ค้นเอกสารญี่ปุ่น เปิดคำให้การลูกเรือจีน ‘พระนารายณ์’ ถูกยาพิษสวรรคต

ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง รับบทเป็น "ขุนหลวงนารายณ์" ในละครพรหมลิขิต ภาพโดย Ch3Thailand

ค้นเอกสารญี่ปุ่น เปิดคำให้การลูกเรือจีน ‘พระนารายณ์’ ถูกยาพิษสวรรคต

เพียงออนแอร์ตอนแรก (18 ตุลาคม 2566) ละคร “พรหมลิขิต” ซึ่งเป็นภาคต่อของละครฮิต “บุพเพสันนิวาส” ก็เกิดเสียงตอบรับถล่มทลาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ชมสดกว่า 4 แสนคนพร้อมกัน รวมทั้งแฮชแท็ก #พรหมลิขิตEP1 และ #โป๊ปเบลล่า ขึ้นเทรนด์ X หรือทวิตเตอร์ ครองพื้นที่อย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกนั้นยังมีหลายซีน และมีตัวละครที่มีเค้าโครงจากฉากหน้าประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องราวของ พระเพทราชา และ หลวงสรศักดิ์ ร่วมมือกับชาวดัตช์ วางแผนปลงพระชนม์และยึดบัลลังก์ พระนารายณ์ หรือ ขุนหลวงนารายณ์ ทั้งยังมีฉากการลอบสังหาร พระปีย์ ราชบุตรบุญธรรมที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “มติชนออนไลน์” สอบถามไปยัง อาจารย์ธิษณา วีรเกียรติสุนทร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถึงประเด็นดังกล่าว

Advertisement

อาจารย์ธิษณากล่าวว่า การสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีด้วยกันหลายเวอร์ชั่น อาทิ ทรงพระประชวร แต่หลักฐานที่พบและถูกกล่าวถึงค่อนข้างมากคือ ทรงถูก “วางยาพิษ” โดยแพทย์ชาวดัตช์ที่สมคบคิดกับกลุ่มของสมเด็จพระเพทราชา

พระนารายณ์และพระปีย์ ภาพจาก Ch3Thailand

“เวอร์ชั่นที่ถูกเล่าลือมากที่สุดคือการโดนวางยาพิษโดยหมอชาวดัตช์ ต่อมาหมอคนนั้นก็ได้เป็นหมอหลวงของพระเพทราชา โดยถูกกล่าวถึงในเอกสารฝรั่งเศส และเอกสารพ่อค้าจีนที่เข้ามาค้าขายในยุคนั้น ขณะที่เอกสารของดัตช์เองก็พูดว่าเป็นคนสำคัญในกระบวนการนี้” อาจารย์ธิษณากล่าว

อาจารย์ธิษณาอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวยังปรากฏในเอกสารญี่ปุ่น คือ Tosen Fusentsu-gaki (โทเซ็น ฟูเซ็ทสุ-กากิ) รายงานคําให้การของลูกเรือสําเภาจีนที่ให้ไว้กับล่ามที่เมืองท่านางาซากิ ปัจจุบันยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย

Advertisement

“ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ อนุญาตเพียงชาวดัตช์และพ่อค้าจีนเข้าไปค้าขายเท่านั้น เวลาพ่อค้าจีนเข้าไปค้าขายที่เมืองนางาซากิ เขาไม่ได้เป็น One-Way Process แต่ใช้วิธีไปค้าที่นางาซากิ และขนสินค้ามาที่จีนทางตอนใต้ จากนั้นเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงอยุธยาด้วย และพ่อค้าเหล่านี้ก็ขนส่งสินค้าจากอยุธยา กลับไปที่ประเทศญี่ปุ่น และจีน โดยมีเจ้าหน้าที่พนังงานที่นางาซากิบันทึกข้อมูลจากพ่อค้าเหล่านี้ว่าเมืองที่เดินทางไปมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องนี้” อาจารย์ธิษณากล่าว

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์โยเนโอะ อิชิอิ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น เผยว่า เอกสารชุดดังกล่าวที่มาจากอยุธยา มีจำนวน 66 ฉบับในช่วง 49 ปี ระหว่าง พ.ศ.2222 (ค.ศ.1679) ถึง พ.ศ.2271 (ค.ศ.1728) ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง รวมทั้งจากสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงรัชสมัยพระเพทราชา พระเจ้าเสือ และพระเจ้าท้ายสระ (ข้อมูลจากเว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image