สุจิตต์ วงษ์เทศ : โบราณศิลปวัตถุ อยุธยา กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

หนังสือเก่าที่กรมศิลปากรพิมพ์ซ้ำ (ซ้าย) โบราณคดีดงศรีมหาโพธิ์ พิมพ์ซ้ำ 2557 (กลาง) จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ซ้ำ 2558 (ขวา) พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ซ้ำ 2558

กรมศิลปากร พิมพ์ซ้ำหนังสือมีคุณค่าอย่างยิ่งทางวิชาการระดับสูงด้านศิลปวัฒนธรรม ที่เคยพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในช่วงเวลา อ. ธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรมากกว่า 50 ปีมาแล้ว

ทุกวันนี้เป็นหนังสือหายากที่นักวิชาการและนักสะสมต้องการ แล้วเสาะหาซื้อมาด้วยราคาแพง

ได้แก่ หนังสือ 2 เล่ม (1) จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2501 (2) พระพุทธรูปและภาพพิมพ์ ในกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2502

[เป็นหนังสือ 2 เล่ม ที่ผมเคยเขียนแนะนำให้รีปริ๊นต์ พิมพ์ซ้ำโดยถ่ายแบบทั้งเล่ม เมื่อคราวมีข่าวครึกโครมเรื่องมาลาทองคำคล้ายจากกรุวัดราชบูรณะ ไปแสดงอยู่ในมิวเซียมในสหรัฐ แต่อธิบดีสมัยนั้นไม่ใส่ใจงานวิชาการ]

Advertisement

กรมศิลปากร พิมพ์ซ้ำหนังสือ 2 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2558 นับเป็นคุณูปการสูงยิ่งต่อวงการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม ผมเพิ่งพบวางขายในร้านริมขอบฟ้า จึงซื้อมาราคา 720 บาท (ทั้งชุด 2 เล่ม)

การพิมพ์ซ้ำตามสากลโลกทำได้อย่างน้อย 2 วิธี ได้แก่

วิธีที่ 1 พิมพ์ซ้ำโดยถ่ายแบบทั้งเล่ม ตั้งแต่ปกหน้า ถึงปกหลัง ไม่เปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น แม้มีข้อผิดพลาดขาดตกบกพร่องก็ไม่แก้ไข แต่บอกในคำนำเสนอ (อินโทรดักชั่น) ที่เชิญนักปราชญ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาเขียน

Advertisement

คำนำเสนอจะพิมพ์ไว้ส่วนหน้า รวมทั้งถ้ามีอะไรทำใหม่เพิ่มเติมจะพิมพ์ไว้ส่วนหน้า หรือส่วนหลังเท่านั้น แยกออกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาดั้งเดิมที่ถ่ายแบบ

วิธีที่ 1 นี้ ใช้กับหนังสือที่มีค่าสูงทั้งเล่ม เช่น แบบและขนาดของตัวอักษร รวมถึงการจัดวางรูปเล่ม จัดหน้า รูปประกอบ และออกแบบปก ฯลฯ

หนังสือยุคแรกๆตั้งแต่หมอบรัดเลย์ริเริ่มการพิมพ์ในสยาม ถึงยุคหนังสือที่ระฦกสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กระทั่งกรมศิลปากร ยุค อ. ธนิต อยู่โพธิ์ ฯลฯ ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์การผลิตหนังสืออยู่ในตัวเอง

วิธีที่ 2 พิมพ์ซ้ำโดยเริ่มต้นใหม่ ทำรูปเล่มใหม่ทั้งหมด เนื้อหาเดิม รูปเดิม หรือรูปใหม่ แล้วมีคำนำเสนอบอกทุกอย่างที่มีแก้ไขดัดแปลงแต่งเติมเสริมต่อ

ในสากลโลก ถ้าหนังสือมีค่าสูงทั้งเล่มทางศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเทคนิคการจัดพิมพ์ จะทำด้วยวิธีที่ 1

กรณีหนังสือ 2 เล่ม ควรพิมพ์ซ้ำด้วยวิธีที่ 1 แต่กรมศิลปากรเลือกวิธีที่ 2 โดยไม่มีคำนำเสนออธิบายว่าแก้ไขดัดแปลงเปลี่ยนไปตรงไหนบ้าง? บางแห่งยังแก้ไขจากเดิมด้วยซ้ำ

กรมศิลปากร ไม่ได้ทำชุดนี้เป็นครั้งแรก แต่เคยทำอย่างนี้มาก่อนแล้วกับหนังสือ “โบราณคดีดงศรีมหาโพธิ์” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) พิมพ์ซ้ำ พ.ศ. 2557

หนังสือประเภทควรเอามาพิมพ์ซ้ำหรือรีปริ๊นต์ ด้วยวิธีที่ 1 ยังมีอีกมากในกรมศิลปากร ขอสนับสนุนให้เชิญผู้รู้คุณค่าหนังสือเก่าเข้าร่วมเลือกสรรและกำหนดแนวทางพิมพ์ซ้ำในทางสากลต่อไปเรื่อยๆ

กรุณาอย่าให้ผู้ไม่รู้และไม่รักทางหนังสือ แล้วทำเสียของเพราะมีอำนาจกำหนดทิศทางพิมพ์หนังสือ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เนื่องจากไม่สมราคาคุย (โม้) ความเป็นกรมศิลป์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image