“ดอกไม้กับมนุษย์” ฟื้นตำนาน (ก่อนปิด) “ปากคลองตลาด”

"ดอกไม้กับมนุษย์" ฟื้นตำนาน (ก่อนปิด) "ปากคลองตลาด"

“ดอกไม้กับมนุษย์” ฟื้นตำนาน (ก่อนปิด) “ปากคลองตลาด”

(มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 กรกฎาคม; 29 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2559)

ปัญหาเรื่องการยกเลิกหาบเร่แผงลอยของพ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายดอกไม้ บริเวณปากคลองตลาดนานกว่า 60 ปี ได้ปิดฉากลงด้วยความเศร้าสร้อย เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เมื่อมีการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา “ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค” อันเลิศหรู

โดยทิ้งเสียงครวญสุดท้ายของพ่อค้าแม่ขาย กู่ร้องตะโกนขึ้น เมื่อต้องพ่ายแพ้ต่อการไม่ยืดหยุ่นให้ขยายเวลาการทำมาหากินแบบเก่าๆ อีกต่อไป ท่ามกลางน้ำตาเจิ่งนองบนกองดอกไม้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559

เป็นอันปิดฉากการต่อสู้ชนิดหลังพิงฝาของสามัญชนอีกหน้าหนึ่ง ต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรานีปราศรัย ของภาครัฐที่จ้องแต่จะ “จัดระเบียบ” พื้นที่ของ “ย่าน” และ “ชุมชน” ดั้งเดิม ที่ถูกดูแคลนว่าเป็นพื้นที่สลัม พื้นที่รกรุงรัง พื้นที่ขยะ โสโครก

Advertisement

ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นช่องทางเดียวของบรรดารากหญ้าหาเช้ากินค่ำ ที่พอจะดิ้นรนขายของหล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดไปวันๆ ได้บ้าง

ย้อนกลับไปมอง “ย่านปากคลองตลาด” อันขมขื่น ว่าในอดีตเคย “ถูกจัดระเบียบ” มาแล้วกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง

Agora Forum Bazar ตลาดปสาน

ในอดีตซีกโลกตะวันตก มีจุดรวมตัวของคนในเมืองเพื่อนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายกัน กรีกเรียกสถานที่นั้นว่า Agora ส่วนโรมันเรียก Forum

Advertisement

ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง นอกจากจะเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ ท้าดีเบต หรือแสดงสุนทรพจน์ของพวกนักการเมืองอีกด้วย

ส่วนเปอร์เซียหรืออิหร่าน มีตลาดระดับนานาชาติ เกิดจากการค้าของเส้นทางสายไหม เรียก “บาซาร์” (Bazar) ตั้งอยู่สองข้างถนน และเปิดขายสินค้าเฉพาะตอนกลางวัน ก่อนจะพัฒนามาเป็น Night Bazar ในยุคนี้

“บาซาร์” เป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ว่า “พาชาร์” ในประเทศมาเลเซีย

เช่นเดียวกับรากศัพท์ของคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คำว่า “ปสาน” ก็มีที่มาจาก “บาซาร์”

แต่เชื่อได้ว่า ตลาดในกรุงสุโขทัยส่วนใหญ่ย่อมเป็นตลาดบก เพราะกรุงสุโขทัยตั้งห่างจากริมแม่น้ำยมถึง 10 กิโลเมตร ตามศิลาจารึกระบุว่า ผู้ปกครองสุโขทัยมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนจากเมืองต่างๆ เข้ามาค้าขายกันในนครสุโขทัยได้อย่างเสรี เนื่องจากมีนโยบายที่ไม่เก็บภาษีจังกอบ (ภาษีผ่านด่าน)

สมัยกรุงศรีอยุธยา เหลือเพียงคำว่า “ตลาด” ส่วนคำว่า “ปสาน” ได้หายไป ภาษาไทยออกเสียงคำว่าตลาดแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก “กาด” ภาคใต้เรียก “หลาด”

