“ธำรงศักดิ์” ชี้ หลวงวิจิตรวาทการ ปลูกฝังชาตินิยมผ่าน “ผู้หญิง” ใช้ละคร-นิยายปลุกใจเกณฑ์ทหาร

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่มติชนอคาเดมี มีการจัดเสวนาหัวข้อ หลวงวิจิตรวาทการ กับงานโฆษณา “เพื่อชาติ” โดยสโมสรศิลปวัฒนธรรม วิทยากร คือ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า หลวงวิจิตรวาทการมองตัวเองว่าเป็นคนจน ซึ่งในยุคสมัยนั้น ในสังคมคนจนหากคนจนต้องการเรียนหนังสือจะต้องบวช จึงจะได้เรียนและมีอาหารกิน เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นจะมีการตีพิมพ์พงศาวดารแจกตามงานศพ ดังนั้นวัดจึงมีหนังสือประเภทนี้อยู่มาก ทำให้หลวงวิจิตรวาทการสามารถศึกษาพงศาวดารได้จากที่นี่ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังสามารถพบเห็นได้ตามชนบท แสดงถึงความไม่พัฒนาจากอดีต

ในระหว่างที่บวชเณรอยู่ที่วัดมหาธาตุ หลวงวิจิตรวาทการอยากจะไปต่างประเทศ แต่ทว่าในระหว่างบวชเณรนั้นมีกฎห้ามเรียนภาษาต่างประเทศ เรียนได้เฉพาะภาษาบาลีเท่านั้น ท่านจึงแอบเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสในระหว่างบวช หลังจากสึกจึงสอบเข้าเป็นเสมียนที่กระทรวงการต่างประเทศทันที นับว่าเป็นการวางจังหวะก้าวไว้อย่างดี หลวงวิจิตรวาทการมีความคิดว่า “มนุษย์จะเกิดเป็นอะไรก็ได้ แต่มนุษย์กำหนดก้าวตัวเองได้” ดังนั้น คำว่า “ใฝ่สูง” ในความหมายของหลวงวิจิตรวาทการคือ ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

“หลังจากกลับมาจากต่างประเทศในปี พ.ศ. 2470 เหตุใดหลวงวิจิตรวาทการไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะราษฎรนั้นมีเงื่อนงำ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียง หลวงวิจิตรวาทการใช้วิธีส่งสาส์นผ่านสื่อ สร้างตัวตนผ่านงานเขียนหนังสือ เพราะหลวงวิจิตรมีความคิดว่า เป็นการทิ้งผลงานให้คนได้รับรู้ หนังสือไม่มีวันตาย ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการใช้เวลาเพียง 2 ปีในการตีพิมพ์หนังสือถึง 7 เล่ม ซึ่งหนังสือทั้ง 7 เล่มนี้ ล้วนการนำองค์ความรู้ตะวันตกที่ท่านได้พบมาระหว่างอยู่ที่ฝรั่งเศสมาเผยแพร่ให้แก่คนไทย ได้แก่ วิชาแปดประการ มันสมอง มหาบุรุษ ความฝัน พุทธานุภาพ จิตตานุภาพ และลัทธิโยคี โดยผลงานที่ทำให้หลวงวิจิตรวาทการถูกยอมรับจากสังคมมากที่สุด คือ หนังสือชุดประวัติศาสตร์สากล ซึ่งท่านนำมาจากหนังสือWorld History ที่พบที่ฝรั่งเศส” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

เสวนาศิลปวัฒนธรรม

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในบทละครเลือดสุพรรณ หนึ่งในงานประพันธ์ชิ้นเอกของหลวงวิจิตรวาทการ ตัวเอกของเรื่อง “ดวงจันทร์” ผู้หญิงที่เป็นคนไทยที่ถูกจับตัวเป็นเชลยในสงครามระหว่างพม่าและไทย ฉากที่ถือว่าเป็นการเปิดฉากผู้หญิงในสังคมไทยคือฉากที่ดวงจันทร์ นางเอกของเรื่อง เป็นผู้นำลุกขึ้นสู้กับพม่า จากการที่ตัวเองสูญเสียคนที่เป็นที่รักไป ซึ่งฉากนี้ถือเป็นการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมผ่านผู้หญิง เนื่องจากคนที่ดูละคร คนที่อ่านนิยายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และผู้หญิงจะนำความคิดเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ผู้ชายและลูก บทละครเลือดสุพรรณถือว่าไม่เพียงจะเป็นการสอดแทรกกระบวนการสร้างชาตินิยม ยังเป็นการแทรกลัทธิทหารนิยมลงไปอีกด้วย เพื่อปลุกใจให้คนไปเกณฑ์ทหาร และในช่วงนี้เองที่มีโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีเกิดขึ้น คือ โรงเรียนฝึกหัดครูสวนดุสิต และสวนสุนันทา ซึ่งผู้บริหารในตอนนั้นล้วนแต่เป็นผู้หญิง ถือเป็นการสร้างฐานให้กับหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลป์ กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนฝึกหัดครูสตรี จึงกลายเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายชุดความรักชาติ

อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้ดำเนินรายการ , ะำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยากร
อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้ดำเนินรายการ , ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยากร

เสวนาศิลปวัฒนธรรม

Advertisement
อัครพงษ์ ค่ำคูณ
อัครพงษ์ ค่ำคูณ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image