“Race” หนังว่าด้วยชัยชนะของนักกีฬาผิวสีชาวอเมริกันและโอลิมปิคการเมืองของ “ฮิตเลอร์”

Race หนังว่าด้วยชัยชนะของนักกีฬาผิวสีชาวอเมริกันและโอลิมปิคการเมืองของฮิตเลอร์

Race หนังว่าด้วยชัยชนะของนักกีฬาผิวสีชาวอเมริกันและโอลิมปิคการเมืองของฮิตเลอร์

หนังอัตชีวประวัติของนักกรีฑาผิวสีชาวอเมริกัน เจสซี่ โอเวนส์ ที่คว้าสี่เหรียญทองโอลิมปิคในคราวเดียวกันจากการวิ่ง 100 เมตร 200 เมตร วิ่งผลัด 4×100 เมตร และกระโดดไกล หนังไม่ใช่แค่แสดงถึงความตั้งใจจริง ความอดทน ความกล้าหาญของนักกรีฑาเจสซี โอเวนส์ (สเตฟาน เจมส์) สัมพันธภาพระหว่างเจสซีกับโค้ชแลรีซ สไนเดอร์ (เจสัน ซุเดย์คิส) หรือความมีน้ำใจนักกีฬาของนักกีฬาต่างเผ่าพันธ์ ลุซ ลอง เท่านั้น

แต่ยังสะท้อนภาพสังคมและการเมืองช่วงปี ค.ศ. 1936 เป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 11 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ต่อหน้าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ชาติพันธุ์ตัวเองสูงส่ง เก่งกาจ ฉลาดเฉลียวกว่าเผ่าพันธุ์อื่น

หลายประเทศอยากบอยคอตไม่ให้มีการแข่งขัน เพราะรู้ว่า ฮิตเลอร์จะใช้การแข่งขันนี้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ แสดงแสนยานุภาพ เผยแพร่ลัทธินาซีและโอ้อวดตัวเองต่อชาวโลก

แต่คณะกรรมการโอลิมปิคไม่เห็นด้วย จึงยังคงมีการแข่งขันอยู่ และได้รับการขนานนามว่า “นาซีเกมส์” มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และถ่ายทอดไปทั่วโลก แต่ฮิตเลอร์กลับถูกหักหน้าโดนนักวิ่งผิวดำ พลเมืองชั้นสองของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกคนในประเทศอเมริกาเองเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “นิโกร” ที่สามารถเอาชนะนักกรีฑาเยอรมันเต็งหนึ่งอย่างลุซ ลองได้

Advertisement

หนังเรื่องนี้ดีตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง Race ไม่ใช่มีความหมายแค่ “การแข่งขัน” แต่ยังหมายถึง “เชื้อชาติ” คนผิวดำที่ถูกเหยียดหยามทั้งในบ้านเกิดของตนเองและในประเทศที่ตนไปแข่งขัน แต่หัวใจของเขาเป็นหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เจสซี่ปลอบเพื่อนผิวดำที่ถูกดูหมิ่นว่า “บนลู่วิ่ง จะผิวขาวหรือผิวดำไม่ใช่เรื่องสำคัญ วัดกันที่ว่าใครจะเร็วกว่ากัน” และเขาทำให้โลกจารึกว่า “One man broke every record and brought the world to its feet.”

ชื่อเจสซี่ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญที่เอาชนะทุกอคติ และต่อมาเป็นชื่อรางวัลที่มอบให้แก่นักกรีฑายอดเยี่ยมของสหรัฐอมริกา

Advertisement

Race สะท้อนปัญหาสังคม และการเมืองช่วงนั้น โดยไม่ได้นำเสนอเรื่องเจสซี่ตั้งแต่เด็กจนตาย แต่โฟกัสไปที่ช่วงเวลาจากนักวิ่งพรสวรรค์ที่ได้ทุนเรียนที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ จนกลายเป็นแชมป์โอลิมปิคที่ยิ่งใหญ่ในอีกสองปีต่อมา

