เปิดพื้นที่ ‘ปริมณฑลสาธารณะ’ กับ 8 ศิลปินรุ่นใหม่ ก้าวข้ามผลลัพธ์ กระตุกปมวิพากษ์

Identity (2019) โดย ปานวัตร เมืองมูล

กรธนัท พิพัฒน์, จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส, เดชา ดีวิเศษ, ทิวไพร บัวลอย, นัทธมน เปรมสำราญ, ปานวัตร เมืองมูล, แพม วิรดา และวรวุฒิ ช้างทอง

8 ศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกจาก 3 คณะกรรมการ พอใจ อัครธนกุล, พงศกรณ์ ญาณะณิสสร และณัฐ ศรีสุวรรณ ให้ร่วมแสดงผลงานใน Early Years Project ครั้งที่ 4 “Praxis makes Perfect” หรือโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่หรือศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานให้สามารถสร้างสรรค์ พัฒนาผลงาน และศักยภาพของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ด้วยคณะกรรมการตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการปฏิบัติการ (Praxis) อันนำไปสู่การพูดคุย ถกเถียง การตกผลึกทางความคิดและองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ และการเปิดพื้นที่ของปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ให้กับศิลปินในการนำศิลปะมาใช้เป็นสื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม

เหล่าศิลปินจะได้รับโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเรื่องเล่าทางสังคมที่แสดงออกทางแนวคิดการทำงาน พร้อมก้าวข้ามการทำงานศิลปะที่มุ่งหวังเฉพาะผลลัพธ์ของกระบวนการสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของศิลปะ เปิดพื้นที่ให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ แลกเปลี่ยนความสนใจในประเด็นต่างๆ อย่างไม่จำกัดรูปแบบ ความคิด วิธีการ หรือศาสตร์ในการสร้างสรรค์ (Interdisciplinary Modes)

Advertisement

Early Years Project ครั้งที่ 4 จัดแสดงแล้ววันนี้ ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างนั้นยังมีกิจกรรมการศึกษาประกอบนิทรรศการมากมาย

เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว คณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานจากการเสนอผลงานและโครงการของศิลปิน เพื่อรับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน และทุนในการเป็นศิลปินพำนัก เพื่อสร้างเครือข่ายให้ศิลปินแต่ละรุ่นในการทำงานตามสาขาอาชีพต่อไป

Capital Memorial โดย กรธนัท พิพัฒน์

Capital Memorial โดย กรธนัท พิพัฒน์ ตลอดการเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้พบว่า มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่บ่งบอกถึงสถานะของความเป็นเมืองหลวงที่สมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงของเมืองทำให้เห็นภาพของสถานที่ที่ยังไม่สมบูรณ์อยู่ทั่วไปในหลายสถานที่ กรธนัทต้องการถ่ายทอดแนวคิดผ่านภาพถ่ายที่เสมือนการบันทึกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงในบริบทของเมืองปัจจุบัน ผ่านการตีความจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่และประสบการณ์ของตนเอง

Advertisement

Eye your ears โดย จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส ผลงานจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจินตนาการผ่านภาษาและความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ในภาษาที่ไม่คุ้นเคย ศิลปินสนใจสำรวจและทดลองหาความเป็นไปได้ทางกวีของอวัจนภาษา รวมถึงขอบเขตอันคลุมเครือของความหมายที่ถูกสื่อผ่านด้วยท่าทาง โดยการพยายามถ่ายทอดความซับซ้อนของคำถามต่างๆ ที่อาจผุดขึ้นเมื่อคิดถึงภาษาและสิ่งที่อาจอยู่เบื้องหลังภาษา รวมทั้งการเคลื่อนย้ายการสื่อสารทางปัญญา สู่การสื่อสารทางการสัมผัส นำเสนอในรูปแบบ Two-Channel Film Installation ด้วยวิดีโอขาวดำสองชุด ทำหน้าที่เป็นชั้นความหมายที่แตกต่างกันผ่านการรื้อสร้างภาษาเพื่อนำไปสู่รูปแบบของภาษาที่มาจากสัญชาตญาณ ไร้ซึ่งตรรกะของเหตุผล

DE CHA โดย เดชา ดีวิเศษ ใช้กระบวนการ Video Performance ผ่านการเล่าเหตุการณ์วิถีชีวิต และกิจกรรมของคนในชุมชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน บอกเล่าความเป็นตัวตนและรากเหง้าจากการสัมภาษณ์คนรอบตัวและการสังเกตเรื่องต่างๆ ตอนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ต้องการนำเสนอการใช้ชีวิตธรรมดาของบุคคลที่อยู่ในชุมชน ผ่านการเล่าถึงความยากลำบากของคนสมัยก่อน

