“กระดิ่ง” ของพ่อขุนรามคำแหง?

"กระดิ่ง" ของพ่อขุนรามคำแหง?

“กระดิ่ง” ของพ่อขุนรามคำแหง?

ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือที่มักจะรู้จักกันในชื่อของ “จารึกพ่อขุนรามคำแหง” เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยเกือบทั้งประเทศ เพราะรัฐท่านสอดใส่ไว้ในหลักสูตรแบบเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นประถม-มัธยม ว่า เป็นจารึกหลักแรกที่จดจารขึ้นด้วย “ตัวอักษรไทย” ตามอย่างที่ถ้อยกระทงความในจารึกหลักนี้อ้างเอาไว้

แต่จารึกหลักเดียวกันนี้ก็ยิ่งขึ้นชื่อในหมู่นักประวัติศาสตร์ และผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยว่าเป็น “จารึกเจ้าปัญหา” เพราะบางท่านก็ว่า ผู้สั่งให้จดจารขึ้นนั้นไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหงเสียหน่อย แต่เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างหาก?

ประเด็นเรื่องกษัตริย์พระองค์ไหนทรงเป็นผู้มีพระราชดำริให้จารจารึกหลักนี้ขึ้นมานั้น? ผมขออนุญาตไม่เอ่ยถึง และละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจระหว่างกันและกัน

เพราะประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้เป็นข้อความส่วนเล็กๆ ตอนหนึ่งในจารึกหลักนี้ ดังความที่ระบุเอาไว้ว่า

Advertisement

“…ในปากประตูมีกะดิ่งอันณึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่างเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไว้ ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม”

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 1 ช่วงท้ายสุด ต่อเนื่องมาจนถึงด้านที่ 2 อีกราวบรรทัดครึ่ง มีความหมายแปลเป็นภาษาไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบันว่า

ที่ปากประตู (วัง?) มี “กระดิ่ง” แขวนเอาไว้ ไพร่คนใดมีเรื่องทุกข์ร้อนก็ไปสั่นกระดิ่งอันนั้น เมื่อเจ้าเมืองคือ พ่อขุนรามคำแหงทรงได้ยินก็จะเสด็จมาดำเนินการพิพากษาความด้วยพระองค์เอง

Advertisement

ความตอนนี้ฟังดูก็เข้าท่าดี แถมยังชวนให้ไพล่คิดไปถึงเจ้าทุกข์ที่มาแจ้งความที่ศาลเมืองไคฟง ของเปาบุ้นจิ้น แต่ที่เมืองไคฟงเขาลั่นกลองกันนะครับ ไม่ใช่ไปสั่นกระดิ่ง

แต่เรื่องของการที่ให้ประชาชนมาสั่นกระดิ่งแจ้งความเจ็บท้องข้องใจ ก็ไม่ใช่จะไม่มีที่อื่น ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดก็คงไม่ใช่นวัตกรรม ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงเสกหรือประดิษฐ์ขึ้นมาเองเป็นแน่

รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่กลับมาสนใจศึกษาถ้อยคำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงทั้งหลัก และทำการศึกษาข้อความต่างๆ ในจารึกหลักนี้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ จนได้ผลผลิตออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า “จารึกพ่อขุนรามคำแหง การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ” ได้ตรวจสอบเรื่องการสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ดังกล่าว แล้วสรุปเอาไว้ว่า เนื้อความตอนนี้เอาแบบอย่างมาจาก “นิทานอิหร่านราชธรรม”

“นิทานอิหร่านราชธรรม” ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่า ไทยเราไปเอามาจากที่ไหน?

แต่นิทานเรื่องนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นิทานสิบสองเหลี่ยม” เพราะเป็นคตินิทานสอนราชธรรมให้แก่พระมหากษัตริย์ โดยจารึกไว้ที่ผนังของที่ไว้พระศพของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งมีสิบสองเหลี่ยม (คือมีสิบสองด้าน) เพื่อให้กษัตริย์องค์ต่อไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งความตอนหนึ่งในนิทานเรื่องนี้มีใจความระบุว่า

“…พระเจ้าเนาวสว่านตรัสแก่พระราชครูทั้ง 4 ว่าเราคิดว่าจะให้ทำระฆังแขวนไว้ ถ้าราษฎรมีศุขทุกข์ร้องฟ้องแก่เสนาบดีเห็นแก่กันไม่เอาธุระ ก็ให้มาชักสายระฆังเรา จะได้แจ้งทุกข์ของราษฎร์ทั้งปวง…” (เน้นความโดยผู้เขียน)

หากอ่านเปรียบเทียบเพียงเนื้อความจากนิทานนำเข้าจากอิหร่านเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ที่พ่อขุนรามคำแหงก็คงจะทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยมาจากนิทานเรื่องนี้แหละ แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นน่ะสิครับ เพราะ อ.พิริยะ ท่านบอกกับเราอีกด้วยว่า นิทานเรื่องนี้เพิ่งแปลจากภาษาซาวด์แทร็ก มาเป็นเป็นภาษาไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง

แล้วพ่อขุนรามคำแหงจะไปรู้จักนิทานเรื่องนี้มาจากที่ไหนได้?