ตลาดสมัยอยุธยามีความคึกคัก เหตุเพราะทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาอยู่ติดแม่น้ำสามสาย คือเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี ตลาดในยุคนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดในเมือง และตลาดนอกเมือง ทั้งสองกลุ่มยังแบ่งย่อยเป็นทั้งตลาดน้ำและตลาดบก รวมทั้งสิ้นมากถึง 61 ตำบล

เฉพาะตลาดน้ำ จาก “คำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ระบุว่ามีเรือนแพมากถึง 20,000 กว่าแพ มีทั้งตลาดของชำและตลาดของสด

สมัยกรุงธนบุรี ตลาดเด่นๆ มีอยู่แค่เพียงริมคลองบางหลวง และคลองบางกอกน้อย ไม่จอกแจกจอแจเหมือนสมัยอยุธยา เป็นยุคข้าวยากหมากแพง เพราะยังอยู่ในสถานการณ์กอบกู้เอกราช

ตลาด ย่าน ชุมชน ทั้งไทย-เทศ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น “ตลาด” เติบโตขึ้นมาคู่กับคำว่า “ย่าน” และ “ชุมชน”

“ปากคลองตลาด” ถือเป็น “ย่าน” แห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงในเขตพระนคร เหมือนกับย่านวังบูรพา ย่านพาหุรัด ย่านวรจักร ย่านเวิ้งนาครเขษม ย่านบางลำพู ย่านท่าพระจันทร์ ฯลฯ อันเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ซึ่งคำว่า “ย่าน” มีความแตกต่างจาก “ชุมชน” เช่น ชุมชนมหากาฬ ชุมชนจักรพงษ์ ชุมชนแพร่งนรา ชุมชนสามยอด ฯลฯ กล่าวคือ ย่าน เป็นชุมชนที่นอกจากจะมีประชากรอาศัยแล้ว ยังมีลักษณะเป็นเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ตลาดสมัยรัตนโกสินทร์ กระจายตัวอยู่ท่ามกลางย่านและชุมชนของประชากรทั้งไทยและเทศ เช่น ตลาดสำเพ็ง ตลาดสะพานหัน ตลาดน้อย ตลาดเก่า ตั้งอยู่ในย่านชาวจีน ในขณะที่ร้านค้าถนนตะนาว เฟื่องนคร สี่กั๊กพระยาศรี สี่กั๊กเสาชิงช้า เป็นร้านค้าของชาวยุโรป

ปากคลองตลาด ชื่อคลองว่าอะไร?

ปากคลองตลาด อดีตตำนานตลาดขายดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร คำว่า “ย่านปากคลองตลาด” เป็นคำที่ครอบคลุมพื้นที่ตลาดย่อยๆ 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดยอดพิมาน จากถนนจักรเพชรถึงวังบูรพาภิรมย์ ตลาดองค์การปกครองตลาด และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย

“คลองตลาด” มีระยะทางตั้งแต่จากปากคลองหลอดวัดราชบพิธ (เดิมเรียกคลองโรงไหม) จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะขยายราชธานีออกไปทางด้านทิศใต้ของฝั่งตะวันออก สมัยกรุงธนบุรีเรียกคลองตลาดว่า “คลองใน” หรือ “คลองคูเมือง”

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 เรียกคลองขุดนั้นว่า “คลองคูเมืองเดิม” (เดิม หมายถึงว่าคลองนี้เคยขุดไว้ตั้งแต่สมัยราชธานีเก่ากรุงธนบุรี)

สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนชื่อคลองทางด้านใต้มาเป็น “คลองตลาด” เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ทั้งทางบกและทางน้ำตั้งอยู่ ส่วนทางด้านเหนือเรียก “คลองโรงไหม” เพราะมีโรงไหมหลวงตั้งอยู่ ปัจจุบันคือที่ตั้งของสะพานพระปิ่นเกล้า

