สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน ‘ยิปซีทะเล’ ที่ ‘ภูเก็ต’ เก่าแก่ถึง 2 พันปี

ชาวเล ทั้งที่ภูเก็ตและพื้นที่ต่อเนื่องชายฝั่งทะเลอุษาคเนย์ถูกเรียกอีกว่า ยิปซีทะเล (Sea Gypsies) เพราะมีชีวิตอยู่กับเรือในทะเล พวกนี้เสมือนคนชายขอบแห่งท้องทะเลของอุษาคเนย์
เรื่องเหล่านี้ ดร.ธิดา สาระยา นักวิชาการ (อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) มีงานวิจัยสำคัญบอกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554) จะสรุปมาดังต่อไปนี้
ในทางประวัติศาสตร์โลก เรียกคนพวกนี้ว่า ชาวน้ำ แล้วมีชุมชนชาวน้ำกระจายอยู่ตามริมฝั่งมหาสมุทร เป็นชุมชนมนุษย์เก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่งในโลก ชุมชนชาวน้ำเก่าสุดอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแอฟริกา เฉพาะอย่างยิ่งแถบอ่าวเปอร์เซียและโมซัมบิก

ชาวน้ำในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

ชาวน้ำตามหมู่เกาะได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการแลกเปลี่ยนค้าขายมานานมากแล้วตั้งแต่ราว 2,000 ปีมาแล้ว
ชาวน้ำชาวเกาะและกลุ่มชนแผ่นดินใหญ่ มีอดีตอันยาวนานร่วมกัน เห็นได้จากการทอผ้าเป็นลวดลาย การโลทกรรม การปลูกธัญพืชและพืชอาหารหลัก การรับศาสนาอินดู-พุทธ-อิสลาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลต่อการเกิดองค์กรทั้งทางด้านการเมืองและสังคม ครอบคลุมอาณาบริเวณส่วนนี้ให้เกี่ยวพันกับผู้คนทั้งบนบกและในน้ำ
เมื่อ “ศรีวิชัย” เกิดขึ้น จึงเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของชาวน้ำ และสังสรรค์ทางสังคม-เศรษฐกิจกับคนที่อาศัยอยู่ทางตอนในของเกาะ ขณะเดียวกันก็ติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจากต่างแดน แล้วรับวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบจากที่ต่างๆ ซึ่งมาเกี่ยวข้อง
บ้านเมืองในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาลงไปจนตลอดคาบสมุทรทางใต้ ล้วนเคยเป็นส่วนสำคัญในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันมีชาวน้ำของหมู่เกาะและท้องทะเลมีบทบาทอยู่ จนกระทั่งได้มีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องและขยายตัวเข้าสู่ภูมิภาคส่วนใน ผสมผสานกับชนเผ่าและชนชาติภายใน
ประเทศในแถบนี้ไม่ว่าเมียนมาร์, ประเทศไทย, กัมพูชา, เวียดนาม ล้วนผ่านการเติบโตเคลื่อนไหวของชุมชนบ้านเมืองบนแผ่นดินใหญ่, ชายฝั่ง, หมู่เกาะ และท้องทะเล ที่ผสมผสานวิถีชีวิตของผู้คนเข้าด้วยกันทั้งสิ้น

เรือชาวน้ำแถบทะเลใต้ มีโครงไม้เป็นหูกรรเชียงเพื่อพยุงเรือฝ่าคลื่นลม มีตัวอย่างบนภาพสลักที่สถูปโบโรบูดูร์ (บรมพุทโธ) ราว พ.ศ. 1400 ในอินโดนีเซีย
เรือชาวน้ำแถบทะเลใต้ มีโครงไม้เป็นหูกรรเชียงเพื่อพยุงเรือฝ่าคลื่นลม มีตัวอย่างบนภาพสลักที่สถูปโบโรบูดูร์ (บรมพุทโธ) ราว พ.ศ. 1400 ในอินโดนีเซีย

ศรีวิชัยกับชาวน้ำ

ประวัติศาสตร์ของรัฐศรีวิชัย เป็นประวัติศาสตร์ของชาวเกาะและชาวน้ำในน่านทะเลอุษาคเนย์ ที่เกี่ยวพันกับคนชายฝั่งและคนบนบกมากอย่างยิ่ง นับเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การค้าแลกเปลี่ยนในทะเลได้และโลก ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลมาจนปัจจุบัน
การสถาปนาเมืองตรงชุมทางสำคัญให้เป็นทั้งคลังสินค้าและเมืองท่า ได้เกิดมาแล้วตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ศรีวิชัย และยังเห็นได้ในปัจจุบัน ดังกรณีของ สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ตรงปลายสุดของช่องแคบมะละกา
นี้คือชุมทางของการค้าเอเชีย บริเวณที่น้ำและบก มหาสมุทรและแผ่นดินมาพบกัน ซึ่งในอดีตบริเวณนี้อยู่ในเส้นทางการค้ามหาสมุทรอินเดียและจีน

ชาวเล คือ ชาวน้ำ

ชาวน้ำหรือชาวเลในอุษาคเนย์ทุกวันนี้มีอย่างน้อย 3 กลุ่ม ตามวัฒนธรรมและภาษา ได้แก่
พวกบาโจลาอุต (Bajau Laut) เป็นกลุ่มใหญ่สุดและกระจายตัวกว้างขวางมากบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซีย
พวกโมเก็น (Moken) อยู่แถบหมู่เกาะมะริดของพม่า ลงไปตามแนวตะวันตกเฉียงใต้ของไทย
พวกโอรังลาอุต (Orang Laut) หรือรู้จักทั่วไปอีกชื่อว่า อุรังลาโว้ย อยู่ตามหมู่เกาะ และน่านน้ำชายฝั่งด้านตะวันออกของสุมาตราและยะโฮร์ใต้
ชาวน้ำเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกับชุมชนบ้านเมืองบนแผ่นดินใหญ่ในนามเครือข่าย “ศรีวิชัย” เคยสร้างเครือข่ายทางการค้า การเดินเรือทะเลสมุทรของอุษาคเนย์
แต่ปัจจุบันพวกนี้เป็นคนชายขอบของประเทศต่างๆ ที่กำหนดเขตแดนใหม่ตามอำนาจอธิปไตยทางการเมืองของแต่ละประเทศ โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ทางสังคมของชาวน้ำทั้งหลายที่มีสำนึกเกี่ยวกับพื้นที่และบริเวณแตกต่างกันไป

Advertisement
เรือชาวน้ำพร้อมกรรเชียงฝ่าคลื่นลม ไม้กรรเชียงแต่ละอันหนักราว 50 ปอนด์
เรือชาวน้ำพร้อมกรรเชียงฝ่าคลื่นลม ไม้กรรเชียงแต่ละอันหนักราว 50 ปอนด์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image