ที่มา | คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ศิวลึงค์ คือรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ ทำเป็นอวัยวะเพศชาย
[ศิวะ หมายถึง พระศิวะ หรือพระอิศวร เป็นหนึ่งในมหาเทพของศาสนาพราหมณ์, ลึงค์ หมายถึง อวัยวะเพศชาย]
ไมเคิล ไรท เคยอธิบายนานแล้ว จำได้เลาๆ ว่าศิวลึงค์ตั้งบนฐานโยนี หมายถึงกำเนิดมนุษย์หลังร่วมเพศของเทพเจ้า โดยเรามองเห็นศิวลึงค์ เพราะมนุษย์อยู่ในครรภ์มารดา ได้แก่ท้องฟ้าที่โอบอุ้มมวลมนุษยชาติ
ศิวลึงค์แบบมาตรฐานที่พบทั่วไปในเทวาลัยฮินดู มี 3 ส่วนเรียกตรีมูรติ หมายถึงมหาเทพทั้งสาม คือ พระศิวะ, พระนารายณ์, พระพรหม
ส่วนหัวกลมมนเรียกว่า รุทรภาค (หมายถึง พระศิวะ) ถัดลงไปเป็นแท่งแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค (หมายถึงพระนารายณ์) และส่วนล่างสุดรูปแท่งสี่เหลี่ยมเรียกว่า พรหมภาค (หมายถึง พระพรหม)
ศิวลึงค์ เมืองมโหสถ มีอายุราวหลัง พ.ศ.1500 สูงยาว 2.52 เมตร พบที่เมืองมโหสถ แต่ถูกขนย้ายเข้ากรุงเทพฯเมื่อนานมาแล้ว ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จะเก็บไว้ทำไม? ยิ่งเก็บไว้ก็ยิ่งแสดงเนื้อแท้เจ้าอาณานิคมภายใน ฉะนั้นควรคืนให้ชาวเมืองมโหสถดูแล
(โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แล้วสร้างมิวเซียมทันสมัยเก็บรักษา)