จากราษฎร์สู่รัฐ ‘แรกนาขวัญ’ ก่อนยุคโควิด

พระราชพิธีแรกนาขวัญที่โรงนาหลวง วังพญาไท

แรกนาขวัญ – พฤษภาคม พุทธศักราช 2563 นับเป็นอีกห้วงเวลาที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อไวรัส “โควิด” ส่งผลสะเทือนถึงวิถีวัฒนธรรมที่ต้องระงับพิธีสำคัญของประเทศไว้เป็นการชั่วคราวในปีนี้ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคร้าย โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางการจัดงานในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม, วิสาขบูชา 6 พฤษภาคม และพืชมงคล 11 พฤษภาคมนี้ สาระสังเขปไม่มีการจัดพระราชพิธี ส่วนกิจกรรมอื่นๆ รัฐบาลจัดอย่างสอดคล้องกับมาตรการสกัดโควิด

สำหรับวันพืชมงคล ซึ่งในภาวะปกติจะมีการประกอบพิธีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานฝ่ายฆราวาส ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 เวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปฏิบัติหน้าที่ประธานในพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลองสวนจิตรลดา ในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้หว่านข้าว ซึ่งเป็นการจัดพิธีภายใน ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธี

สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันเดียวกัน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในปีนี้ไม่มีการจัดพระราชพิธี

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการงดพระราชพิธีดังกล่าว หรือปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายสถานที่จัดพระราชพิธี

 

ขบวนพระยาแรกนา ขณะทำพิธีแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แต่ก่อนถึงประเด็นนั้น ต้องย้อนกล่าวถึงที่มาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรใน “กฎมณเทียรบาล” ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แล้วปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดหากเทียบเคียงกับพิธีในช่วงเวลาต่อมา

Advertisement

โดยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มี 2 พระราชพิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์

พิธีสงฆ์จะจัดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง อันเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอย่างที่ใกล้เคียงภาพจำของคนไทยในยุคหลัง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้าง “วังพญาไท” เมื่อ พ.ศ.2452 เพื่อทอดพระเนตรการทำนา อีกทั้งสร้างโรงนาเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ โดยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวที่วังพญาไทหลายครั้ง

พระราชพิธีในรูปแบบนี้มีการสืบต่อเรื่อยมา โดยมีการประกอบพิธีอย่างเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2479 แล้วว่างเว้นไป เนื่องจากรัฐบาลในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการถกเถียงกันถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพิธี แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ครั้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2490 ได้รื้อฟื้นรัฐพิธีหลายอย่างขึ้นมาใหม่ หนึ่งในนั้นคือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ไม่ใช่พิธีอย่างเต็มรูปแบบดังที่เคยเป็น

กระทั่งใน พ.ศ.2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย

นับแต่นั้นมา พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในภาพความทรงจำของคนไทยก็ดำรงอยู่เรื่อยมา โดยในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำขวัญพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก เป็นต้น

พิธีแรกนาขวัญของชาวบางปะหัน อยุธยา ถ่ายราว พ.ศ.2547

ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเริ่มการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยจะโปรดเกล้าแต่งตั้งนางเทพีหาบพันธุ์พืช เช่น พันธุ์ข้าว ตามหลังพระยาแรกนา โดยมีพระโคเทียมแอกและไถพร้อมอยู่ ณ บริเวณนาจำลองที่ท้องสนามหลวง

พระยาแรกนาจะไถหว่านพันธุ์พืช โดยใช้พันธุ์พืชที่นางเทพีหาบตามหลังหว่านลงบนนาจำลอง เสมือนเป็นการประกาศแก่เกษตรกรว่าฤดูการทำนาเริ่มแล้ว โดยสมมุติว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาเริ่มการหว่านไถเป็นแบบอย่างและเป็นมงคล เพื่อให้เกษตรกรดำเนินตาม

แม้ทราบกันว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีเก่าแก่สืบต่อจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ทว่า แท้จริงแล้วพิธีดังกล่าวมีความเป็นมาที่ยาวนานไปกว่านั้น โดยเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อผู้คน มีรากเหง้าอันยาวนานมาจาก “ประเพณีราษฎร์” ของชาวบ้าน มีร่องรอยในถ้อยคำ “นาตาแฮก” ของคนลุ่มน้ำโขง ที่หมายถึง “นาตาแรก” ตรงกับ “แรกนาขวัญ” ของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยเป็นการทำนาจำลองเลียนแบบธรรมชาติย่อส่วน มีน้ำท่าสมบูรณ์ ปักดำกอข้าวขวัญแข็งแรง เพื่อให้นาจริงที่จะทำต่อไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้าได้ผลมั่งคั่งเหมือนนาจำลอง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ค้นคว้าเรื่องราวของนาตาแฮกและแรกนาขวัญมานานครึ่งชีวิต อธิบายว่า แรกนาขวัญมีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ชาวบ้านเรียกนาตาแฮก เมื่อมีรัฐ ก็นำนาตาแฮกของชาวบ้านมาพัฒนาเป็นพิธีกรรมในราชสำนักตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นหลักให้ราษฎร เป็นขวัญกำลังใจ เป็นสิริมงคลแก่ราชอาณาจักร โดยนำความเชื่อดั้งเดิมมาผสมพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ ชาวบ้านทำแบบพิธีในศาสนาผี แต่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมอย่างในภายหลังที่ให้ชาวบ้านร่วมเก็บเมล็ดข้าวมงคลที่ท้องสนามหลวง

“พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงทุกครั้ง แต่เป็นไปตามสถานการณ์ และพระราชอัธยาศัย อย่างในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยจัดขึ้นที่วังพญาไท”

 

ชาวอีสานทำขวัญ ‘ปักกกแฮก’ หรือดำกล้ากำแรก ในนาตาแฮก (ภาพเก่าก่อน พ.ศ.2547)


สุจิตต์
ยังระบุว่า ในอดีตตามหัวเมืองต่างๆ มีการทำพิธีแรกนาขวัญกันทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะในราชสำนัก เช่น ที่เมืองนครศรีธรรมราช ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นพิธีที่มี หรือเคยมี ในราชสำนักอื่นในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างลาว พม่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัมพูชา” ซึ่งรากศัพท์คำว่า “จรดนังคัล” ก็มาจากภาษาเขมร หมายถึง จรดผาลไถนา นั่นเอง

และหากจะสืบย้อนไปไกลยิ่งกว่านั้น ยังมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ “ผาหมอนน้อย” อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสุจิตต์เชื่อว่า เป็นรูปนาข้าว เชื่อมโยงกับ นาตาแฮก หรือนาจำลองในพิธีกรรมที่กลายเป็น “แรกนาขวัญ” ในวันนี้

นับเป็นพิธีกรรมยาวนานที่สร้างขวัญและกำลังใจผ่านพระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์และงดงาม โดยปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หลากยุคสมัย เช่นเดียวกับแรกนาขวัญยุคโควิดในครั้งนี้ที่จะกลายเป็นหน้าหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image