บ่อยครั้งที่มีการสับสนในการเรียกชื่อคลองสายดังกล่าว จึงมีประกาศในราชกิจนานุเบกษา ให้เรียกชื่อ “คลองคูเมืองเดิม” ออกเป็น 3 ตอนดังนี้

หนึ่ง ระยะระหว่างปากคลองที่ท่าช้างวังหน้าถึงปากคลองหลอดวัดราชนัดดา เรียก “คลองโรงไหมวังหน้า”

สอง ระยะระหว่างปากคลองหลอดวัดราชนัดดาถึงปากคลองหลอดวัดราชบพิธ เรียก “คลองหลอด”

สาม ระยะระหว่างปากคลองหลอดวัดราชบพิธถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เรียก “คลองตลาด”

เหตุที่เรียกคลองตลาด เพราะตั้งเป็นตลาดแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ขายดอกไม้ เน้นการขายอาหารประเภทปลา กะปิ เกลือ พริก หอม กระเทียม ที่รับมาจากเรือขนส่งแม่น้ำท่าจีน เรียกตลาดนั้นว่า “ตะพานปลา” ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหลอดตลาดใหม่ (ชื่อนี้ระบุชัดว่าย่านปากคลองตลาดในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่งจะเป็นตลาดใหม่ ไม่ใช่ตลาดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-4)

มีหลักฐานยืนยันว่าครั้งหนึ่ง “ปากคลองตลาด” เคยเป็นตลาดปลาจริง ปรากฏอยู่ใน “นิราศปากลัด” นิพนธ์โดยคุณหญิงเขื่อนเพชรเสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) แต่งเมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) กลางสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า

“มาถึงคลองตลาดตามราษฎร์เรียก กลิ่นปลาเปียกฉุนล้นทนไม่ไหว”

ต่อมามีประกาศยกเลิกตลาดปลาไปรวมกันที่ตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ด้วยเหตุผลกลใดมิอาจทราบได้

ในเมื่อปากคลองตลาดในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมิได้ขายดอกไม้ แต่ขายพวกกะปิ น้ำปลา และปลาสด คำถามที่ตามมาคือ ย่านที่ขายดอกไม้ในสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ไหนกันเล่า?

พบว่าดอกไม้มีขายที่ “ตลาดยอด” เป็นส่วนหนึ่งของตลาดบางลำพู ด้านหนึ่งเข้าทางถนนสามเสน อีกด้านเข้าทางถนนพระสุเมรุ เน้นการขายดอกไม้ อุบะ มาลัย ธูป เทียน แป้งกระแจะ น้ำอบไทย เครื่องหอม ปัจจุบันร้านค้าที่ยังคงขายสิ่งเหล่านี้เหลือเพียงบริเวณย่านถนนบ้านดินสอ

ความเจริญรายรอบปากคลองตลาด

ต่อมามีการตัดถนนจักรเพชร เลียบกำแพงเมืองด้านใต้ เริ่มจากปากคลองตลาดไปจนถึงป้อมจักรเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมีการตั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข เมื่อ พ.ศ.2426 ขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามวัดเลียบ ต่อมาการไฟฟ้าและการรถรางของไทยก็เริ่มก่อตั้งใกล้บริเวณวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) อีกด้วย

ความเจริญด้านการคมนาคมขนส่งย่านปากคลองตลาดเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้กรมสุขาภิบาลสร้างสะพานเจริญรัช 31 ข้ามคลองคูเมืองด้านใต้ตรงส่วนที่เรียกว่าปากคลองตลาด เมื่อ พ.ศ.2453 ในปีแรกที่เสด็จขึ้นเสวยราชย์

สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า (ชาวบ้านเรียกย่อๆ ว่า “สะพานพุทธ”) เพื่อเชื่อมพระนครฟากตะวันออกกับกรุงธนบุรีฟากตะวันตก ในวาระฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ.2475 พร้อมประดิษฐานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 ณ ลานเชิงสะพานพุทธฝั่งตะวันออก

การสร้างถนน สะพาน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ปากคลองตลาดเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

และกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตพระนครตราบจนถึงปัจจุบัน

จากตะพานปลาสู่ตลาดดอกไม้

ภาพปากคลองตลาดในฐานะศูนย์รวมของการขายดอกไม้ มีขึ้นเมื่อ พ.ศ.2496ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในยุคนั้นประชากรขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ความต้องการสินค้าต่างๆ จึงทวีเติบโตตามไปด้วยโดยปริยาย ตลาดที่มีอยู่เดิมคือ ตลาดท่าเตียน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดบางลำพู ฯลฯ เริ่มเกิดความแออัด พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย จึงมีพวกพ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งค่อยๆ ลามไหลหันมายึดพื้นที่รายรอบกำแพงวัดโพธิ์ (เพราะใกล้ตลาดท่าเตียน) ปลูกเพิงพักอาศัยทั้งภายในและภายนอกวัด ยังชีพด้วยการจำหน่ายสินค้าอยู่ริมกำแพงวัด

รัฐบาลสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่า วัดพระเชตุพนเป็นพระอารามหลวง ไม่เหมาะแก่การให้พ่อค้าแม่ค้านำผักผลไม้ต่างๆ มาขายรายรอบวัด จึงได้จัดหาที่ดินสำหรับจัดตั้งตลาดขึ้นใหม่ โดยเลือกใช้พื้นที่บริเวณปากคลองตลาด ด้วยเป็นทำเลที่เหมาะสมเพราะอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา

นอกจากจะย้ายตลาด (ที่ถูกมองว่ารกรุงรัง) บริเวณข้างวัดโพธิ์แล้ว ยังย้ายตลาดกรมภูธเรศธำรงศักดิ์อีกแห่งหนึ่ง ให้มารวมอยู่ด้วยกัน ณ ที่แห่งนี้

ถือเป็น “การจัดระเบียบ” ตลาดอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมีกฎหมายมารองรับ เห็นได้จากปี 2496 ได้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย

สมัยก่อนในยามเย็นหลังเลิกงาน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานในละแวกเขตพระบรมมหาราชวัง หากต้องการหนีรถติด รอให้การจราจรหายแออัดลงสักหน่อย มักฆ่าเวลาด้วยการละเลียดเดินกินลมชมวิวไปเรื่อยๆ เริ่มจากหน้าสถานีตำรวจพระบรมมหาราชวัง เลียบเลาะผ่านหน้าโรงเรียนราชินี แล้วข้ามสะพานเจริญรัช 31 …จากนั้นก็ไม่ต้องพรรณนาอะไรกันอีกแล้ว

เพราะเราจะต้องเผชิญหน้ากับความจ้อกแจ้กจอแจของยวดยานพาหนะ รถกระบะบรรทุกผักสดจอดรอขนถ่ายสิ่งของอยู่บนสะพานและริมทางเท้า เสียงโหวกเหวกโวยวายของแม่ค้าดอกไม้ที่แข่งขันกันตะโกนแย่งลูกค้าด้วยลีลาเฉพาะของแต่ละร้าน อาทิ

“มะลิจ้ามะลิ ขาวอวบไม่มีหนอน ถูกที่สุดในโลก สามกระป๋องสิบบาท ขายไม่หมดไม่กลับบ้าน จะเทลอยแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ

“วันนี้วันพระ อยากได้บุญเยอะๆ มาทางนี้ เหมาหมดเข่งไปเลย ใบเตยเพิ่งตัดสดๆ เยอบีร่าเพิ่งไปเอามาจากดอย”

สิ่งที่เป็นสีสันมากที่สุด เห็นจะไม่มีอะไรเกิน คนรับจ้างเข็นผักและดอกไม้สด ทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มฉกรรจ์และตาแปะแก่ๆ ต่างวิ่งพล่านลากรถล้อกันฉวัดเฉวียนตัดหน้าผู้สัญจร และตัดหน้ารถทุกคันบนท้องถนน พร้อมคำพูดกึ่งขู่ว่า

“หนีหน่อยค้าบหนีหน่อย ระวังรถเข็นด้วย หลบข้างๆ หน่อยซี่ ไม่หลบเดี๋ยวชนนะจะบอกให้!”

