คนไทยเชื้อเขมรแห่ไหว้ปราสาทโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ชาวไทยเชื้อสายเขมรโบราณแห่ไหว้ปราสาทสมอทามจาน อดีตอโรคยาศาลา หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล 1 ใน 102 แห่ง สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โบราณสถานปราสาทบ้านทามจาน ต.สมอ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ นายชัยวรรณ นิยม นายอำเภอปรางค์กู่ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงาน วันไหว้พระธาตุปราสาทสมอทามจาน พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และชมการแสดง ประกอบสี เสียง “ไภสัชชยคุรุไวฑูรย์ประภาสักการกาล” ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้มีการจำลองการค้าขายในตลาดโบราณ มีการสาธิตวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การทำขนมไปรกะซังจาก ต.กู่ การสานหมวกจากใบมะพร้าว การจักสานอุปกรณ์หาปลา การทำไม้กวาดจากทางมะพร้าว การทำข้าวต้มใบมะพร้าว การทำขนมตาลโบราณ การนวดแผนไทย นิทรรศการประวัติโบราณสถานสมอทามจาน กิจกรรมของเด็กและเยาวชนตำบลสมอ การแสดงวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมี การถวายภัตตาหารเพล การถวายสังฆทาน การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ โดยมี นายทิวา รุ้งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม อบจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ ผู้มีเกียรติ ประชาชน ต.สมอ และตำบลใกล้เคียง ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรโบราณ จำนวนกว่า 1,000 คน มาเข้าร่วมกิจกรรม มีนางคำแดง คำเขื่อง นายก อบต.สมอ เป็นผู้กล่าวรายงาน และให้การต้อนรับ

นางคำแดง คำเขื่อง นายก อบต.สมอ กล่าวว่า เนื่องจาก ต.สมอ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ มีโบราณสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชื่อว่าปราสาททามจาน ตั้งอยู่ที่บ้านทามจาน หมู่ที่ 12 ซึ่งโบราณสถานแห่งนี้ เป็น “อโรคยาศาลา” หรือ ศาสนสถานประจำโรงพยาบาล 1 ใน 102 แห่ง ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เช่นเดียวกับโบราณสถานรูปแบบเดียวกันอีกหลายแห่งที่พบกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1724-1763) หรือประมาณ 800 กว่าปีล่วงมาแล้ว

นางคำแดง ยังกล่าวต่อไปอีกว่า โบราณสถานทามจานนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเรียบร้อยแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่เศษ และได้รับการบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงภูมิทัศน์ ขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี จากสำนักศิลปากรที่ 11 จ.อุบลราชธานี พบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ ศิลาจารึก และรูปเคารพต่างๆ เช่น พระพุทธรูปนามว่า “ไภสัชยคุรุไวฑุรย์” จึงเป็นที่มาของการแสดง ละครอิงประวัติศาสตร์ ชื่อว่า “ไภสัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสักการกาล” ซึ่งมีการจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image