สุจิตต์ วงษ์เทศ : เก็บกระดูกใส่ไห ใส่หม้อ ใส่โกศ ประเพณีเก่าแก่โคตรๆ 2,500 ปีมาแล้ว

เก็บกระดูกคนตาย (ปัจจุบันเรียกเก็บอัฐิ) ใส่ภาชนะต่างๆ เป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว
เรียกประเพณีฝังศพครั้งที่ 2 มีเหมือนกันทั้งอุษาคเนย์โบราณตั้งแต่ตอนใต้ของจีน (กวางสี-กวางตุ้ง) ลงไปถึงหมู่เกาะ
ต้นเหตุฝังศพ 2 ครั้ง เพราะยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าคนที่นอนไม่พูดจาไม่หายใจนั้น เนื่องจากขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เรียกกันภายหลังถึงปัจจุบันว่าขวัญหาย, ขวัญเสีย, เสียขวัญ
ต้องร่วมกันทำพิธีเป่าปี่ตีกลองตีฆ้องร้องป่าวร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครมที่สุดให้ขวัญได้ยิน จะได้รู้ว่าร่างอยู่ที่ไหน? แล้วกลับเข้าร่าง
เป็นต้นแบบทุกวันนี้ให้มีปี่พาทย์ประโคมงานศพและมหรสพต่างๆเล่นหน้าศพ เช่น โขน, ละคร, ลิเก, รำวง, โคโยตี้ ฯลฯ
เมื่อขวัญไม่กลับแน่แล้ว จึงเอาศพไปฝังพร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ใช้งาน โดยหวังว่าขวัญจะคืนไม่วันใดก็วันหนึ่ง

นานเป็นปี หรืออาจหลายปี ในกรณีบุคคลสำคัญ เช่น หัวหน้าเผ่า, หมอมดหมอผี ฯลฯ เนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดแล้ว ต้องขุดขึ้นมาล้างน้ำใส่หม้อไหภาชนะสำคัญฝังอีกครั้งหนึ่ง
หลังรับศาสนาจากอินเดียตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000 คนรู้ว่านี่คือความตาย ประเพณีงานศพก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเผาตามประเพณีอินเดีย แต่ไม่ทิ้งกระดูก ยังต้องเก็บกระดูกไว้ในที่สำคัญตามความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับขวัญ
ตอนเก็บกระดูก ต้องทำสามหาบ คือญาติมิตรหาบข้าวของเครื่องใช้ตะโกนว่ามาทางนี้ๆเรื่อยไปด้วย เป็นร่องรอยดึกดำบรรพ์ตะโกนเรียกขวัญให้คืนร่าง

คำอธิบายภาพประกอบ
หม้อไหใส่กระดูก ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ที่นักโบราณคดี กรมศิลปากร เรียกแบบแค็ปซูล) พบบริเวณขอบทุ่งกุลา ที่บ้านเมืองบัว ต. เมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นต้นเค้า “โกศ” และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้อ และสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ จนถึงทุกวันนี้
กระดูกในหม้อไหเป็นใคร? พูดภาษาอะไร? ก็ไม่รู้ แต่ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้ เพราะคนไทยปัจจุบันมีประเพณีทำศพสืบเนื่องจากเจ้าของกระดูกในหม้อไหยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่ขาดสายไม่ขาดตอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image