‘พระไภษัชยคุรุ’ พระพุทธเจ้าแพทย์
คติมหายานนั้น ‘พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากดุจเม็ดทรายในคงคา นที’ พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งซึ่งพบเฉพาะในนิกายมหายาน หมายถึงพระตถาคตเจ้าที่เป็นบรมครูแห่งการรักษาโรค นิยมนับถือกันในหมู่ชาวจีนและชาวธิเบต แต่ฝ่ายเถรวาทในไทยก็มีความคุ้นเคย เนื่องจากเป็นที่มาของพระกริ่งทั้งหลาย เช่น พระกริ่งปวเรศ เป็นต้น จากพระพุทธลักษณะที่คล้ายพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า กับความเชื่อที่นำมาแช่น้ำอธิษฐานดื่มกินรักษาโรค ว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
พระไภษัชยคุรุองค์หนึ่งซึ่งพบในประเทศไทย และแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยจัดพุทธศิลปอยู่ในสมัยลพบุรี มีคำอธิบายประกอบว่า เป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน หรือพุทธตันตระ โดยนับถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ จากปณิธานที่ทรงตั้งไว้ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ว่าเมื่อสำเร็จพระโพธิญาณแล้ว เหล่าสัตว์ซึ่งทนทุกข์ด้วยโรคภัยใด หากได้ยินนามของพระองค์ ก็จะพ้นจากโรคภัยทั้งหลาย ร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยสติปัญญา มีทรัพย์มหาศาล และบรรลุพระโพธิญาณในที่สุด
ผู้เจ็บป่วยเชื่อกันว่า จะพ้นโรคภัยได้ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่องค์ปฏิมาพระไภษัชยคุรุ สวดพระธารณีหรือมนต์ประจำพระองค์ ออกนามพระองค์ และตั้งจิตแน่วแน่ถึงนามในพระองค์
วัฒนธรรมเขมรโบราณนั้นนับถือพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1741-1760) โปรดให้สร้าง ‘พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา’ เป็นพระประธานในศาสนสถาน อันเป็นสถานอภิบาลผู้เจ็บป่วย ซึ่งนักเรียนประวัติศาสตร์ไทยรู้จักกันในนาม ‘อโรคยาศาล’ จำนวน 102 แห่งทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในดินแดนไทยด้วย ดังนั้น จึงพบพระปฏิมาไภษัชยคุรุที่สร้างขึ้นช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนมาก
ปัจจุบัน หากเรามีโอกาสเยือนวัดมังกรกมลาวาส ย่อมมีโอกาสได้นมัสการพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ จะพบว่าพระองค์ซ้ายคือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า พระองค์กลางคือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า และพระองค์ขวาคือ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า
หรืออาจไปนมัสการพระไภษัชยคุรุที่วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกำโลวยี่) ที่เขตพระนครนี่เองก็ได้
ระหว่างนี้ กรมศิลปากร กับกระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรม สักการะพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า บรมครูแห่งโอสถ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม โดยอัญเชิญพระไภษัชยคุรุ 6 องค์มาให้ประชาชนได้บูชา
ทั้งนี้ เนื่องในยามวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงจากไวรัสโคโรนาในประเทศและทั่วโลก
จึงเป็นโอกาสที่ทั้งได้เผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม การสืบทอดศิลปะ และการธำรงคุณค่ากับเอกลักษณ์ของสังคม ตลอดจนเป็นกำลังใจแก่ประชาชนท่ามกลางบรรยากาศอันบีบคั้นการดำเนินชีวิตดังกล่าว
ประกอบกับถึงกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา กิจกรรมนี้จึงกำเนิดขึ้น โดยอาราธนาคุณความเชื่อและพลังบารมีในพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ได้ปกปักรักษามนุษย์ให้พ้นจากทุกข์กายทุกข์ใจ บังเกิดความสว่างขึ้นในสติปัญญาเพื่อจะดูแลปกป้องตัวเองในหนทางอันควร
ทุกคนสามารถสักการะพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า 6 องค์ ได้ตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ 08.30 ถึง 16.00 น.