เปิดตำนาน ‘โรงแรมตุ้นกี่’ พรรคคอมมิวนิสต์คุยลับครั้งแรก ทายาทซึ้งคนยังจดจำ

ภาพถ่ายเก่าหัวลำโพง มองเห็นโรงแรมตุ้นกี่

ดูเหมือนการเสียชีวิตของ ‘ธง แจ่มศรี’ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนสุดท้ายเมื่อไม่นานมานี้ จะส่งผลให้เรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตถูกปลุกให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ดังเช่นกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ดังอย่าง พันทิปดอทคอม ซึ่งมีผู้ตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2557 ก็ถูกนำมาแชร์อีกครั้ง เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราวของ ‘โรงแรมตุ้นกี่’ ย่านหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมลับของพรรคคอมมิวนิสต์สยามครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2473 นำโดย ‘สหายซุง’ หรือ โฮจิมินห์

โดยผู้ตั้งกระทู้ระบุข้อความดังนี้

“ชุมชนและโรงแรม หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง น่าจะมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์มากมาย เนื่องจากสมัยก่อนเราใช้ การคมนาคมทางรถไฟเป็นหลัก ผู้โดยสารจึงต้องหาที่ค้างแรมอาจเพื่อต่อรถไฟ หรือรอญาติมารับ หรือแม้แต่ หาที่หลับนอนชั่วคราวในสถานีรถไฟหัวลำโพงนั่นเอง

ผมอ่านประวัติศาสตร์การเมืองที่ได้กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในชื่อเดิม พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มก่อตั้งโดยโฮจิมินห์ ชาวเวียดนาม ใช้นามแฝงว่า สหายซุง โดยประชุมครั้งแรกแบบลับๆ ที่ โรงแรมตุ้นกี่ (อ้างอิงจาก วิกิ ) หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 ไม่ทราบว่าปัจจุบัน โรงแรมที่ว่านี้ ยังดำเนินการอยู่หรือไม่? จึงอยากทราบทำเลที่ตั้ง หรือแม้แต่ภาพถ่ายสถานที่ปัจจุบัน”

Advertisement

อ่านข่าว : ‘คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ’ ปิดฉากชีวิตเลขา พคท.คนสุดท้าย ‘ธง แจ่มศรี’

หลังจากนั้น มีผู้เข้าไปแบ่งปันประสบการณ์มากมาย หนึ่งในนี้นคือ นายอุกฤช โชติวรวัฒน์ ซึ่งระบุว่าตนเป็นทายาทเจ้าของโรงแรมดังกล่าว รุ่นที่ 3 โดยเล่าว่าปัจจุบันโรงแรมถูกรื้อไปเพราะการเวนคืนทางด่วน รู้สึกดีใจที่คนยังจดจำโรงแรมนี้ได้ รายละเอียดดังนี้

“โรงแรมตุ้นกี่ได้ปิดกิจการไปแล้ว เมื่อ พ.ศ.2537 เพราะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างเป็นทางขึ้นทางด่วน ที่หน้าหัวลำโพงในปัจจุบันนี้ครับ เดิมทีตรงนั้นจะมีตรอกอยู่ตรอกหนึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ‘ตรอกสลักหิน’ ครับ ถ้ามองจากสถานีหัวลำโพงไปทางซ้ายก็จะเห็นตรอกสลักหิน ส่วนโรงแรมตุ้นกี่จะอยู่ปากตรอกทางขวามือครับ

จำได้ว่าเดิมใช้ที่อยู่ว่า ‘โรงแรมตุ้นกี่ เลขที่ 465 ถนนรองเมือง ต.รองเมือง อ.ปทุมวัน กรุงเทพ’

ภาพจาก เจริญ ตันมหาพราน

ปัจจุบันป้ายชื่อโรงแรมยังถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี โดยผมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 และเป็นรุ่นสุดท้ายที่อยู่จนทุบตึกไปครับ วันที่อยู่ดูทุบตึกในสมองได้คิดย้อนหลังกลับไปในอดีตตั้งแต่ผมเกิดมาที่ได้อาศัยและมีรายได้จากคำว่า ‘โรงแรมตุ้นกี่’ มาโดยตลอดแล้วน้ำตาก็ไหลออกมาเองโดยไม่ตั้งใจ เพราะผูกพันกับชีวิตของผมยาวนานมาร่วม 40 ปี

ปัจจุบันผมอายุ 61 ปีแล้ว พอเห็นคำว่า ‘โรงแรมตุ้นกี่’ ใจผมเต้นแรงมาก ไม่คิดว่าจะยังมีคนรู้จักชื่อนี้อยู่อีกครับ จะยังมีท่านผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งครับที่รู้จักโรงแรมนี้ได้ดีขอเอ่ยนามท่านคงไม่เป็นไรมั้งครับ ‘มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์’ ซึ่งท่านเป็นเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียนอัชสัมชัญ บางรัก สนิทกับคุณพ่อของผมมากแต่ท่านก็จากไปแล้วก่อนที่ โรงแรมตุ้นกี่จะถูกเวนคืนไป ผม นายอุกฤช โชติวรวัฒน์ อายุ 61 ปี ยังทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อยู่ในกรุงเทพฯนี่เองครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย”

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำภาพถ่ายเก่าย่านหัวลำโพง ซึ่งมองเห็นโรงแรมตุ้นกี่มาเผยแพร่อีกด้วย

โรงแรมดังกล่าว ยังเป็นที่กล่าวถึงของนักเขียนในช่วงเวลาต่างๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็มีผู้รวบรวมเรื่องราวโรงแรมยุคเก่ามาเผยแพร่อยู่เนืองๆ

พล นิกร กิมหงวน วรรณกรรมที่กล่าวถึงโรงแรมตุ้นกี่

เจริญ ตันมหาพราน นักเขียนชื่อดัง ยังเคยเรียบเรียงเรื่องราวของโรงแรมแห่งนี้ รวมถึงโรงแรมบริเวณย่านชาวจีนที่อยู่ใกล้เคียงไว้ในหัวข้อ “โรงแรมสมัยคุณปู่” ตอนหนึ่งว่า

“ในย่านชาวจีนมีโรงแรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้แก่ โรงแรมตุ้นกี่ ซึ่งตั้งอยู่แถวหัวลำโพงโรงแรมอัน-อัน และโฮเต็ลกระไดทอง อยู่แถวถนนเจริญกรุงแถบตรอกเต๊า ต่อมาย้ายไปตั้งอยู่ที่ถนนเยาวพานิช (ไม่ทราบกาลเวลาที่เลิกกิจการ)

ในปี พ.ศ.2478 มีพระราชบัญญัติโรงแรมเกิดขึ้น โดยบัญญัติศัพท์ให้ใช้คำว่า โรงแรมแทนโฮเต็ล บรรดาเจ้าของโรงแรมทั้งหลายก็ชักจะไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

ร้านขายอาหารเล็กๆ มีลูกค้ามาอุดหนุนมากมาย ในที่สุดร้านขายอาหารเหล่านี้เลยเปิดชั้นบนเป็นที่พัก พอตั้งตัวได้ก็ขยายกิจการให้เติบใหญ่กลายเป็นโรงแรมไป”

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำอันเป็นส่วนหนึ่งของสีสันการเมืองไทยในอดีตที่น่ารวบรวมข้อมูลไว้สืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image