บรรยากาศเก่าๆ เหล่านี้ ไม่ได้ถูกภาครัฐและสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็น “ภาพชีวิตอันมีเสน่ห์” เป็นการแบ่งปันพื้นที่ให้คนทำมาหาเช้ากินค่ำ ที่พึ่งพาแค่แรงกาย ได้มีที่อยู่ที่ยืนบ้างตามอัตภาพ

แต่กลับถูกมองว่าเป็นภาพของ “ขยะสังคม” “เสนียดชีวิต” “ไวรัสกลางกรุง” ที่น่าชิงชัง ภาครัฐจำเป็นจะต้องเข้ามา “จำกัด” และ “กำจัด” ภายใต้รูปแบบที่ฟังดูดีคือ “การจัดระเบียบ” พื้นที่ทางเท้ากลับคืนสู่ประชาชน

ผังปากคลองตลาด

มีตลาดอะไรบ้าง ที่ปากคลองตลาด

“ตลาด” ที่ปากคลองตลาด เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 60 ปี ตัวเลขนี้เริ่มนับเอาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา เป็นการพัฒนาตลาดเดิมที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ย้ายพ่อค้าแม่ขายจากกำแพงวัดโพธิ์มาอยู่ที่นี่

นโบยายรัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาชนบท คือภาคเกษตรกรรม ทำให้ปากคลองตลาดค่อยๆ เติบโตด้านผลิตผลทางการเกษตร ทั้งผัก ผลไม้ และดอกไม้ก็ขยายตามมา

เริ่มจากการนำดอกกล้วยไม้แถวสวนสามพรานมาวางขาย เป็นศูนย์รวมดอกมะลิบูชาพระ ใบเตย ใบตอง ต่อมามีการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากเมืองเหนือ ดอกไม้จากยุโรป จนกระทั่ง มีร้านรับจัดดอกไม้ บายศรี ไหว้ครู ดอกไม้หน้าศพ งานเลี้ยงสัมมนา งานวิวาห์ ทุกชนิดอย่างครบวงจร

แล้วชื่อจริงๆ ของ “ตลาดที่ปากคลองตลาด” นั้นมีชื่อว่าอย่างไรกันแน่? อีกทั้ง “ตลาดที่ปากคลองตลาด” มีทั้งหมดรวมกี่แห่งกันแน่?

ผู้คนส่วนใหญ่ ไม่สามารถแยกแยะเส้นแบ่งระหว่างตลาดต่างๆ ออกจากกัน จึงมักเรียกโดยรวมว่า “ตลาดปากคลอง” หรือ “ปากคลองตลาด”

ตลาดแห่งแรกสุด ในกลุ่มตลาดย่านปากคลองตลาด มีชื่อว่า “ตลาดองค์การตลาด” สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทิศเหนือติดถนนอัษฎางค์ เลียบคลองหลอด ทิศตะวันตกติดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกติดถนนจักรเพชร ทิศใต้ติดซอยท่ากลาง

ภายในตลาดองค์การตลาด เป็นแผงลอยขายผักและของสดอื่นๆ แต่ไม่คึกคักเหมือนกับบรรยากาศตึกแถวรอบนอก โดยเฉพาะตรงบริเวณที่เรียกว่า “ซอยท่ากลาง” เป็นจุดขายผักที่ผู้คนขวักไขว่มากที่สุด เพราะเป็นบริเวณขนถ่ายสินค้า มีที่จอดรถ

ตลาดที่สอง ที่อยู่ถัดจากซอยท่ากลางคือ “ตลาดยอดพิมาน” ตั้งอยู่ระหว่างตลาดองค์การฯ กับสะพานพุทธ หันหน้าให้ถนนจักรเพชร ด้านซ้ายติดซอยโรงยาเก่า ด้านขวาติดซอยท่ากลาง ด้านหลังติดท่าขึ้นสินค้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา

ตลาดยอดพิมาน ก่อกำเนิดหลังตลาดองค์การตลาดราว 10 ปี จัดเป็น “ตลาดเอกชนที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

เดิมที่ตั้งของตลาดยอดพิมาน เคยเป็น “โรงยาฝิ่น” จนกระทั่งทางการห้ามสูบฝิ่นอย่างเด็ดขาด ปี พ.ศ.2505 จำเป็นต้องรื้อโรงยาฝิ่น ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ “ซอยโรงยา” เท่านั้น

ต่อมายังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนจีนชื่อ “ซินเจียนฮั้ว” อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว

พ่อค้าแม่ขายจะเรียกชื่อตลาดยอดพิมานเพียงสั้นๆ ว่า “ตลาดยอด” ต่อมายังได้เกิด “ตลาดซ้อนตลาด” ภายในตลาดยอดอีกด้วย นั่นคือบริเวณที่ถัดจากซอยโรงยา ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ซอยเอ็มไพร์” จุดนี้เริ่มนับตั้งแต่ร้านดอกไม้ชื่อ “นานาภัณฑ์” ตรงหัวมุมปากซอยด้านข้าง เข้ามาจนสุดเชิงสะพานพุทธ เป็นพื้นที่แยกมาเป็นตลาดย่อยอีกแห่งหนึ่งเรียก “ตลาดสะพานพุทธ” หรือ “ตลาดเอ็มไพร์”

เหตุที่เรียกตลาดเอ็มไพร์ หรือซอยเอ็มไพร์ เพราะบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ “เพชรเอ็มไพร์” อันโด่งดังมากในอดีต สมัยที่กิจการรุ่งเรือง มีร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่อร่อยขึ้นชื่อในย่านนี้ เรียกกันว่า “ราดหน้าเอ็มไพร์” เมื่อโรงหนังปิดตัว ร้านราดหน้าก็ปิดตาม โรงหนังเอ็มไพร์เปลี่ยนกิจการไปเป็นสนามบิลเลียดอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายกลายเป็น ที่จอดรถเอ็มไพร์ ภายในบริเวณนั้น มี “ศาลพระพรหม” ตั้งอยู่

ตลาดขนาดใหญ่แห่งที่สามในย่านปากคลองตลาด มีชื่อว่า “ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย” ตลาดแห่งนี้ไม่ได้ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนตลาดอื่นๆ มีถนนล้อมทุกด้าน หันหน้าสู่ถนนจักรเพชร ด้านซ้ายติดถนนบ้านหม้อ (เรียกย่านนั้นว่า “เสาวภา” ตามชื่อสถานศึกษา) ด้านขวาติดถนนอัษฎางค์ และด้านหลังติดกับซอยท่ากลาง

ตลาดใหม่แห่งนี้ เริ่มแรกเน้นการนำผลไม้จากสวนเกษตรกรแบบสดๆ ตามฤดูกาล มาวางกองให้ประมูลกันในราคาถูกยิ่งกว่าตลาดมหานาค โดยเฉพาะใครอยากรับประทานลำไยแบบเหมาเข่งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะต้องมาต่อคิวเหมาจากตลาดแห่งนี้

ภายในตรอกซอกซอยของตลาดส่งเสริมเกษตรไทยเอง ก็ยังมีชุมชนโบราณ ซึ่งเป็นที่รู้จักเฉพาะกันในหมู่พ่อค้าแม่ขายแถวนั้น ว่ามี “ตรอกศาลเจ้า” “ตรอกสุพรรณ” “ซอยมาดี”

