มรดกของเอเชียอาคเนย์ที่ถูกฉกชิงอย่างไม่รู้จบ เราจะหยุดการโจรกรรมวัฒนธรรมได้อย่างไร

มรดกของเอเชียอาคเนย์ที่ถูกฉกชิงอย่างไม่รู้จบ
เราจะหยุดการโจรกรรมวัฒนธรรมได้อย่างไร

นักอนุรักษ์ชาวเนปาล ราบินดรา ปูริ กำลังควบคุมการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ถูกขโมย (Museum of Stolen Art) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงกาฐมาณฑุ เขาได้เล่าอย่างกระตือรือร้นว่า พิพิธภัณฑ์ของเขานั้นจะจัดแสดงประติมากรรมที่สร้างจำลองโบราณวัตถุสำคัญของเนปาลซึ่งถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกจากประเทศไปปรากฏในแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และคฤหาสน์หรูทั่วโลก ราวกับว่าสมบัติชาติเหล่านี้เป็นถ้วยรางวัล เขาสะท้อนจุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ที่ผิดแผลกแห่งนี้ว่า “ชาวเนปาลทุกคนที่มาเยือนที่แห่งนี้ หัวใจของพวกเขาต้องเหมือนถูกกรีดเป็นแผล และเลือดของพวกเขาจะต้องเดือดดาล”

เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงอันน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่เป็นอาชญากรรมคุกคามโลกในทุกวันนี้ และได้ถูกกล่าวถึงในซีรีย์สารคดีชุดใหม่ของแชนแนล นิวส์ เอเชีย ชื่อว่า Looted ซึ่งออกอากาศตอนแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สารคดีชุดนี้ติดตามกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักโบราณคดี และนักเล่าเรื่องทางโซเชียลมีเดีย ที่ตัดสินใจจัดการปัญหาด้วยตัวพวกเขาเอง และออกตามรอยค้นหาวัตถุอันล้ำค่าของประเทศของตนที่สูญหายและไปปรากฏในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและสถาบันการประมูลระดับโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตะวันตก

สารคดี Looted สะท้อนทัศนคติที่แตกต่างกันไปของผู้ที่อยู่ต่างฝั่งของปัญหา ซึ่งบางครั้งจะปกป้องจุดยืนทางการเมือง สังคม และจริยธรรมของตนอย่างเปิดเผย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในตอนแรกของสารคดีนี้ ซึ่งมีชื่อตอนว่า “นำเทพเจ้ากลับมา” ผู้ชมได้ฟังการสัมภาษณ์อลาสแตร์ กิ๊บสัน นักประมูลแห่ง Alastair Gibson Auctions ในลอนดอน

นายกิ๊บสัน เล่าว่า รัฐบาลจีนเพิ่งได้แจ้งขอให้บริษัทของเขานำกระติกเงินที่ใช้ในการล่าสัตว์สมัยราชวงศ์ชิงออกจากการประมูลครั้งล่าสุด โบราณวัตถุชิ้นนี้เคยเป็นสมบัติของจักรพรรดิจีน ก่อนที่จะถูกพรากจากพระราชวังฤดูร้อนโดยหน่วยทหารชาวอังกฤษในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่สอง นายกิ๊บสันได้ยินยอมทำตามคำขอของรัฐบาลจีน กระนั้นก็ได้แสดงความคิดเห็นต่างไว้ในสารคดีนี้ว่า

Advertisement

เราเห็นใจในความสูญเสียของชาวจีน อย่างไรก็ตาม หากศิลปวัตถุของจีนนั้นหาชมได้เพียงในประเทศจีน วัตถุเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมจีนให้กับชาวโลกได้อย่างไรกัน ผมจึงคิดว่า เป็นการดีกว่าที่ศิลปวัตถุของจีนนั้นกระจัดกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้โลกเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นในศิลปะวัฒนธรรมของจีน

และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนสารคดี Looted จะออกอากาศ มีอีกหนึ่งรายการทอล์คโชว์ยามดึกทางช่อง HBO ชื่อ Last Week Tonight with John Oliver ตอน “พิพิธภัณฑ์” (Museums) ได้ตั้งคำถามถึงความเป็นมาของการได้มาซึ่งวัตถุจัดแสดงในเหล่าพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ยังคงครอบครองโบราณวัตถุจากเอเชีย แอฟริกา และรัฐอาณานิคมเดิมต่าง ๆ ที่มีหลักฐานว่าถูกโจรกรรมไป และจัดแสดงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

