อ.ธรรมศาสตร์ชี้ หา “ต้นกำเนิด” “โขน” ไม่ใช่สารัตถะ แนะ ไทย-กัมพูชา “ขึ้นทะเบียนร่วม” หรือ “ต่างคนต่างขึ้น”

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

กรณีเกิดกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กซี่งมีการเผยแพร่ภาพและข้อความเกี่ยวกับโขนไทยและกัมพูชาโดยมีการถกเถียงกันเรื่องที่มาและความเป็นเจ้าของการแสดงดังกล่าว ซึ่งเวปไซต์พนมเปญโพสต์ ของกัมพูชาระบุว่า กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสื่อไทยนำเสนอข่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทยเตรียมเสนอการแสดงโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ต่อองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก

นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาจากความไม่เข้าใจเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จึงมุ่งหาความเป็นของแท้ดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่สารัตถะ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องต่อเจ้าของวัฒนธรรมแต่ละกลุ่ม

“ปัญหาของหลายคนตอนนี้เมื่อพูดถึงเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตัวอย่างเช่นกรณีของโขน คือ ทุกคนมุ่งไปสู่การหาความเป็นของแท้ดั้งเดิมแน่นอนว่าการค้นคว้าจนนำไปสู่การรู้ว่ามันมีต้นกำเนิดจากไหนเป็นเรื่องสำคัญ ต่อการเขียนประวัติวงศาคนาญาติ ของโขน แต่เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวเป็นพลวัตและแนบติดไปกับตัวคน ไม่ใช่สิ่งของ ดังนั้น โขน หรือกระทั่งรามายณะ ไม่ว่ามันจะมีต้นกำเนิดมาจากไหนนั้น มันไม่ใช่สารัตถะของ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับผู้ใช้หรือเจ้าของวัฒนธรรมแต่ละกลุ่ม” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า หากเป็นไปได้ควรขึ้นทะเบียนโขนร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่ถ้าจะแยกกันขึ้นทะเบียน คือ ต่างคนต่างขึ้นทะเบียนของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจาก ต่างฝ่ายคือไทยกับกัมพูชาต่างพัฒนารายละเอียดของโขนและรามายณะแตกต่าง กันไปทั้งในรายละเอียดและสาระของการใช้งาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image