แง่มุมดีๆ ในหนัง The Cave

แง่มุมดีๆ ในหนัง The Cave

แง่มุมดีๆ ในหนัง The Cave

ถ้าคิดว่าหนัง The Cave จะออกมาแนวเดียวกับหนัง The 33 ที่สร้างจากเรื่องจริงของคนงานเหมือง 33 คน ที่ติดอยู่ในเหมืองประเทศซิลี ลึกลงไปใต้ดินเป็นระยะทาง 700 กว่าเมตร นานกว่า 60 วัน ขอบอกว่าเป็นคนละแนวกันเลย

The Cave เป็นหนังไทย สร้างโดยผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช ทอม วอลเลอร์ ผลงานเกี่ยวกับการสร้างหนังของเขาไม่ธรรมดา

ภาพยนตร์ที่เขาอำนวยการสร้างเรื่อง ซอยคาวบอย ได้รับเลือกไปฉายในสาย Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และทอมยังเคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเรื่อง ศพไม่เงียบ

Advertisement

สำหรับเรื่อง The Cave หนังไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวเด็กและโค้ช แต่เน้นไปที่ทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วย 13 หมูป่า เป็นเรื่องของ Unsung Heroes ที่เข้ามาช่วยโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

เหนือจากนั้น ทอมอยากให้คนดูเห็นว่า “อะไรที่ทำให้คนหลากพ่อหลากแม่มารวมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี เพื่อช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก พลังและความตั้งใจนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมอยากให้ The Cave ดึงความสวยงามของความรักใคร่ปรองดองและสามัคคีกลับมา”

The Cave เป็นหนังกึ่งสารคดี เล่าเรื่องจากข้อมูลของทีมกู้ภัยและอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยในส่วนเรื่องราวของทีมหมูป่าใช้ข้อมูลสาธารณะที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน

Advertisement

การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ได้ทราบเรื่องราวเยอะแยะในเวลาที่จำกัด สะท้อนหลายมุมมอง เสียดสีราชการไทยที่ติดยึดกับระเบียบ ยกย่องหน่วยซีลไทยและทีมดำน้ำต่างชาติที่ไม่ว่าอันตรายเพียงใดก็มุ่งมั่นที่จะช่วยเด็กๆ ให้รอด ความเสียสละของชาวบ้านที่ยอมให้สูบน้ำท่วมนาของตน ความเชื่อและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ความร่วมมือร่วมใจของเหล่าจิตอาสาทั้งประชาชนคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า

น่าเสียดายว่า บางเรื่องแม้ให้ความสำคัญ แต่แตะเพียงผิวเผิน เช่น เรื่องของจ่าแซม

คนดูที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวใกล้ชิดอาจจะงง เพราะหนังตัดภาพฟุตเทจของจริง สลับกับภาพที่ถ่ายทำใหม่อย่างค่อนข้างรวดเร็ว ใช้บทของนักข่าวชายหญิงพูดอังกฤษและไทยเหมือนเป็นตัวเชื่อมเหตุการณ์ต่างๆ

นักแสดงมีทั้งนักแสดงอาชีพ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ เป็นนักข่าว เบสท์ เอกวัฒน์ นิรัตน์วรปัญญา เป็นโค้ชเอก ไมเคิล เชาวนาศัย เป็นข้าราชการตัวร้ายที่เสมือนแอบล้อเลียนบุคคลจริงที่บ้ากฎระเบียบ ทำอะไรต้องมีใบอนุญาต

นักแสดงที่เป็นตัวจริงเสียงจริงของทีมกู้ภัยและคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ เช่น จิม วอร์นี (นักดำน้ำจากไอร์แลนด์ ที่นำโค้ชเอกออกจากถ้ำ) ถัน เซี่ยวหลง (จากจีน) เอริก บราวน์ (จากแคนาดา) มิคโค พาซี (จากฟินแลนด์) ทอดด์ รุยซ์ (นักข่าวอเมริกันของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ) นภดล นิยมค้า (ที่นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเครื่องสูญน้ำพญานาค ไปช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำ) แม่ครูจำปา แสนพรม (ชาวบ้านที่สละนาให้เป็นที่รองรับน้ำ โดยไม่รับค่าตอบแทนที่รัฐบาลจ่าย) ฯลฯ

มีฉากที่คนดูแอบขำๆ กับการปรากฏตัวของตัวละครผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่มาขอบคุณ พร้อมเอาของ OTOP มาฝาก

ส่วนทีม 13 หมูป่า ก็ไปแคสต์มาจากเด็กๆ ในทีมฟุตบอล เพื่อเวลาเล่นฟุตบอลจะได้ดูเล่นเป็นจริงๆ และให้พูดภาษาอังกฤษ ประโยคที่โลกจำ “How many of you? … Thirteen.”

ข้อดีของการนำบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์จริงมาร่วมแสดง ทำให้หนังสมจริงมาก โดยเฉพาะฉากในถ้ำ การช่วยเหลือเด็กๆ และโค้ชเอก

มีเบื้องหลังที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การวางยาสลบที่ใช้วิธีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นขา ได้เห็นอันตรายและความลำบากของการดำน้ำในถ้ำ ที่ทั้งแคบทั้งมืด

แต่ข้อเสียคือพอไม่ใช่นักแสดงอาชีพ บางคนมีการแสดงที่ขัดๆ เขินๆ แต่ก็พอยอมรับได้

โปรดักชั่นอลังการ ถ่ายทำทั้งในสถานที่จริงและฉากที่สร้างขึ้นมา เป็นการสร้างในสเกลเดียวกับหนังฮอลลีวูด ที่ผู้กำกับบอกว่าใช้ทุนมากกว่าหนังไทยทั่วไป

อาทิ “สร้างฉากถ้ำหลวงขึ้นมา ในสระว่ายน้ำไซส์โอลิมปิกที่ไม่ใช้แล้ว และเอาส่วนที่เป็น Club House ไปสร้างเป็นถ้ำแห้ง” ซึ่งดูเนียนสมจริงจนนึกว่าถ่ายทำในสถานที่จริงหรือถ้ำแห่งใดแห่งหนึ่ง

The Cave อาจไม่ใช่หนังสนุกที่ตอบโจทย์คนที่ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อนึกถึงความตั้งใจของผู้สร้าง ทั้งความทุ่มเทในการทำงาน ความต้องการเชิดชู volunteer spirit ของคนไทยและคนต่างชาติที่มารวมตัวปฏิบัติภารกิจ

นี่คือการได้โอกาสย้อนระลึกเหตุการณ์ที่แสนจะยิ่งใหญ่ ด้วยการชมหนังเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image