ในท้ายที่สุด ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย ก็ไม่สามารถยืนหยัดคงความเป็น “ตลาดประมูลผลไม้จากสวน ตามฤดูกาล” ได้อีกต่อไป เนื่องจากรถบรรทุกคันใหญ่จากต่างจังหวัดไม่สามารถเบียดแทรกถนนสายเล็กสายน้อยเพื่อนำเอาผลไม้มาลงได้ ต้องหลบทางให้แก่รถเข็น รถลากคันเล็กคันน้อย ที่ลากผักสด ผลไม้ และดอกไม้สด กันพลุกพล่าน

ทำให้ตลาดแห่งนี้ ค่อยๆ ถูกกลืนและกลายสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดขายดอกไม้แห่งปากคลองตลาดอย่างสมบูรณ์ไปโดยปริยาย

ดอกไม้กับมนุษย์

ซื้อขายกันไม่หยุดในทุกเทศกาล

การที่ตลาดในย่านปากคลองตลาด ค่อยๆ ก้าวผงาดขึ้นมาสู่ความคึกคัก จนต้องลามไหลไปวางขายกันระเกะระกะบนท้องถนน มีผู้คนแวะเวียนกันมาจับจ่ายใช้สอยเงินสะพัดที่นี่ตลอด 24 ชั่วโมง ก็เพราะ “ความสำคัญในตัวของดอกไม้เอง” ที่มีความผูกพันกับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย ในทุกเทศกาล

ไล่นับมาตั้งแต่วงจรชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตั้งแต่กระเช้าเยี่ยมคุณแม่-คุณพ่อมือใหม่ งานบวชเณรบวรพระ ไปจนถึงกระเช้าดอกไม้เยี่ยมไข้ และพวงหรีดงานศพ

หรือจะมองในแง่พิธีกรรมทั้งทางศาสนา ประเพณีโบราณ วัยเด็กเราต้องขวนขวายหาดอกไม้สำหรับไหว้ครู วันลอยกระทงก็ต้องทำกระทงส่งครู ไหนจะดอกไม้หน้าโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้สำหรับเดินเวียนเทียน ดอกไม้พานพุ่มในงานวันรัฐพิธีสำคัญ ฯลฯ

ไปจนถึงเทศกาลตามยุคสมัยที่รับอิทธิพลจากตะวันตก ที่เกิด “ค่านิยมใหม่” ของการแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เช่น มอบช่อดอกไม้วันรับปริญญา วาระมุทิตาจิตเกษียณอายุ ใช้ตกแต่งซุ้มรูปหัวใจในงานวิวาห์ ประดับสถานที่เวทีสัมมนา งานอีเวนต์ กุหลาบวันวาเลนไทน์

รวมไปถึงการเกิด “ธรรมเนียมประเพณีใหม่” ที่กำหนดให้มอบดอกมะลิวันแม่ ดอกพุทธรักษาวันพ่อ ดอกป๊อปปี้วันทหารผ่านศึก ฯลฯ

ไหนจะความเชื่อเรื่องโชคลาง ในยุคที่ผู้คนขาดที่พึ่งทางจิตใจ ทริปไหว้พระ 9 วัดบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจังหวัดต่างๆ ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ดอกไม้ หรือการที่หมอดูแนะนำให้คนเกิดวันนี้วันนั้น ต้องปลูกดอกไม้ที่ถูกโฉลกกับตนประเภทไหน สีอะไร กลิ่นอย่างไร บริเวณไหน หน้าบ้าน หลังบ้าน บนหลังคา ฯลฯ บางครั้งต้องเลือกชื่อให้เกิดสิริมงคล เช่น บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ฯลฯ

ไหนจะเทรนด์ที่โหนกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้ผู้คนหันมาใช้ใบตองแทนโฟมและพลาสติก ดื่มน้ำใบเตย น้ำดอกอัญชัน แทนน้ำอัดลม

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างให้เห็น “ความจำเป็น” ที่มนุษย์ต้องแสวงหาดอกไม้ มารองรับประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ รสนิยม และเทศกาลไทย-เทศ ชนิดไม่หยุดไม่หย่อนกันตลอดชั่วนาตาปี

