นัก ปวศ.โยงเก่ง! ทัวร์ FEED ชมศิลปะยุคเปลี่ยนผ่าน โยง 90s จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล

นัก ปวศ.โยงเก่ง! ทัวร์ FEED ชมศิลปะยุคเปลี่ยนผ่าน โยง 90s จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน FEED ผู้ผลิตคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือมติชน จัดงาน “FEED RETRO Music & Food Fest #90sไม่นานมานี้” ตั้งแต่วันที่ 24-26 พฤศจิกายน ที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม (Museum Siam) โดยภายในงานจะมีการรวบรวมนักร้องชื่อดังแห่งยุคมาร่วมแสดงดนตรีสด เต็มอิ่มกับอาหารจานเด็ดจากร้านดังในตำนาน โซน Night Book Fair #วันวานยังอ่านอยู่ และกิจกรรมพิเศษที่พลาดไม่ได้ อาทิ Talk ในสวน กับบุคคลในตำนานจากหลายวงการ ท่ามกลางลมหนาว ซึ่งจะพาย้อนความทรงจำกลับไปยังทศวรรษ 1990 หรือ 90s

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลา 16.00 น. สำนักพิมพ์มติชนจัดกิจกรรม Walking Trip จากวันวานสู่ศิลปกรรมใหม่ โดย นายธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกิจกรรม นำชมศิลปกรรมใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านศิลปกรรมแบบเก่าสู่แบบใหม่ กับวัดราชบพิธและวัดราชประดิษฐ์”

Advertisement

นายธนโชติ พร้อมผู้ร่วมกิจกรรมเดินเท้าจากมิวเซียมสยาม ผ่านวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ มุ่งหน้าไปทางพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก

นายธนโชติกล่าวว่า ตนเกิดใน ค.ศ.1990 พอดี เสน่ห์ของยุคดังกล่าวคือความสโลว์ไลฟ์ ทำให้สามารถรอคอยในสิ่งต่างๆ ได้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างช่วงอนาล็อกและดิจิทัล เช่นเดียวกับทัวร์ในวันนี้ซึ่งได้พามาชมศิลปกรรมในยุค “เปลี่ยนผ่าน” ของรัชสมัยต่างๆ โดยเฉพาะจากรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 5

Advertisement

นายธนโชติอธิบายว่า คำว่า “พระบรมมหาราชวัง” เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยรัชสมัยก่อนหน้าคือรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3 ใช้ว่า “พระราชวังหลวง” ส่วนความเป็นมาของพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทสืบขนบจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งมี “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยเป็นธรรมเนียมที่มาจากเขมร เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างอาคารโถงเป็นพระที่นั่งไม้ ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดให้ทำยอดปราสาท ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ โดยในอดีตเมื่อมีช้างเผือก ต้องมีพิธีสมโภชหน้าพระที่นั่งองค์นี้

จากนั้น นายธนโชติพาเดินเท้านำชมศิลปกรรมที่วัดราชประดิษฐ์ ซึ่งมีจารึกสมัยรัชกาลที่ 4 ระบุถึงแนวคิดในการสร้างวัด โดยมีพระอารามหลวงน้อยแห่งมากที่จะปรากฏจารึกเช่นนี้

“เจดีย์วัดราชประดิษฐ์เป็นเจดีย์ทรงลังกา ถือว่าเป็นพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งแนวคิดการทำจิตรกรรมจะต่างกับยุคก่อนหน้าที่มักเป็นชาดก หรือพุทธประวัติ แต่ในยุคนี้เลือกเป็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน” นายธนโชติกล่าว

สำหรับวัดราชบพิธ ซึ่งสถาปนาโดยรัชกาลที่ 5 นายธนโชติกล่าวถึงการประดับด้วย “กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์” รอบองค์พระเจดีย์ ซึ่งเรียกว่าเป็นวัดรัชกาลที่ 5 ตรงตามประเพณีอย่างเต็มรูปแบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image