สุจิตต์ วงษ์เทศ : ผาแต้ม ในศาสนาผี ชุมทางนานาชาติพันธุ์หลายพันปีมาแล้ว

คนใส่หน้ากากคลุมหัวรูปสามเหลี่ยม ราว 2,500 ปีมาแล้ว จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี (ภาพคัดลอกของกรมศิลปากร)

ผาแต้ม (อ. โขงเจียม จ. อุบลฯ) หมายถึง หน้าผาแผ่นหินบนทิวเขาที่แต่งแต้มวาดเขียนตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว
เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น คน (สวมหน้ากากสามเหลี่ยม), ช้าง, ปลา ฯลฯ
บางแห่งแต่งแต้มวาดเป็นเรื่องราวพิธีกรรมนาตาแฮก (ที่เป็นต้นแบบแรกนาขวัญในปัจจุบัน)

ทั้งหมดของแหล่งภาพเขียนสี เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี (เสมือน ศาสนสถานของพราหมณ์, พุทธ ในยุคหลัง) ของชุมชนนานาชาติพันธุ์อยู่บริเวณที่ราบริมสองฝั่งโขง ซึ่งนับเป็นบรรพชนคนอุษาคเนย์และคนไทย

ผาแต้มอยู่บนชุมทางเส้นทางคมนาคมภายในภูมิภาคของแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ทั้งแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก

เฉพาะแนวเหนือ-ใต้ ถ้าขึ้นจากทะเลจีนผ่านแม่น้ำโขง (ในกัมพูชา) จะมีอุปสรรคติดแก่งลี่ผี (ในลาว) ต้องปรับเปลี่ยนการคมนาคมจากทางน้ำเป็นทางบกเข้าสู่อีสานบริเวณผาแต้ม แล้วจึงจะไปต่อได้ทางแม่น้ำโขงถึงเวียงจัน, สิบสองพันนา ฯลฯ เพราะเป็นชุมทางเส้นทางคมนาคมภายในภูมิภาค ซึ่งมีผู้คนนานาชาติพันธุ์ผ่านไปมาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อรับอารยธรรมอินเดีย ราวหลัง พ.ศ. 1000 ดินแดนบริเวณนั้นจึงมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐขนาดใหญ่ เป็นที่รู้จักในชื่อรัฐเจนละ มีศูนย์กลางเก่าสุดอยู่ทางลุ่มน้ำชี-มูล (ยโสธร-อุบลฯ) แล้วขยายไปถึงปราสาทวัดพูในแขวงจัมปาสัก (ลาว)
หลังจากนั้นสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ลงสู่ดินแดนกัมพูชาเป็นราชอาณาจักรที่มีอานุภาพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image