เปิดตำนาน “บ้านเชียง” ฉลองสัมพันธ์ 185 ปีไทย-สหรัฐ นักโบราณระดับโลกบินตรงร่วมชื่นมื่น

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ในช่วงค่ำ ที่อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงานฉลองครบรอบ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ปี 2561 โดยมีหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ดร. วิชาวัฒน์ อิสรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันหลากหลายด้าน ตัวอย่างคือ ด้านวัฒนธรรม ดังเช่นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เมื่อราว 50 ปีก่อน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งทำให้บ้านเชียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กระทั่งได้รับการยอมรับจากยูเนสโกโดยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อ พ.ศ.2535 บัดนี้ ถึงเวลาที่จะฟื้นฟูความสนใจในด้านนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงอารยธรรมเมื่อหลายพันปีที่แล้ว

จากนั้น นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ รองหัวหน้าคณะผู้แทน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในปัจจุบันระหว่างกรมศิลปากรกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมอบเงินสนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานหลายแห่งโดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Advertisement

“สถานทูตสหรัฐมีโครงการช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการบูรณะฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมให้อยู่อย่างถาวร โดยนับแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีโครงการต่างๆรวมถึง 17 โครงการทั่วประเทศ อาทิ การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศนเทพวราราม การบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่จังหวัดแพร่ การอนุรักษ์ศิลปกรรมอิสลาม และที่ใหญ่ที่สุดคือโครงการที่วัดไชยวัฒนาราม ในปี 2013 หลังได้นับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งสถานทูตได้มอบงินจำนวน 4 ล้านบาท มีการสำรวจความเสียหาย ออกแบบและสร้างพนังกั้นน้ำ ต่อมาได้ให้ทุนในการบูรณะเมรุทิศและเมรุรายอีกด้วย” นายเฮย์มอนด์ กล่าว

ต่อมา เป็นการฉายวีดีทัศน์บอกเล่าถึงความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐในการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และการบรรยายพิเศษ โดย ดร. จอยซ์ ไวท์ ผอ. สถาบันโบราณคดีภูมิภาึเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในคณะไทย-สหรัฐ ในการขุดค้นที่บ้านเขียง ระหว่าง พ.ศ. 2517-2518

Advertisement

ดร.ไวท์ กล่าวย้อนถึงการขุดค้นที่บ้านเชียงและความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970s ซึ่งต่อมาทำให้หมู่บ้านธรรมดากลายเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโก นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างการอยู่ในสื่อระดับโลกอย่าง “ซีเอ็นเอ็น” ที่ระบุว่า พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง คุ้มค่าแก่การมาเยี่ยมเยือน เพราะมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าอัศจรรย์

ดร.ไวท์ ยังกล่าวถึงผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่บ้านเชียงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประชากรที่สุขภาพดี และไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการสู้รบ ส่วนการผลิตข้าวของต่างๆนั้นมองว่าเทียบเคียงได้กับแนวคิดที่ปัจจุบับเรียกว่า “โอท็อป” หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กล่าวคือแต่ละชุมชนผลิตสิ่งของได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ลักษณะการการมีจุดศูนย์กลางแบบรวมศูนย์ แล้วกระจายไปยังชุมชนต่างๆแต่อย่างใด

ในตอนท้าย ดร.ไวท์ กล่าวถึงสถานการณ์เกี่ยวกับการลักลอบค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย โดยหนึ่งในนั้นมีโบราณวัตถุจากบ้านเชียงซึ่งเคยถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์โบเวอร์ส แคลิฟอร์เนีย ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้น และดำเนินการตามกฎหมาย

ในประเด็นดังกล่าว ดร.ไวท์ ได้มีข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา โดยขอให้อย่าซื้อโบราณวัตถุ และตั้งคำถามอยู่เสมอว่าโบราณวัตถุมาตากแหล่งใด นอกจากนี้ควรให้การสนับสนุนทุนทรัพย์แก่หน่วยงานที่ดำเนินการป้องปรามการกระทำดังกล่าว โดยย้ำว่าการกระทำดังกล่าวไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อแหล่งโบราณคดี แต่ยังสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานมีบุคคลสำคัญในแวดวงประวัติศาสตร์เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และนายพิสิษฐ์ เจริญวงศ์ อดีตผอ.ฝ่ายไทยในโครงการความร่วมมือไทย-สหรัฐเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โดยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในค่ำคืนนี้ด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 20 กันยายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะมีสัมมนาวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แบะผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อาทิ แนวทางปัจจุบันในการวิเคราะห์ด้านเครื่องปั้นดินเผา : คุณูปการของบ้านเชียง โดย Dr. Marie-Claude Boileau นักวิจัยประจำศูนย์วิเคราะห์วัตถุด้านโบราณคดี พิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย , ความหลากหลายในแนวทางการฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเชียง โดย นายนฤพนธ์ หวังธงชัยเจริญ อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ การขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดนาคาทวี จ.อุดรธานี ปี 2560 โดย น.ส. ทิพย์วรรณ วงส์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image