก ได้แก “บาฑุกา” และ “อุปาหะนานิ” มีลักษณะคล้ายรองเท้าแตะแบบใช้นิ้วเท้าคีบ

จากนั้น เป็นการกล่าวถึงวัฒธรรมการแต่งกายตามหลักฐานจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์. ทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสยามยุคแผ่นดินพระนารายณ์.โดยระบุถึงผู้คนที่เดินเท้าเปล่า นอกจากนี้ได้นำเสนอภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน ที่ปรากฏภาพตามคำพังเพย “หัวกระได (ต้อง) ไม่แห้ง” มีภาชนะตักน้ำสำหรับล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน

Advertisement

นายบรูซ ยังแสดงสำเนาภาพถ่ายเก่า พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฉลองพระองค์แบบตะวันตก โดยทรงฉลองพระบาทด้วย รวมถึงภาพ “หม่อมราโชทัย” (ม.ร.ว กระต่าย อิศรากูร) สวมรองเท้าหุ้มส้นลวดลายสวยงาม โดยช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง วัฒนธรรมการใส่รองเท้าแพร่หลายมากขึ้น แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง และผู้สวมเครื่องแบบราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานในราชสำนัก

จากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 รองเท้าขยายไปสู่สาธารณชนมากขึ้น โดยมีประเด็นเรื่อง “สุขภาพ” เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการรณรงค์ให้ใส่รองเท้าเพื่อป้องกันพยาธิเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงฉลองพระบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมถึงภาพฉลองพระบาทหุ้มส้นแบบตะวันตก ที่เรียกว่า Court shoes อันเป็นที่มาของคำว่า รองเท้า “คัทชู” ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน

Advertisement

นายบรูซ. กล่าวถึงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีการรณรงค์ให้คนใส่รองเท้าภายใต้แนวคิด “รัฐนิยม” หลังจากนั้น รองเท้าเป็นที่นิยมมากขึ้นพร้อมกับ “อุตสาหกรรมรองเท้า” ในประเทศไทย โดยกลุ่มที่ทำรองเท้าจำหน่ายแรกๆ คือกลุ่ม “ชาวจีนแคะ” ซึ่งมีความรู้เรื่องการผลิตรอเท้าและการฟอกหนัง โดยรองเท้าไม้ หรือ “เกี๊ยะ” ก็เป็นที่นิยมด้วย

นายบรูซ ยังกล่าวถึงโรงเรียนฟอกหนังและผลิตรองเท้าของมิชชันนารีในจังหวัดลำปาง เมื่อมีความนิยมแพร่หลายขึ้น ได้เกิดโรงเรียนช่างเย็บหนัง บริษัทฟอกหนังสยาม หรือ Siam Hide and Leather Company มีการนำอุปกรณ์ฟอกหนังจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโฆษณารองเท้า อาทิ ยี่ห้อบาแรตส์ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นรองเท้าหนัง. ต่อมา มีการก่อตั้ง “องค์การฟอกหนัง” อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2498

สำหรับโรงงานรองเท้าซึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทยในปัจจุบันมีหลายแห่ง อาทิ “บาจา” ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปโดยมีการส่งออกมาถึงสยามครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2475 จากนั้นตั้งร้านค้าปลีก 3 แห่งเมื่อ พ.ศ. 2493 ต่อมา ใน พ.ศ. 2502 มีการจ้างแรงงาน 600 คน ทำ “รองเท้าผ้าใบ” และรองเท้านักเรียน 1,000 คู่ต่อวัน

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึง “นันยาง” ของตระกูลซอโสถิตกุล รวมถึง “สหพัฒนพิบูลย์” ของตระกูลโชควัฒนา ผลิตรองเท้า “ไนกี้” ส่งออกให้ บริษัท NIKE สหรัฐอเมริกาสะท้อนการเติบโตและประสบความสำเร็จของอุตสาหกรรมรองเท้าในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการบรรยาย มีผู้สนใจตั้งคำถามเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั่นคือเหตุใดความนิยมของรองเท้าหนัง ซึ่งมีมาก่อน ต่อมารองเท้าผ้าใบ จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย ซึ่งนายบรูซ ตอบว่า ตนเชื่อว่าเป็นเพราะ 2 เหตุผลหลัก คือ 1. รองเท้าผ้าใบราคถูกกว่า 2. เมืองไทยมีสภาพอากาศร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image