วัดแก้วไพฑูรย์ฉลองศาลาการเปรียญวันสุดท้าย แห่ชม ‘ไม้จำหลัก’ แน่น

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่วัดแก้วไพฑูรย์ ซอยเอกชัย 14 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการจัดงานสมโภชศาลาการเปรียญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยในช่วงกลางวัน มีงานทำบุญเลี้ยงเพลพระภิกษุจากวัดต่างๆ โดยเฉพาะอารามเก่าแก่ในย่านบางขุนเทียน อาทิ วัดนางนอง วัดหนัง วัดราชโอรส วัดสิงห์ วัดไทร และวัดต่างๆ ประมาณ 18 แห่ง รวม 20 กว่ารูป

พระครูวิมลรัตนาธาร หรือ หลวงพ่อจรินทร์ เจ้าอาวาสวัดเเก้วไพฑูรย์ กล่าวว่า เมื่อก่อนตอนที่บวชในช่วงแรก ศาลาแห่งนี้ค่อนข้างทรุดโทรม พอมีการปฏิสังขรณ์ใหม่ก็รู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ศาลาแห่งนี้สามารถอยู่คู่วัดและศาสนาไปอีกนาน โดยปกติในวันเสาร์อาทิตย์ จะมีกลุ่มผู้สูงอายุมารวมตัวกันในการปฏิบัติธรรม เช่น นั่งสมาธิ และเดินจงกรมเป็นประจำ ซึ่งตอนนี้ก็มีการจัดนิทรรศการขนาดย่อมๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลต่างๆ และเห็นภาพเก่าๆ ของศาลาในสมัยก่อน

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เปิดโรงทานให้ประชาชนเข้ามารับประทานอาหาร ก่อนที่ช่วงเย็น ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไปมีการจัดงานออกร้านจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน และมหรสพต่างๆ ในยามค่ำคืนซึ่งจัดแสดงเป็นวันสุดท้าย เช่น ลิเกคณะพระเอกบันฑิต, วงกลองยาว รวมถึงรำวงย้อนยุค เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนทะยอยเดินทางมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมปิดทองรูปหล่อหลวงปู่บุญ อธิการรูปแรกของวัด ซึ่งเป็นผู้สร้างศาลาการเปรียญ รวมถึงเจดีย์ทรงเครื่อง จากนั้น เข้าชมศาลาการเปรียญหลังการบูรณะพร้อมนิทรรศการที่แสดงข้อมูลและภาพถ่ายขั้นตอนการอนุรักษ์ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับภาพจำหลักบนฝาปะกนรอบศาลาเรื่อง “สุธนุชาดก”

Advertisement

นายเลิศชาย โพธิ์ลิม อายุ 59 ปี กล่าวว่า วัดแก้วไพฑูรย์เป็นวัดประจำบ้านเกิด ซึ่งใช้ชีวิตเป็นเด็กวัดอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2512 ความทรงจำที่มีต่อวัดก็คือศาลาการเปรียญแห่งนี้ เพราะมีการแกะสลักไม้ทั้งหลัง ซึ่งจากที่เคยเดินทางไปวัดต่างๆ ในประเทศไทยมาหลายแห่งแล้วรู้สึกว่ายังไม่เคยเจอศาลาที่แกะสลักไม้ทั้งหลังได้สวยงามขนาดนี้ เป็นมรดกล้ำค่าแก่คนในชุมชนอย่างมาก ซึ่งลวดลายของศาลาตามจุดต่างๆ นั้นย่อมเลือนลางและจางหายไปตามกาลเวลา จำเค้าโครงเดิมแทบไม่ได้ อีกทั้งเมื่อก่อนเป็นศาลาชั้นเดียว ข้างล่างเป็นใต้ถุนโล่งและมีบ่อน้ำตามธรรมชาติ

“ต่อมาคุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัทในเครือมติชนเป็นตัวตั้งตัวตีในการพัฒนาปรับปรุงวัดในครั้งนี้ ก็รู้สึกยินดีมาก ทำให้ลวดลายต่างๆก็กลับมาสวยสดงาม โดยสามารถคงเอกลักษณ์ที่มีได้เป็นอย่างดี เมื่อวัน 23 กันยายนที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญ เป็นสิ่งที่น่ายินดีและปลื้มปิติสำหรับชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้” นายเลิศชายระบุ

Advertisement

ด้านนาง พัชราภรณ์ ฤทธิคุปต์ กรรมการชุมชนเขตจอมทอง อายุ 65 ปี กล่าวว่า ตนรู้สึกผูกพันกับวัดเเก้วไพฑูรย์ตั้งเเต่ยังเด็ก เป็นที่น่ายินดีที่เจ้าอาวาส วัดเเก้วไพฑูรย์ได้อนุรักษ์สิ่งดีๆไว้ให้ชาวบ้านเขตชาวจอมทองได้ชื่นชม อย่างข้างในศาลาการเปรียญจากเมื่อก่อนมีความผุพังมากเพราะเป็นเรือนไม้ ตอนนี้ท่านอาวาสได้เชิญกรมศิลปากรมาอนุรักษ์และปรับปรุงจนสวยงาม และสิ่งที่ทุกคนชื่นชมมาก คือความสะอาดและความเจริญของวัดเเก้วไพฑูรย์ซึ่งมีความเเตกต่างไปจากเดิมมาก

ทั้งนี้ ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ สร้างขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในยุคสมัยของ “หลวงปู่บุญ” พระอธิการของวัดระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมเรือนไทย ใต้ถุนสูง หลังคาปีกนก ลดชั้น ได้รับการยกย่องจาก น. ณ ปากน้ำ นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ว่าเป็น “เรือนไม้อันวิเศษ”

เนื่องจากมีความสวยงามด้วยภาพจำหลักไม้ทั้งหลังบนฝาปะกน เป็นเรื่อง “สุธนุชาดก” ในปัญญาสชาดก จำนวน 44 ช่องรอบศาลา เรียงลำดับทวนเข็มนาฬิกา ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “ธรรมาสน์” ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา

ต่อมา ศาลาการเปรียญดังกล่าว ทรุดโทรมลงอย่างมาก นาย ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพพร้อมด้วยผู้มีใจศรัทธาและกลุ่มนักวิชาการตั้งแต่ปี 2554 ก่อนวางแผนปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ร่วมกับกรมศิลปากร ภายใต้ โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ในวาระเข้าสู่ปีที่ 35 ของเครือมติชน ร่วมด้วยมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ดำเนินการบูรณะในปี 2555 กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในพ.ศ. 2558 อันเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญ เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทุกคนต่างรู้สึกปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เนื่องจากวัดแก้วไพฑูรย์ เป็นวัดขนาดกลาง ไม่ใช่วัดใหญ่มากนัก แต่ท่านก็ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา ณ วัดแห่งนี้” หลวงพ่อจรินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image