ทั้งยังนำเสนอการจัดกีฬาโอลิมปิค ที่มีเรื่องการเมือง การเหยียดผิว และการหยามชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุดในประวัติศาสตร์การกีฬา การแข่งขันที่เกือบจะไม่เกิดขึ้นเพราะคนต่อต้านลัทธินาซี ช้ำยังเป็นโอลิมปิคสุดท้ายก่อนฮิตเลอร์นำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ( สามปีต่อมา) ทำให้ไม่มีการจัดกีฬาโอลิมปิคยาวนานถึงสิบสามปี

Race เก็บทุกรายละเอียด ทุกแง่มุมที่ควรชื่นชม รวมทั้งจำลองภาพประวัติศาสตร์การแข่งกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้ได้อย่างน่าประทับใจ ผู้ชมรู้สึกถึงความสำคัญของการแข่งขัน ได้เห็นภาพในอดีตที่ภายในสเตเดียมประดับประดาด้วยธงสวัสดิกะแทนธงโอลิมปิค มีการวิ่งนำคบเพลิงเข้าสู่สนามกีฬาเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นมหกรรม (จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดจนปัจจุบัน) เรือเหาะฮินเดนเบิร์กลอยเหนืออัฒจันทร์ที่มีคนดูนับหมื่น พาเหรดนักกีฬาทุกชาติได้รับการต้อนรับด้วยการแสดงความเคารพแบบนาซี

งานยิ่งใหญ่ที่ฮิตเลอร์ต้องการโชว์คนทั่วโลก และจ้างบริษัทภาพยนตร์มาบันทึกการแข่งขัน ชื่อของผู้บันทึกภาพยนตร์ที่ปรากฎในประวัติศาสตร์คือเลนี ไรเฟนสตาห์ล (คาริส แวน ฮูเทน) และการถ่ายทำถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากสมุนฮิตเลอร์ ดร.โจเชฟ เกบเบิลล์ (บานาบี เมทซูรัต) แต่แม้จะมีการควบคุม เกบเบิลล์ก็ไม่อาจลบภาพชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเจสซีได้ ชัยชนะที่เกิดขึ้นท่ามกลางความกดดันรอบด้าน และสามารถหักล้างคำสบประมาทของฮิตเลอร์เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ

Race เป็นหนังประวัติศาสตร์โอลิมปิคที่น่าทึ่ง โปรดักชั่นและนักแสดงดี เป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และผู้กำกับสามารถเร้าอารมณ์ให้ผู้ดูลุ้นไปกับการแข่งขัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าชนะ

บทสนทนาระหว่างเจสซีและโค้ชน่าสนใจ โค้ชบอกเจสซีไม่ให้สนใจสถิติ เพราะสถิติถูกทำลายได้ แต่ถ้าได้เหรียญทอง เหรียญจะเป็นของเราตลอดไป

หลายคนสงสัยว่าฮิตเลอร์สามารถสร้างมวลชนจำนวนมาก ให้เห็นด้วยกับความรุนแรง และความเป็นเผด็จการสุดโต่งของเขาได้อย่างไร การเมืองและการกีฬาไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

แต่ Race ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ที่การกีฬาถูกฮิตเลอร์นำมาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ และโฆษณาชวนเชื่อ

หากยังสนใจใคร่รู้เรื่องฮิตเลอร์ ขอแนะนำให้อ่านหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนเพิ่งวางจำหน่ายเมื่อต้นเดือนเมษายน “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ของภาณุ ตรัยเวช หนังสือที่เพียงแค่เดือนเดียวที่วางจำหน่าย สำนักพิมพ์ต้องสั่งพิมพ์เพิ่มเป็นครั้งที่สาม ภาพเยอรมนีช่วงฮิตเลอร์เถลิงอำนาจจะชัดเจนขึ้น และบุคคลในหนังบางคนก็มีชื่อปรากฏในหนังสือเล่มนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image