‘ชาตรี’ เปิดไทม์ไลน์พช.พระนคร จากยุคดันเพดานอัลไตสู่โฉมใหม่ ชื่นชมเล่าการค้า ไม่ใช่แค่เอาพระมาตั้ง

‘ชาตรี’ เปิดไทม์ไลน์พช.พระนคร จากยุคดันเพดานอัลไตสู่โฉมใหม่ ชื่นชมเล่าการค้า ไม่ใช่แค่เอาพระมาตั้ง

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพฯ ศูนย์ข้อมูลมติชน ร่วมกับมติชนอคาเดมี และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดกิจกรรม ‘เที่ยวพิพิธภัณฑ์วัดคริสต์มาส ยลโฉมใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ วิทยากรได้แก่ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และรศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมล่วงหน้าเป็นจำนวนมากภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พช.พระนคร นายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รอง ผอ.ศูนย์ข้อมูลมติชน กล่าวเปิดกิจกรรม จากนั้น นางสาวนิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวถึงการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครครั้งล่าสุด ที่ยังคงไว้ ซึ่งจุดยืนการจัดแสดงคอลเลคชั่นมาสเตอร์พีซ โดยสื่อสารมากขึ้นผ่านการจัดวาง โดยพยายามออกแบบจัดวางแบบ 360 องศา ลดจำนวนโบราณวัตถุลง ขับเน้นด้วยแสงที่เป็นมิตร ไม่มีความร้อนและรังสีที่มีผลกระทบต่อโบราณวัตถุ เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เลือกมาเป็นไฮไลต์ เป็นเพียงการนำมาเติมเต็ม เพราะผู้ชมมีหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ และคนทั่วไป

จากนั้น ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และรศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล นำชมห้องต่างๆในอาคารมหาสุรสิงหนาถ ซึ่งจัดแสดงศิลปะเอเชีย , เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมทวารวดี ตามลำดับ

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี กล่าวว่า ในวันนี้จะพามาชมว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเล่าอะไรเกี่ยวกับชาติผ่านวัตถุจัดแสดงบ้างในช่วงเกือบร้อยปีที่ผ่านมา สำหรับการปรับปรุงการจัดแสดงครั้งล่าสุด การเล่าเรื่องชาติก็ยังอยู่ แต่เปลี่ยนไปตามบริบท ตนจะพยายามนำเสนอว่า ชาติไทย คนไทย และเอกลักษณ์ไทย ถูกพูดถึงผ่านการจัดแสดงอย่างไร โดยพิพิธภัณฑ์ไทยในช่วงแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ยังเป็น ‘ไพรเวทมิวเซียม’ ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ย้ายมาจัดที่ ‘หอคองคอเดีย’ (ศาลาสหทัยสมาคม) ในพระบรมมหาราชวัง

กระทั่ง พ.ศ.2430 จึงย้ายมาที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพช.พระนครในปัจจุบัน แต่เปิดให้เข้าชมเฉพาะบางวันเท่านั้น แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ในพ.ศ.2469 มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ปรับระบบจากการแสดงของแปลก ของขวัญ เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เรียงตามประวัติศาสตร์สยามเป็นครั้งแรก โดยในช่วงเวลานี้เปิดให้ชมเป็นสาธารณะแล้ว สำหรับการจัดแสดงยุคสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเป็นการแบ่งส่วนจัดแสดงตาม ‘วัสดุ’ เป็นหลัก เช่น ห้องหิน ห้องสัมฤทธิ์ แล้วจึงเรียงลำดับยุคสมัยในแต่ละห้อง เช่น ทวารวดี ศรีวิชัย ฯลฯ เป็นความสนใจศึกษาตัวเองว่าเก่าที่สุดเมื่อไหร่ และอย่างไร

“ระยะต่อมา คือหลัง 2475 มีการปรับโครงสร้างกรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์ขยับมาสู่การเล่าเรื่องของชาติผ่านโบราณวัตถุ โดยเพิ่มคำว่าแห่งชาติเข้ามา แสดงเป้าหมายว่าลึกๆแล้วต้องการพูดเรื่องชาติ ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เชื้อชาตินิยมสูง ดันเพดานประวัติศาสตร์ไทยไปเขาอัลไต หลังจากนั้น ใน พ.ศ.2510 ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล นักวิชาการรุ่นใหม่ในยุคนั้น
ทรงปรับการจัดแสดงใหม่ครั้งใหญ่

Advertisement

นำมาซี่งการสร้างอาคารมหาสุรสิงหนาถ และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โดยแม้จะยังเล่าเรื่องไทยผ่านศิลปวัตถุ แต่มีความเป็นวิชาการมากขึ้น รุ่นนี้ยังมีความคิดชาตินิยม แต่ไม่ใช่เชื้อชาตินิยม มีการจัดห้องก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งพิเศษมาก ใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานทั้งหลัง แสดงถึงความสนใจก่อนประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะการบูมขึ้นมาของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นอกจากนี้ ยังมีห้องศิลปะเอเชียซึ่งเกิดขึ้นจากบริบททางวิชาการ โดย ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ทรงเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย ลังกา ชวา จาม ขอม พม่า ลาว ที่ใช้ในการเรียนการสอนที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สำหรับการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครครั้งล่าสุดซึ่งเริ่มเมื่อ พ.ศ.2555 ถือเป็นครั้งที่ 6″ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนหนึ่ง ขณะศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี บรรยายที่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวชื่นชมพัฒนาการการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา โดยระบุว่า เดิมการจัดแสดงในส่วนนี้เมื่อ พ.ศ.2510 เป็นต้นมาก่อนการปรับปรุงใหม่ ห้องนี้เต็มไปด้วยการปลุกเร้าถึงความเป็นไทย เริ่มด้วยเชียงแสน ต่อด้วยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ โดยเชียงแสนถูกอธิบายว่าเป็นอาณาจักรคนไทยยุคแรกๆ มีศิลปะสกุลช่างเชียงแสนจัดแสดง แต่หลังการปรับปรุงครั้งล่าสุดนี้ ตนมองว่าห้องนี้เป็นห้องที่ดี สิ่งสำคัญคือมีการพูดถึงการค้า วัฒนธรรม ประเพณี ที่ไม่ใช่การเอาพระพุทธรูปมาตั้ง แล้วอธิบายว่า พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนพระหัตถ์เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนจาก ‘เชียงแสน’ มาเป็น ‘ล้านนา’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image