Advertisement

จอห์น โอลิเวอร์ พิธีกรของรายการ สรุปประเด็นได้อย่างละเอียดและเผ็ดร้อน และปิดรายการด้วยฉากตลกร้ายจาก คุเมล นานจีอานี นักแสดงตลกชื่อดัง ที่ชวนให้คิดถึงสถานการณ์ที่กลับกัน โดยสมมติว่าในโลกนี้มี “พิพิธภัณฑ์เช็คบิล” (Payback Museum) ที่ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นตัวแทนของอารยธรรมตะวันตก โดยวางอย่างปะปนต้นตอทางวัฒนธรรม พร้อมป้ายอธิบายอย่างผิด ๆ

ในขณะที่สาธารณชนต่างรับรู้ถึงเรื่องราวอื้อฉาวว่า พิพิธภัณฑ์อันทรงเกียรติของโลกนั้นซื้อโบราณวัตถุมาจัดแสดงจากตลาดมืดมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว น้อยคนนักจะตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศของตนจะต้องมีมาตรการป้องกันอาชญากรรมประเภทนี้ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจำนวนมากจากประเทศของเราที่ถูกลักลอบนำออกไปสู่ตลาดศิลปะทั่วโลก

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประชาคมโลกในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ได้เห็นพ้องกันว่า การลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและการทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก ทั้งเป็นการพรากสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเข้าถึง ชื่นชม และสืบทอดวัฒนธรรมของตน อันเป็นสิ่งที่กฎหมายนานาชาติหลายฉบับรับรองไว้ แม้กระนั้น เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว สำนักงานตำรวจสากล (INTERPOL) ยังคงรายงานว่า เอเชียยังมีประเทศที่พบการขุดค้นโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้น มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก

บางทีคำถามที่เราควรถามอาจไม่ใช่ว่า เราจะได้โบราณวัตถุใดกลับมาประเทศของเราอีก แม้ว่าความพยายามที่มีอยู่ในการทำเช่นนั้นคือสิ่งสำคัญยิ่ง แต่เราควรตั้งคำถามถึงตัวเองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เราจะป้องกันให้ดีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดอาชญากรรมแบบนี้ได้อย่างไร

อันที่จริง มีหลายวิธีที่ปุถุชนอย่างเราทำได้ และไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้นมาดำเนินการแทนทุกคน วิธีที่ดีที่สุดนั้นต้องเกิดจากความร่วมมือไม่เฉพาะระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ แต่รวมถึงความร่วมมือของภาคประชาสังคมและสาธารณชน

ขั้นแรก ดังที่เนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวไว้ “การศึกษาคืออาวุธที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถใช้เปลี่ยนโลกได้” เยาวชนในภูมิภาคและประเทศของเราต้องได้รับการศึกษาที่ตรงประเด็นและได้รับการสนับสนุนให้ร่วมแก้ไขปัญหา ไม่ว่าด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาหรือความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การรณรงค์ผ่านสื่อ และการใช้สื่อเพื่อการสร้างความตระหนักทั้งในสถานศึกษาและให้แก่นักท่องเที่ยวให้สามารถแยกแยะการซื้อขายวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถือว่าผิดกฎหมายได้

ในระดับชาติ หน่วยงานรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการเฝ้าระวังอาชญากรรมต่อแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ประเทศกัมพูชาเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยความพยายามอย่างหนักที่จะปกป้องแหล่งมรดกโลกนครวัดจากการโจรกรรมและปล้นทำลาย รัฐบาลกัมพูชาได้เปิดรับความร่วมมือจากหลายประเทศ เพื่อให้สามารถจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพอย่างเป็นประจำให้กับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ครู นักเรียน นักข่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

นอกจากนั้นยังผลิตสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์จำนวนมากเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน จนกระทั่งกัมพูชามีความพร้อมลงมือปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2537 ประเทศกัมพูชา ด้วยความร่วมมือกับยูเนสโก ได้จัดตั้งหน่วยตำรวจพิเศษเพื่อการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ เฝ้าสังเกตกิจกรรมที่แหล่งซื้อขายของเก่าในประเทศ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันอาชญากรรมต่าง ๆ

รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยตำรวจ ศุลกากรและสรรพากรที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลากว่าสามทศวรรษแล้วที่หน่วยตำรวจพิเศษนี้ประสบความสำเร็จในการส่งโบราณวัตถุหลายพันชิ้นกลับคืนสู่โบราณสถานต่าง ๆ ในนครวัด

กระนั้น ภาครัฐนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม การเป็นหูเป็นตานั้นสำคัญอย่างยิ่งในการต่อกรกับโจรขโมยสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทุกคนเป็นเจ้าของ แม้ในท้องถิ่นที่ห่างไกลการสื่อสาร ตัวอย่างเช่นวัดเก่าแก่ในชนบทของประเทศไทย พระสงฆ์และชาวบ้านต่างต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถเป็นผู้นำการคุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นมรดกส่วนรวมภายในวัดและชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

ภาคเอกชนและประชาสังคมอาจช่วยพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันมือถือที่สามารถใช้ตามรอยเช่นเดียวกับในการทำงานป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าสงวน

ในระดับนานาชาติ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องแสดงออกถึงจุดยืนเพื่อแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าด้วยการตั้งข้อตกลงทวิภาคี หรือด้วยการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อช่วยประเทศป้องกันการลักลอบค้าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ อาทิ อนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ. 1970 ว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการลักลอบนำเข้าส่งออกและการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และอนุสัญญาอูนิดรัว ปี ค.ศ. 1995 ว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยหรือส่งออกอย่างผิดกฎหมาย

สาเหตุที่เกิดอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ขึ้นมานั้นตรงไปตรงมา กล่าวคือ อนุสัญญานั้นช่วยให้เป้าหมายและหลักการของกฎหมายของชาติต่าง ๆ นั้นสอดคล้องและเกื้อหนุนกัน ฉะนั้น ทำให้แต่ละประเทศมีพื้นที่ตรงกลางที่สามารถเจรจาต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเด็นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการปกครองของตนเอง

แต่ประชาชนชาวเอเชียอาคเนย์น้อยคนนักที่จะทราบว่า ในปัจจุบัน ภูมิภาคของเรานั้นเป็นภูมิภาคที่ลงนามเข้าร่วมรับผลประโยชน์จากอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้น้อยที่สุดในโลก โดยมีเพียงกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่ลงนามในทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าว และเวียดนามลงนามในอนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ 1970 ในขณะนี้ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำข้อกำหนดในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1970 มาปรับปรุงกฎหมาย เสริมนโยบายป้องกันปัญหา ฟื้นฟูโครงสร้างการทำงานที่โปร่งใส จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้คนในประเทศสามารถปกป้องสมบัติของชาติได้ดียิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ปัจจุบันมี 143 ประเทศลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญานี้แล้ว ซึ่งจะทำให้อนุสัญญานี้กลายเป็นกฎหมายโลกสากลในไม่ช้า

ในขณะเดียวกัน รัฐประเทศที่ยังไม่ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาเหล่านี้ หรือยังไม่ได้ดำเนินมาตรการที่ช่วยให้ตนเองป้องกันและขจัดอาชญากรรมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจพึงตระหนักว่า ในยุคปัจจุบันที่ สื่อโซเชียลนั้นเข้าถึงทุกซอกมุมได้อย่างง่ายดาย ความคิดเห็นของสาธารณชนนั้นมีความสำคัญมาก ในขณะที่การโจรกรรมมรดกทางวัฒนธรรมนั้นยังคงเป็นภัยอันตรายที่แก้ไม่จบ รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมรดกเหล่านั้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จำเป็นต้องก้าวออกมาจากขอบเขตของตนเองและทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อให้พ้นจากจุดวิกฤติของปัญหา

ดาอุด โบเลอดรัว ผู้เชี่ยวชาญบริหารแผนงาน แผนกโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์ ยูเนสโก กรุงปารีส
ผศ. ดร. นิสิต อินทมาโน ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯ
มนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม ยูเนสโก กรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image