Eye your ears โดย จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส
DE CHA โดย เดชา ดีวิเศษ
I will always think of you fondly โดย ทิวไพร บัวลอย

I will always think of you fondly โดย ทิวไพร บัวลอย เมื่อวันหนึ่งภาพและวิดีโอถ่ายเล่นช่วงมัธยมถึงช่วงมหาวิทยาลัยของทิวไพรหายไปจากทุกระบบการบันทึกข้อมูล และไม่สามารถนำคืนมาได้ ด้วยความตลกของยุคปัจจุบัน เพราะหนึ่งในเหตุผลที่ระบบการจัดเก็บข้อมูลได้เปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลจากความเชื่อว่า ข้อมูลในระบบดิจิทัลจะเก็บไว้ได้ยาวนานกว่าการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบเชิงกายภาพ ทิวไพรพบว่า ข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ช่างเปราะบาง และสามารถหายไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้เรียกคืนกลับมา ความกังวลเหล่านี้เป็นแนวคิดหลักของการผลิตผลงาน เมื่อคิดได้ว่า หากไฟล์ภาพและวิดีโอที่มีอยู่ตอนนี้สลายหายไปจะเป็นอย่างไร?

PART โดย นัทธมน เปรมสำราญ หลังการตายของป้า นัทธมนตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะคนที่ยังอยู่ และเมื่อเข้าใจเรื่องราวการถูกบังคับให้สูญหายของเพื่อนร่วมชาติ นัทธมนได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านบทสนทนาที่ถูกบังคับให้กลายเป็นบทพูดเดี่ยวอย่างฉับพลันและนำเสนอในรูปแบบวิดีโอในแต่ละระยะของการสร้างสรรค์ ตั้งแต่การค้นคว้าเพื่อให้เกิดตัวบท จนถึงการบันทึกวิดีโอเพื่อพาบทสนทนาข้ามพื้นที่และเวลา

Identity (2019) โดย ปานวัตร เมืองมูล ปานวัตรสนใจพุทธปรัชญาในฐานะปรัชญาเชิงปฏิบัติ พร้อมกับทบทวนและรื้อสร้างความหมายของคำว่า “พุทธศิลป์” ในนิยามใหม่ที่ว่า สุนทรียศาสตร์แห่งการรู้ในสัจจะ (ธรรม) โดยการทบทวนคำว่า “พุทธะ” และ “ศิลปะ” ซึ่งในโครงการนี้เป็นการสำรวจตัวตนทั้งทางรูปธรรม (กาย) และนามธรรม (ใจ) โดยสำรวจผ่านกระบวนการที่ใช้แนวทางการปฏิบัติภาวนา นำมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเองจากคำถามว่าตัวเราคืออะไร ภาวะไม่มีตัวตนมีอยู่จริงหรือไม่ แล้วตัวเราจะได้อะไรจากการค้นหานี้

PART โดย นัทธมน เปรมสำราญ
DAY BARBER SHOP โดย วรวุฒิ ช้างทอง
Find Me A House, 2019 โดย วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร

DAY BARBER SHOP โดย วรวุฒิ ช้างทอง ถือกำเนิดขึ้นในฐานะของความคลุมเครือระหว่างเส้นแบ่งของความเป็นศิลปะและความเป็นกรรมาชีพ ช่องว่างเหล่านั้นถูกทำให้ไม่ชัดเจนด้วย “การตัดผม” บนสถาบันศิลปะที่จะเผยให้เห็นถึงกระบวนการการสร้างสรรค์งาน (ทรงผม) ที่ไม่แตกต่างไปจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ดีชิ้นหนึ่ง อีกแง่มุมหนึ่งบนพื้นที่แห่งนี้จะพาให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมสร้างบทสนทนาผ่านช่วงเวลาของการตัดผมที่จะทำให้ผู้บริการและผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติด้วยการเปิดบทสนทนา ทว่าอาจหลุดลอยออกไปจนสร้างการหลุดพ้น นำไปสู่ปมประเด็นอื่น หรือความเป็นอื่นในเวลาเดียวกัน

Find Me A House, 2019 โดย วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร หลังจากสั่งสมการรับรู้เรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อกันในฐานะคนจีนพลัดถิ่นของยาย วิรดาตั้งคำถามต่อความสำคัญของรากเหง้าและความรู้สึกถึงสภาวะก้ำกึ่งของการพลัดถิ่นฐานของตัวเอง จัดการกับเรื่องเหล่านั้นโดยการอุปมาและสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ของความทรงจำของยายในรูปแบบของพื้นที่สมมุติ เสมือนการยืดเวลาของความทรงจำส่วนบุคคลและความทรงจำร่วมในเวลาเดียวกัน

นิทรรศการศิลปะแห่งปีที่พลาดไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image