เสวนา ‘หัวลำโพงสเตชั่น’ ยัน รถไฟคือการคมนาคมแห่งความเสมอภาค

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัดและการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเสวนาในหัวข้อ “หัวลำโพง สเตชั่น”

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของหัวลำโพง ในช่วงแรกตั้งใจวางแผนให้สอดคล้องกับกายภาพของเมือง คือต้องการที่โล่งรองรับการก่อสร้างสถานีและทางรถไฟ จึงเลือกบริเวณติดชายคลองผดุงกรุงเกษม ทางฝั่งตะวันออก เพราะ 1. มีที่ว่างมากพอ เป็นทุ่งไม่มีคนอยู่ จึงเหมาะกับการวางโครงสร้างขนาดใหญ่ไว้ที่ตรงนั้น กับ 2.บริเวณที่สถานีกรุงเทพดั้งเดิมหรือสถานีหัวลำโพงปัจจุบัน อยู่บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมและหันหน้าเข้าคลอง แสดงว่ามีการจงใจสร้างให้รองรับกับการคมนาคมที่เป็นทางน้ำ ทำให้เชื่อมต่อได้ทั้งพื้นที่ในพระนครและขนถ่ายออกไปยังภายนอกอาจจะเป็นนอกประเทศ จะเห็นได้ว่าผู้ออกแบบตั้งสถานีกรุงเทพพิจารณาการขนส่งที่สะดวกสบายที่สุดในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหา คือเป็นสังคมรถเป็นใหญ่ มองว่าระบบขนส่งสาธารณะเป็นอุปสรรค ทั้งที่หัวลำโพงทำหน้าที่เป็นสถานีได้อย่างดี ในการขนคนหลักพันเข้ามาได้ภายในคืนเดียว รับใช้คนได้เสมอภาคกัน และไม่ทำให้การจราจรติดขัด

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงประเด็นการวางแผนปิดสถานีหัวลำโพงเมื่อปี 2564 ว่า ในอดีตรถไฟคือการคมนาคมที่มีเป้าหมายคือการขนส่งทั้งเศรษฐกิจและผู้คน แสดงความศิวิไลซ์ของชนชั้นนำที่สามารถเดินทางไปสู่หัวเมืองง่ายขึ้น ต่อมา มีจุดเปลี่ยน เมื่อถนนกลายเป็นหลัก ดังนั้น การพัฒนารถไฟจึงหยุดนิ่ง

“การที่ภาครัฐมองเป็นหัวลำโพงว่าเสื่อมโทรม เป็นพื้นที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับรากหญ้าจึงนำมาสู่ความคิดที่ว่าถึงเวลาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองมูลค่าเศรษฐกิจที่มากขึ้น หัวลำโพงเป็นจุดที่ส่งคนมวลชนได้ลึกที่สุดในกรุงเทพ ขณะที่การไปบางซื่อยิ่งเพิ่มอาณาบริเวณการเข้าเมือง มีทางเดียวคือรถเมล์ที่เป็นขนส่งมวลชนแบบสังคมสงเคราะห์มากกว่า” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว

Advertisement
ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image