ในบานแผนก (คือความนำ) ของนิทานอิหร่านราชธรรม ฉบับพากย์ไทยนี้ มีใจความระบุว่า ขุนกัลยาบดี “แต่ง” (ที่จริงคือ แปล) ถวายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2325 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2378 รัชกาลที่ 3 ค่อยโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ตามแผงคอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ อันเป็นช่วงที่รัชกาลที่ 4 ผนวชเป็น วชิรญาณภิกขุ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์

ดังนั้น ระหว่างพ่อนขุนรามคำแหง กับรัชกาลที่ 4 ถ้าใครพระองค์ใดจะเคยทรงพระอักษร (ตรงกับภาษาไพร่ว่า อ่าน) นิทานอิหร่านราชธรรม กษัตริย์พระองค์นั้นก็น่าจะเป็นรัชกาลที่ 4 มากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า อ.พิริยะ เรียกใช้วิธีการศึกษาจารึกหลักนี้ของท่านว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเปรียบเทียบ “คำ” ที่ใช้อยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่ามีในจารึกในวัฒนธรรมสุโขทัยหลักอื่นหรือไม่? (มากกว่าที่จะเปรียบเทียบจากรูปแบบตัวอักษร ว่ามีอักขรวิธีที่ใช้ หรือรูปแบบพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? อย่างที่ใช้ในการศึกษาจารึกโบราณโดยทั่วไป)

ว่ากันเฉพาะตรงส่วนที่ว่าด้วยการ “ลั่นกระดิ่ง” หลายคำไม่มีอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคำง่ายๆ อย่าง “ประตู” หรือสำนวนอย่าง “เจ็บท้องข้องใจ”

แต่ที่สำคัญที่สุดคือไม่มีคำว่า “กระดิ่ง” อยู่ในจารึกหลักอื่นๆ ด้วย

ข้อสังเกตดังกล่าวของ อ.พิริยะ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี และข้อมูลทางด้านดนตรีวิทยาเป็นอย่างมาก เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมต่างๆ ในอุษาคเนย์ทั้งภาคผืนแผ่นดินใหญ่ และภาคหมู่เกาะ ไม่มี “กระดิ่ง” ใบโตๆ จะมีก็แต่ “กระดึง” หรือ “กระพรวน” ลูกเล็กๆ เท่านั้น

ทั้ง “กระดิ่ง” “กระดึง” และ “กระพรวน” สร้างเสียงจากภายใน คือจะมีไม้ หรือสายเคาะอยู่ภายในครอบกระดิ่ง ต่างไปจาก “ระฆัง” ที่จะใช้ไม้ตีจากพื้นผิวภายนอกให้เกิดเสียง

ฝรั่งจึงไม่เรียก “ระฆัง” หรือ “ฆ้อง” คือเครื่องโลหะที่ใช้ตีจากภายนอกของอุษาคเนย์ว่า “bell” แต่เรียกทับศัพท์ไปเลยว่า “Gong” (ซึ่งก็คือ ฆ้อง นั่นแหละ)

ในขณะเดียวกันการที่ไทยเราแปลคำว่า “bell” ในภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยว่า “ระฆัง” เพราะอันที่จริงแล้ว bell นั้นหมายถึงเครื่องโลหะ ที่สร้างเสียงจากการเคาะข้างใน ซึ่งตรงกับ “กระดิ่ง” มากกว่า

“สายระฆัง” ในนิทานอิหร่านราชธรรม ที่จริงแล้วจึงควรเป็น “สายกระดิ่ง” เพราะตีจากภายใน ตามอย่างเทคโนโลยีการให้กำเนิดเสียงดนตรีของชาวตะวันตก (ซึ่งรวมถึงพวกเปอร์เซียคือ อิหร่าน) ในขณะที่ปราชญ์อย่างรัชกาลที่ 4 เองก็คงจะทรงทราบถึงความแตกต่างระหว่าง กระดิ่ง กับ ระฆัง เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

ส่วนพ่อขุนรามคำแหงนั้น ถ้าจะมีอะไรแขวนอยู่ที่หน้าประตูวังของพระองค์ ของสิ่งนั้นน่าจะเป็น “ระฆัง” มากกว่า “กระดิ่ง” เพราะสุโขทัยมีแต่ กระดึง กระพรวน และระฆัง

ส่วนจารึกเจ้าปัญหาหลักนี้ใครจะเป็นผู้สร้างนั้น ผมยังยืนยันว่า จะขอละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจระหว่างกันและกันอยู่เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image