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมตลาดดอกไม้สดที่ปากคลองตลาดจึงเติบโตกันอย่างไม่หยุดยั้ง ชนิดที่เรียกว่า “ครบเครื่องเรื่องบุปผา” มีทั้งการขายดอกไม้สดเป็นกำๆ หรือเป็นลิตร มีทั้งร้านนั่งร้อยพวงมาลัย ร้านเย็บบายศรี ร้านเย็บแบบสำหรับพานพุ่ม ร้านรับจัดช่อดอกไม้ ร้านรับออร์เดอร์ดอกไม้นอก ร้านรับแต่งดอกไม้นอกสถานที่ ฯลฯ

ข่าวการย้ายปากคลองตลาด

ฝันร้ายที่คอยหลอนนานกว่า 30 ปี

กระแสการย้ายหรือจัดระเบียบพื้นที่ปากคลองตลาด มิใช่เพิ่งดำริขึ้นในช่วง ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน หากแต่เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี แล้ว ในทุกๆ ครั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ พื้นที่เป้าหมายแรกสุดของเขตเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ที่ฝ่ายปกครองมองเห็นว่า “เป็นทัศนะอุจาด” ย่อมหนีไม่พ้น ปากคลองตลาด

นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ว่ากี่ยุคต่อกี่ยุค ล้วนเพ่งเล็งว่า ปากคลองตลาดคือตัวการที่ทำให้รถติด เป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่แน่นแออัด ทำลายทัศนียภาพโดยรอบ ถนนเปียกเลอะเทอะเฉอะแฉะ ทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มบนท้องถนน เป็นต้นตอของกองขยะภูเขาใน กทม.

ความคิดที่จะแปรสภาพตลาดสดทำเป็นลานจอดรถบ้าง เป็นสวนหย่อมสาธารณะบ้าง เป็นทางเท้าเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง เป็นร้านขายดอกไม้ไฮโซ ดูดี ถูกสุขลักษณะบ้าง เป็นคำพูดที่คอยหลอนหลอกพ่อค้าแม่ค้าตอกย้ำถึงความเป็นคนรากหญ้าที่ไม่มีหลักประกันอะไรเลยในชีวิต ทำให้ใจตุ้มๆ ต่อมๆ เฝ้ารอคอยวันฝันหลอนจะเป็นจริง

ครั้งหนึ่งพ่อค้าแม่ขายชาวปากคลองตลาด เคยถูกยื่นข้อเสนอให้ย้ายไปเปิดตลาดขายดอกไม้แห่งใหม่ที่ตลาดน้ำแถวตลิ่งชัน โดยจะมีพื้นที่กว้างขวางกว่านี้ แต่คำสั่งย้ายกลับไม่เป็นผล เพราะทำเลไม่ดีเกรงจะไม่ติดตลาดเหมือนทำเลทองแห่งเดิม ชุมชนชาวปากคลองตลาดรวมตัวกันชุมนุมประท้วงต่อคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยต่อการให้ย้ายไปตลิ่งชันมาแล้ว เมื่อราว 30 ปีก่อน

กระทั่งต้นปีที่ผ่านมานี้ อาศัยยุคที่รัฐบาลมีกฎหมายเหมือนกฎเหล็ก มอบอำนาจให้จัดระเบียบพื้นที่ปากคลองตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตลาดยอดพิมาน หรือตลาดยอด ก็ถูกนำชื่อไปปัดฝุ่นขึ้นหิ้งใหม่ เปลี่ยนลุคกลายเป็น “ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค”

พร้อมกับการปิดฉากลงของชีวิตหาบเร่แผงลอยแบบบ้านๆ ปิดฉากเสน่ห์รถเข็นดอกไม้ที่คอยวิ่งไล่ผู้สัญจรให้หลบหลีกทาง กลิ่นใบตองเปียกแฉะเคล้ามะลิคลุ้งฉุนเตะจมูกที่แม้ยามหลับตาก็รู้ว่าเราผ่านมายังปากคลองตลาดแล้ว ก็คงเหลือเพียงแต่ตำนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image